ปัญหาสารัตถะแห่งพระสุตตันตปิฎก

      ปิดความเห็น บน ปัญหาสารัตถะแห่งพระสุตตันตปิฎก

ตอบปัญหาสารัตถะแห่งพระสุตตันตปิฎก

ชั้นศาสนศาสตร์ปีที่ ๒

            ๑.พรหมชาลสูตรว่าด้วยเรื่องอะไร ?  พระสูตรนี้เกิดขึ้นที่ไหน ? ปรารภใคร ?  กล่าวได้ว่า  อาจมีความชมเชยพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยศีล ๕ นั้น  ใจความของศีล ๕ นั้น  มีอย่างไรบ้าง ?

            ตอบ สูตรที่เปรียบเหมือนข่ายอันประเสริฐที่ครอบคลุมอย่างกว้างขว้าง  คือกล่าวถึงลัทธิศาสนาต่าง ๆ ที่มีในครั้งนั้น  ที่เรียกว่าทิฏฐิ ๖๒ เป็นการชี้ให้เห็นว่า  พระพุทธศาสนามีหลักธรรมแผกจาก ๖๒ ลัทธินั้นอย่างละเอียด,   พระสูตรนี้พระศาสดาแสดงระหว่างกรุงราชคฤห์กับเมืองนาลันทา,  ทรงปรารภความที่ปริพพาชกชื่อสุปปิยะกล่าวติเตียนพระพุทธ  พระธรรม  พระสงฆ์  แต่ศิษย์ชื่อพรหมทัตมาณพกลับสรรเสริญพระพุทธ พระธรรม  พระสงฆ์

            เมื่อข้าพเจ้าได้ศึกษาพรหมชาลสูตรแล้ว  ได้ความว่าคนอาจกล่าวชมเชยพระพุทธองค์ด้วยศีล  ๓  ชั้น (ไม่ใช่ศีล ๕ อย่างในคำถาม)  ศีล ๓ ชั้น  คือศีลอย่างเล็กน้อย  ศีลอย่างกลาง  ศีลอย่างใหญ่

            ศีลอย่างเล็กน้อย (จูฬศีล)

            ๑. เว้นจากการฆ่าสัตว์, ลักทรัพย์, ประพฤติล่วงพรหมจรรย์.

            ๒. เว้นจากการพูดปด, พูดส่อเสียด (ยุให้แตกกัน), พูดคำหยาบ, พูดเพ้อเจ้อ.

            ๓. เว้นจากทำลายพืชและต้นไม้.

            ๔. ฉันมื้อเดียว เว้นจากการฉันอาหารในเวลากลางคืน, เว้นการฉันในเวลาวิกาล, เว้นจากฟ้อนรำขับร้อง  ประโคม  และดูการเล่น, เว้นจากทัดทรง  ประดับประดาร่างกายด้วยระเบียบดอกไม้ของหอม  เครื่องทาเครื่องย้อมผัดผิวต่างๆ , เว้นจากที่นั่งที่นอนอันสูงใหญ่มีภายในใส่นุ่นหรือสำลี, เว้นจากการรับทองและเงิน.

            ๕. เว้นจากการรับข้าวเปลือกดิบ, เนื้อดิบ, เว้นจากการรับหญิง  หรือหญิงรุ่นสาว, เว้นจากการรับทาสี ทาสา, เว้นจากการรับแพะ, แกะ, ไก่, สุกร, ช้าง, โค, ม้า, ลา, เว้นจากการรับนา, สวน.

            ๖. เว้นจากการชักสื่อ, การค้าขาย, การโกงด้วยตาชั่ง, ด้วยเงินเหรียญ (สำริด)  และด้วยการนับ (ชั่ง, ตวง, วัด). เว้นจากการใช้วิธีโกงด้วยให้สินบน  หลอกหลวงและปลอมแปลง, เว้นจากการตัด (มือ, เท้า) การฆ่า  การมัด  การซุ่มชิงทรัพย์ (ในทาง) การปล้น  การจู่โจมทำร้าย.

            ศีลอย่างกลาง (มัชฌิมศีล)

            ๑. เว้นจากการทำลายพืช                         ๒. เว้นจากการสะสมอาหารและผ้า  เป็นต้น

            ๓. เว้นจากดูการเล่นหลากชนิด  เช่น ฟ้อนรำ เป็นต้น

            ๔. เว้นจากเล่นการพนันต่างชนิด               ๕. เว้นจากที่นั่งที่นอนอันสูงใหญ่

            ๖. เว้นจากประดับประดาตกแต่งร่างกาย

            ๗. เว้นจากติรัจฉานกถา (พูดเรื่องไร้ประโยชน์หรือที่ขัดกับสมณเพศ)

            ๘. เว้นจากการพูดแข่งดีหรือข่มขู่กัน           ๙. เว้นจากชักสื่อ

            ๑๐. เว้นจากการพูดปด, การพูดประจบ, การพูดอ้อมค้อม (เพื่อหวังลาภ), การพูดกด, การพูดเอาลาภแลกลาภ (หวังของมากด้วยของน้อย)

            (ในแต่ละข้อนี้มีการแจกรายละเอียดออกไปมาก)

            ศีลอย่างใหญ่ (มหาศีล)

            ๑. เว้นจากดำรงชีวิตด้วยมิจฉาชีพ  ด้วยติรัจฉานวิชา  เช่น  ทายนิมิต, ทายฝัน, ทายหนูกัดผ้า เป็นต้น.

            ๒. เว้นจากดำรงชีวิตด้วยมิจฉาชีพ  ด้วยติรัจฉานวิชา  เช่น  ดูลักษณะแก้วมณี, ลักษณะไม้ถือ, ลักษณะผ้า, ลักษณะศรัตรา  เป็นต้น.

            ๓. เว้นจากดำรงชีวิตด้วยมิจฉาชีพ  ด้วยติรัจฉานวิชา  เช่น  ทายทักเกี่ยวกับพระราชา ดาวพิจารณาดาวฤกษ์.

            ๔. เว้นจากดำรงชีวิตด้วยมิจฉาชีพ ด้วยติรัจฉานวิชา เช่น  ทายจันทรุปราคา สุริยุปราคา เป้นต้น

            ๕. เว้นจากดำรงชีวิตด้วยมิจฉาชีพ  ด้วยติรัจฉานวิชา  เช่น  ทายฝนตกซุก  ฝนแล้ง  เป็นต้น.

            ๖. เว้นจากดำรงชีวิตด้วยมิจฉาชีพ  ด้วยติรัจฉานวิชา  เช่น  การบน, การแก้บน, การประกอบยาเป็นต้น.

            ๒.ในสามัญญสูตร  ท่านกล่าวถึงผลดีของความเป็นสมณะ  ที่เห็นได้ในปัจจุบันนี้ไว้อย่างไรบ้าง?

            ตอบ ทำให้พ้นจากฐานะเดิม คือพ้นจากความเป็นทาส  เป็นกรรมกร  พ้นจากความเป็นชาวนา ได้รับการปฏิบัติด้วยดี  แม้จากพระมหากษัตริย์

            เมื่ออบรมจิตใจจนเป็นสมาธิ  ก็เป็นเหตุให้ได้ฌานทั้ง ๔

            ทำให้ได้วิชชา ๘ ได้วิปัสสนาญาณ  จนในที่สุดได้อาสวักขยญาณ

            ๓.ในอัพพัฏฐสูตร กษัตริย์กับพราหมณ์ใครเป็นผู้ประเสริฐกว่ากันในหมู่ชนผู้ถือโคตรใครเป็นผู้ประเสริฐสุด ?  แต่ในหมู่แห่งเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายใครเป็นผู้ประเสริฐสุด ?

            ตอบ ในอัพพัฏฐสูตรกล่าวว่าในหมู่ชนที่ถือโคตร กษัตริย์ประเสริฐสุด   แต่ในหมู่แห่งเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย  ผู้ที่สมบูรณ์ด้วยวิชชาและจรณะประเสริฐสุด.

            ๔. ในมหาสีหนาทสูตร  พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกับนักบวชชื่อกัสสปะถึงความเป็นสมณพราหมณ์ผู้ประเสริฐอย่างไร ?

            ตอบ นักบวชชื่อกัสสปะกราบทูลถึงข้อวัตรปฏิบัติต่างๆ ของสมณพราหมณ์  ที่จัดเป็นความประเสริฐ  ความเป็นผู้ประเสริฐ  เช่น  การเปลือยกาย  ยืนถ่ายอุจจาระปัสสาวะ  และกินอาหารเลียมือที่เลอะอาหาร  (แทนการล้างมือ) เป็นต้น.    พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า  ผู้ประเสริฐเช่นนั้น  ถ้าไม่เจริญ ไม่ทำให้แจ้งซึ่งความสมบูรณ์ด้วยศีล  ความสมบูรณ์ด้วยสมาธิ  และความสมบูรณ์ด้วยปัญญา ก็ชื่อว่าไกลจากความเป็นสมณะ  ไกลจากความเป็นผู้ประเสริฐ.  ต่อเมื่อเจริญเมตตาจิต  อันไม่มีเวร  ไม่มีความพยาบาท  และทำให้แจ้งเจโตวิมุติ (ความหลุดพ้นเพราะสมาธิ) และปัญญาวิมุติ (ความหลุดพ้นเพราะปัญญา) อันปราศจากอาสวะได้ในปัจจุบัน  นับเป็นสมณพราหมณ์ได้. 

            ๕. ในสุภสูตร  สุภมาณพได้ถามพระอานนท์ว่า  พระสมณโคดมสรรเสริญธรรมอะไร ?  และพระองค์ชักชวนให้ประชุมชนตั้งอยู่ในธรรมอะไร?

            ตอบ พระอานนท์ตอบว่า  พระผู้มีพระภาคทรงสรรเสริญกองศีล  สมาธิ  และปัญญาอันเป็นอริยะ  และทรงชักชวนประชุมชนให้ตั้งอยู่ในกองศีล  สมาธิ  และปัญญาอันเป็นอริยะนี้.

            ๖. พระอานนท์ได้อธิบายถึงกองศีล  สมาธิ  และกองแห่งปัญญาได้อย่างไรบ้าง ?

            ตอบ พระอานนท์อธิบายกองศีล  โดยใจความว่า  บุคคลมีศรัทธา  ออกบวชแล้ว  เว้นจากทางแห่งอกุศล ๑๐ ประการ  และศีล ๓ ประเภท  คือจูฬศีล  มัชฌิมศีล  และมหาศีล  ส่วนกองสมาธิ  อธิบายถึงการสำรวม  ตา  หู  จมูก  ลิ้น  กาย  ใจ  (สำรวมอินทรีย์) ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ  มีความสันโดษด้วยปัจจัย  คือจีวร  บิณฑบาต  ชำระจิตจากนิวรณ์ (ธรรมอันกั้นจิตมิให้บรรลุคุณความดี) ๕ ประการ   ได้ฌานที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓  ที่ ๔. ส่วนกองปัญญาอธิบายถึงวิชชา ๘ มีวิปัสสนาญาณ (ญาณเห็นแจ้งสภาวธรรมตามเป็นจริง) เป็นต้น จนถึงอาสวักขยญาณ (ญาณอันทำอาสวะคือกิเลสที่ดองสันดานให้สิ้นไป) เช่นเดียวกับที่ปรากฏในสามัญญผลสูตร.

            ๗. ในจูฬสาโรปมสูตร ท่านเปรียบว่าเทียบถึงการประพฤติพรหมจรรย์เหมือนต้นไม้  ธรรมดาต้นไม้ย่อมประกอบด้วย  กิ่ง  ใบ  สะเก็ด  เปลือก  กะพี้และแก่น  แต่การประพฤติพรหมจรรย์มีอะไรเป็นกิ่ง  ใบ  สะเก็ด  กะพี้และแก่น   และแก่นสารของพรหมจรรย์นั้นท่านหมายถึงอะไร ?

            ตอบ ท่าเปรียบไว้ว่า

            ๑. ลาภสักการะชื่อเสียง   เปรียบเหมือนกิ่งและใบ

            ๒. ความสมบูรณ์ด้วยศีล  เปรียบเหมือนสะเก็ด

            ๓. ความสมบูรณ์ด้วยสมาธิ   เปรียบเหมือนเปลือก

            ๔. ญาณทัสสนะ  (ความเห็นด้วยปัญญา) เปรียบเหมือนกะพี้

            ๕. อกุปปา  เจโตวิมุติ  (ความหลุดพ้นแห่งใจที่ไม่กลับกำเริบ)เปรียบเหมือนแก่น

            ในที่สุดแห่งพระสูตรนี้   พระผู้มีพระภาคตรัสว่า  พรหมจรรย์นี้  มิใช่มีลาภสักการะชื่อเสียงเป็นอานิสงส์  มิใช่มีความสมบูรณ์ด้วยศีลเป็นอานิสงส์   มิใช่มีความสมบูรณ์ด้วยสมาธิเป็นอานิสงส์   มิใช่มีญาณทัสสนะเป็นอานิสงส์  แต่ความหลุดพ้นแห่งใจอันไม่กลับกำเริบอันใด   พรหมจรรย์นี้  มีความหลุดพ้นแห่งใจอันไม่กลับกำเริบนั้นแหล่ะเป็นที่ต้องการ  นั้นเป็นแก่นสาร  นั้นเป็นที่สุดโดยรอบ.

ดาวน์โหลดสื่อการสอน

เห็นว่าบทความนี้มีประโยชน์ โปรดแชร์....