หลังจากพระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้แล้ว พระองค์ได้ทรงเสวยวิมุตติสุข คือการเสวยความสุขทางใจที่บริสุทธิ์จากกิเลสเครื่องเศร้าหมองทุกอย่าง ทรงพิจารณาทบทวนหลักการที่พระองค์ได้ทรงตรัสรู้มาตลอดยามราตรีทั้ง 3 ในสมัยพระพุทธเจ้านี้จะแบ่งเวลาออกเป็น 3 ยาม คือปฐมยาม มัชฌิมยาม และปัจฉิมยาม ยามละ 4 ชั่วโมง จนแน่พระทัยว่าหลักการที่พระองค์ทรงค้นพบนั้นเป็นหลักการที่ถูกต้องจึงพอพระทัย จากนั้นพระองค์เสด็จไปเสวยวิมุตติสุข ณ สถานที่ต่างๆ ถึง 7 แห่งๆ ละ 7 วัน ในแต่ละแห่งก็มีชาวบ้านมากราบถวายสักการะและขอฟังธรรมล้างแล้ว เช่นขณะที่พระพุทธเจ้าเสวยวิมุตติสุขอยู่ต้นเกตหรือต้นราชายตนะ มีพ่อค้า 2 คน ชื่อตปุสสะ และภัลลิกะ เดินทางมาจากเมืองอื่นมาพบพระพุทธเจ้าเข้า จึงได้นำข้าวสัตตุผงและข้าวสัตตุก้อน ที่ตัวเองใช้เป็นเสบียงสำหรับเดินทางมาถวายและได้สนทนาธรรมกับพระองค์เกิดความเลื่อมใส จึงได้แสดงตนเป็นอุบาสก นับว่าเป็นอุบาสกคู่แรกในโลกที่ขอถึงพระพุทธและพระธรรมก่อนใครๆ รวมเวลาที่พระพุทธเจ้า เสวยวิมุตติสุขอยู่ 49 วัน โดยมิได้เสวยพระกระยาหารเลย
การตัดสินพระทัยที่จะแสดงธรรมแก่ชาวโลก
หลังจากพระองค์ได้เสร็จสิ้นการเสวยวิมุตติสุขแล้ว พระองค์มาพิจารณาหลักการของพระองค์อีกครั้งหนึ่งว่าธรรมที่พระองค์ตรัสรู้นี้จะควรเผยแพร่สั่งสอนคนต่อไปหรือไม่ ทรงพิจารณาเห็นว่าธรรมที่พระองค์ได้ตรัสรู้มานั้นเป็นคุณอันลึกซึ้ง บุคคลผู้ยินดีในกามยากที่จะบรรลุตามได้ เกิดความท้อพระทัยที่จะตรัสสอนขึ้น แต่อาศัยพระกรุณาของพระองค์ที่มีต่อหมู่สัตว์ จึงทรงพิจารณาอีกว่าจะมีผู้สามารถรู้ทั่วถึงธรรมนั้นบ้างหรือไม่ ก็ทรงทราบด้วยปัญญาว่าบุคคลในโลกนี้มีกิเลสน้อยก็มี มีกิเลสหนาก็มี เป็นผู้สามารถจะรู้ตามก็มี ไม่รู้ตามก็มี เป็นผู้สอนได้โดยง่ายก็มี สอนยากก็มี โดยพระองค์ได้เปรียบบุคคลเหมือนดอกบัว 3 ชนิด คือ ชนิดหนึ่งยังจมอยู่ในน้ำ ชนิดหนึ่งโผล่ขึ้นมาเหนือน้ำ ชนิดหนึ่งขึ้นมาพ้นน้ำแล้ว และเพิ่มมาอีกชนิดหนึ่งคือชนิดที่อยู่ใต้น้ำลึกลงไปอีก ดอกบัว 4 ชนิดนี้ แต่ละชนิดจะรอวันบานแตกต่างกัน พวกที่ขึ้นมาพ้นน้ำ รอรับแสงอาทิตย์แล้วจะบานในวันนี้ พวกเสมอน้ำ จะบานในวันพรุ่งนี้ พวกที่จมอยู่ในน้ำจะบานในวันต่อมา แต่พวกที่อยู่ลึกใต้น้ำในโคลนตมไม่สามรถจะบานได้เลย เป็นได้แค่อาหารของปลาและเต่าเท่านั้น ซึ่งเปรียบได้กับบุคคล 4 ประเภท คือ
1. ผู้มีสติปัญญาเฉียบแหลม เมื่อได้ฟังธรรมแล้วสามารถรู้ตามได้เลย เรียกว่า อุคคติตัญญู เปรียบกับบัวชนิดบานวันนี้
2. ผู้มีสติปัญญาปานกลาง เมื่อได้ฟังธรรมแล้ว ต้องใช้เวลาทบทวนบ้าง จึงจะรู้ตามได้ เรียกว่า วิปจิตัญญู เปรียบกับบัวชนิดที่จะบานในวันพรุ่งนี้
3. ผู้มีสติปัญญาพอใช้ เมื่อได้ฟังธรรมแล้วต้องใช้เวลาฝึกฝนนานหน่อย จึงจะรู้ตามได้ เรียกว่า เนยยะ เปรียบกับบัวชนิดที่จะบานในวันต่อ ๆ ไป
4. ผู้มีกิเลสหนาสติปัญญาทึบ ไม่มีความเพียรพยายามที่จะสามารถฟังธรรมให้เข้าใจได้เลย เรียกว่า ปทปรมะ เปรียบกับบัวชนิดอยู่ใต้น้ำหรือในโคลน (เป็นคนอาภัพ)
บุคคล 3 พวกแรก เป็นพวกที่พระพุทธเจ้าสามารถจะสั่งสอนให้รู้ตามได้ แต่พวกสุดท้าย พระพุทธเจ้าไม่สามารถสั่งสอนได้เลยต้องปล่อยให้เป็นไปตามกรรม เมื่อพิจารณาได้ดังนี้ พระองค์จึงเริ่มตั้งพุทธปณิธานจะดำรงพระชนม์อยู่ จนกว่าจะแสดงธรรมโปรดเวไนยสัตว์ประกาศคำสอนให้แพร่หลาย สำเร็จประโยชน์แก่มหาชน
การแสดงธรรมครั้งแรกและการบวชของพระสาวกองค์แรก
เมื่อพระพุทธเจ้าได้ตกลงพระทัยที่จะทรงสั่งสอนเวไนยสัตว์แล้ว ก็ได้ใคร่ครวญว่าใครควรจะได้รับการสอนเป็นคนแรกทรงระลึกถึงอาจารย์ทั้ง 2 คือ อาฬารดาบส และอุทกดาบส ซึ่งได้สั่งสอนถ่ายทอดความรู้ให้แก่พระองค์จนได้ ฌาน 8 ก่อนจะได้ตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง แต่ทรงทราบว่าท่านทั้ง 2 นั้นสิ้นชีพแล้ว จึงทรงนึกถึงนักบวชทั้ง 5 หรือ เบญจวัคคีย์ คือ โกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ และอัสสชิ ที่คอยรับใช้ปฏิบัติ (คืออุปัฎฐาก) เมื่อคราวบำเพ็ญทุกกรกิริยาอยู่ จึงได้ตัดสินพระทัยที่จะเสด็จไปแสดงธรรมโปรดเบญจวัคคีย์
พระองค์ได้เสด็จไปแสดงธรรมโปรดเบญจวัคคีย์ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี เมื่อถึงวันแรม 15 ค่ำ เดือน 8 ได้แสดงพระธรรมเทศนากัณฑ์แรกชื่อว่า พระธรรมจักรกัปปวัตตนสูตร โปรดเบญจ-วัคคีย์ ทำให้โกณฑัญญะ บรรลุธรรมก่อนเพื่อน แล้วได้ทูลขออุปสมบทเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าทรงบวชให้ด้วยพระองค์เอง ด้วยวิธีที่เรียกว่า เอหิภิกขุอุปสัมปทา จึงนับว่าได้เป็นสาวกองค์แรกในพระพุทธศาสนา จากนั้น 4นักบวชที่เหลือก็ได้ฟังธรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ จากพระพุทธเจ้า ก็ได้บรรลุธรรมตามและได้ขออุปสมบทเป็นภิกษุอีก จากนั้นมาเมื่อมาถึงวันแรม 5 ค่ำ เดือน 9 ภิกษุเบญจวัคคีย์ก็ได้ฟังพระธรรมอีกที่ชื่อว่า อนัตตลักขณสูตร ก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์พร้อมกันทั้ง 5 รูป สมัยนั้น มีพระอรหันต์เกิดขึ้นในโลก 6 องค์ ได้แก่ พระพุทธเจ้า และพระเบญจวัคคีย์ทั้ง 5