ตอบปัญหาสารัตถะแห่งพระสุตตันตปิฎก ๒

      ปิดความเห็น บน ตอบปัญหาสารัตถะแห่งพระสุตตันตปิฎก ๒

ตอบปัญหาสารัตถะแห่งพระสุตตันตปิฎก ๒

๑.  คัมภีร์สังยุตตนิกายมีกี่เล่ม ?   มีชื่ออะไรบ้าง?

               ตอบ   มี ๕  เล่ม  คือ  ๑.  สคาถวรรค   ๒.  นิทานวรรค   ๓.   ขันธวารวรรค  ๔.   สฬายตนวรรค  ๕.มหาวารวรรค

๒.  พระสูตรในคัมภีร์สังยุตตนิกายมีพระสูตรประมาณเท่าไหร่ ?  ที่นำมาศึกษามีกี่สูตร ? มีกี่สังยุต?

               ตอบ  มี  ๗,๗๖๒  สูตร,   ที่นำมาศึกษา  ๗๓๐  สูตร,   มี  ๒๑  สังยุต.

๓.  คัมภีร์สังยุตตนิกายมีวิธีจัดแบ่งระเบียบในเล่มไว้อย่างไร ?

               ตอบ   ท่านจัดรวบรวมเรื่องเกี่ยวกับบุคคล   สถานที่  ธรรมะ  คนเดียวกัน  ประเภทเดียวกัน   ไว้ในหมวดเดียวกัน  เพื่อสะดวกในการศึกษาค้นคว้า  เกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ  โดยแบ่งออกเป็น ๕  ตอนใหญ่ๆ.

๔.  โอฆะคืออะไร ?   มีเท่าไร ?  อะไรบ้าง ?

               ตอบ   โอฆะ  แปลว่า  ห้วงน้ำ  แต่ในที่นี้จะหมายเอากระแสของกิเลส  ที่มีลักษณะท่วมทับจิตใจของบุคคล  ให้ขาดความเป็นอิสระแก่ตน  เหมือนคนที่ถูกกระแสน้ำพัดพาไป โอฆะ มี ๔ ประการ  คือ

                                ๑.  กาโมฆะ       ห้วงน้ำคือกาม

                                ๒.  ภโวฆะ         ห้วงน้ำคือภพ

                                ๓.  ทิฏโฐฆะ       ห้วงน้ำคือทิฏฐิ

                                ๔.  อวิชโชโฆะ    ห้วงน้ำคืออวิชชา

๕.  พุทธกิจคือกิจอะไร ?   มีกี่อย่าง ?  อะไรบ้าง ?

               ตอบ   พุทธกิจ    คือกิจที่พระพุทธองค์ทรงประพฤติปฏิบัติเป็นประจำวัน   เป็นไปตามกาลนั้นๆ  บุคคลนั้นๆ  มี ๕   อย่าง   คือ

                                ๑.  ปุพพัณเห  ปิณฑะปาตัญเจ     เวลาเช้าเสด็จออกปิณฑบาต

                                ๒.  สายัณเห  ธัมมะเทสนัง            เวลาเย็นทรงแสดงธรรม

                                ๓.  ปโทเส  ภิกขุ  โอวาทัง              เวลาค่ำทรงประทานพระโอวาทแก่พระภิกษุทั้งหลาย

                                ๔.  อัฑฒะรัตเต  เทวะปัญหัง             เวลาเที่ยงคืนทรงพยากรณ์ปัญหาแก่เทวดาทั้งหลาย

                                ๕.  ปัจจุเสวะ  คะเต  กาเล  ภัพพาภัพเพ  วิโลกะนัง   เวลาใกล้รุ่งทรงทอดพระเนตรดูสัตว์ที่    ควรตรัสรู้     และไม่ควรตรัสรู้

๖.  ทำไมเทวดาจึงยืนเฝ้าพระพุทธเจ้า ?    อยากทราบเหตุผล ?

               ตอบ   เทวดาจะต้องยืนเฝ้าเสมอ  ท่านแก้ว่า  โดยปกติ  เทวดาไม่อยากเข้าใกล้มนุษย์  เพราะมนุษย์มีกลิ่นกายเหม็น  ปรากฏแก่เทวดาได้แม้ในที่ไกล  แต่ที่มาเฝ้าพระพุทธเจ้านั้นมาด้วยกลิ่น  คือศีลของพระพุทธองค์  เพราะว่า  กลิ่นศีลยอดเยี่ยมกว่ากลิ่นทั้งหลาย

๗.  ประเภทแห่งการถามปัญหามีอะไรบ้าง ?

               ตอบ   ท่านกล่าวไว้ในปปัญจสูทนี   แบ่งออกเป็น ๕ ประเภท

                ๑.  อทิฏฐโชตนาปุจฉา   ถามเพื่อต้องการทราบข้อความที่ตนยังไม่รู้    ไม่เห็น

                ๒.  ทิฏฐสังสันทนาปุจฉา  ถามเพื่อเที่ยบเคียงสิ่งที่ตนได้รู้มาแล้วว่า  ตรงกันหรือไม่

                ๓.  วิมติเฉทนาปุจฉา    ถามเพื่อแก้ความสงสัย  ข้องใจของตน

                ๔.  อนุมติปุจฉา   ถามเพื่ออนุมัติจากผู้ถูกถาม

                ๕.  กเถตุกามยตาปุจฉา  ถามเพื่อสอบดูว่าเข้าใจหรือไม่    หากไม่เข้าใจจะบอกให้

๘.  ทำไมพระป่าจึงมีผิวพรรณผ่องใส ?

               ตอบ   พระพุทธองค์ตรัสว่า  “เธอทั้งหลาย  ไม่ตามเศร้าโศกถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้ว   ไม่เพ้อฝันถึงสิ่งที่ยังมาไม่ถึง  ยังชีพให้เป็นไปในสิ่งที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า   เพราะเหตุนั้น   ผิวพรรณจึงผ่องใส”

                “เพราะมัวเพ้อฝันถึงสิ่งที่ยังมาไม่ถึง   เพราะมัวตามเศร้าโศกถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้ว  นั่นแหล่ะคนโง่ๆ   จึงได้ซูบซีด  เหมือนไม้อ้อสด  อันถูกตัดเหี่ยวแห้งไปฉะนั้น”

๙.  เทวดากล่าวอะไรว่าประเสร็ฐสุดในโลก ?  เพราะเหตุไร?

ตอบ   ในขัตติยสูตรเทวดากล่าวว่า   “กษัตริย์ประเสริฐสุดในหมู่สัตว์ ๒ เท้า  โคถึกประเสริฐสุดในหมู่สัตว์ ๔ เท้า  ภรรยาวัยรุ่นประเสริฐในหมู่ภรรยา   บุตรหัวปีประเสร็ฐสุดในหมู่บุตร”    ที่กล่าวอย่างนี้    เพราะกล่าวตามความคิดเห็นของตน   และมุ่งความสุขจากกามมรมณ์เป็นหลัก  ทั้งยึดถือประเพณีของคนในสมัยนั้น  ที่ชอบแต่งงานเมื่ออายุยังน้อย     แม้คนแก่ๆยังชอบมีภรรยาสาว

๑๐. พระพุทธเจ้าตรัสอะไรว่าประเสริฐสุดในโลก ?   เพราะเหตุไร ?

               ตอบ   พระพุทธเจ้าตรัสว่า   “พระสัมพุทธะประเสริฐสุดในหมู่สัตว์ ๒ เท้า  อาชาไนยประเสริฐสุดในหมู่สัตว์ ๔ เท้า   ภรรยาที่ปรนนิบัติสามีดีประเสริฐสุดในหมู่ภรรยา  บุตรที่เชื่อฟังประเสริฐสุดในหมู่บุตร”    ที่ตรัสอย่างนี้   เพราะทรงแสดงตามความเป็นจริง    ที่อาจพิสูจน์ได้ทุกกาล  โดยเน้นไปที่คุณค่าทางจิตใตและคุณธรรม

๑๑.  สตุลลปกายิกาคือเทวดาพวกไหน ?   เพราะเหตุไรจึงได้ชืออย่างนั้น ?

               ตอบ   คือเทวดาที่มาเข้าเฝ้าทูลถามปัญหากับพระพุทธเจ้า    ที่ไชื่ออย่างนั้นเพราะว่าร้องสมาทานสตํธรรมแล้วไปเกิดในสวรรค์

๑๒.  ความไพบูลย์แห่งผลทานจะเกิดขึ้นได้เพราะเหตุไร ?

               ตอบ   เพราะเจตนาสัมปทา  คือ  ความสมบูรณ์แห่งเจตนาในกาลทั้ง ๓ คือ

                ๑.  ปุพพเจตนา      เจตนาก่อนให้ทาน

                ๒.  มุญจนเจตนา      ขณะให้ก็ยังคงมีใจเลื่อมใสอยู่

                ๓.  อปราปรเจตนา   หลังจากให้ไปแล้ว   เมื่อคิดถึงก็มีความสุขโสมนัส

                วัตถุสัมปทา    คือสิ่งที่ตนนำมาให้ทาน   ต้องเป็นสิ่งที่ตนได้มาโดยชอบธรรม

                ทักขิไนยสัมปทา   คือ  ท่านผู้รับทานจะต้องเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยศีลาทิคุณ   อันควรแก่การรับทักขิณา

๑๓.  การให้ทานมีอานิสงส์อย่างไรบ้าง ?

               ตอบ   ในทานานิสังสสูตร    อังคุตตริกายท่านแสดงอานิสงสื  ๕  ประการ  คือ

                ๑.  ผู้ให้ทานย่อมเป็นที่รักที่ชอบใจของคนหมู่มาก

                ๒.  สัตบุรุษผู้สงบ   ย่อมคบหาผู้ให้ทาน

                ๓.  กิตติคุณอันดีงามของผู้ให้ทานย่อมฟุ้งขจรไปในทิศทั้งหลาย

                ๔.  ผู้ให้ทานย่อมไม่เหินห่างจากธรรมของคฤหัสถ์

                ๕.  ผู้ให้ทานเมื่อตายแล้วย่อมบังเกิดในสุคติ

๑๔.  ในสมยสุตร  มีเทวดามาชุมนุมกันเท่าไร ?   เทวดาพวกไหนบ้างที่ไม่ได้มา ?

               ตอบ   เทวดามาประชุมกัน  ๑๐  โลกธาตุ    พวกที่ไม่ได้มาคืออสัญญีสัตตา   และอรูปพรหม.

๑๕.  เทวดาสตุลลปกายิกาได้กล่าวสรรเสริญพระพุทธเจ้าในสกลิกสูตรอย่างไร ?

               ตอบ   เทวดาสตุลลปกายิกา  ๗๐๐   มีหัวหน้าแต่ละกลุ่มได้สรรเสริญพระพุทธองค์อย่างนี้ว่า  “พระพุทธองค์ทรงเป็นนาค   เป็นสีหะ  เป็นอาชาไนย  ผู้องอาจ   ผู้ใฝ่ธุระ   ผู้ฝึกแล้ว  พระองค์จึงทรงอดกลั้นต่อเวทนาเหล่านั้น  ด้วยพระสติสัมปสัญญะ  เพราะทรงเป็นนาค  เป็นต้น”    

                แต่องค์ที่ ๗  กล่าวแผกออกไป   ความว่า  “ที่เป็นเช่นนี้   เพราะพระพุทธเจ้าทรงเจริญสมาธิดีแล้ว   จิตของพระองค์ได้พ้นดีแล้ว  จิตของพระองค์ไม่ได้น้อมไปตามราคะ  จิตที่ไปตามอำนาจโทสะก็ไม่กลับมา  อนึ่ง  จิตของพระสมณโคดม  หาต้องตั้งใจข่ม  ต้องอาศัยห้ามกันไม่  บุคคลพึงสำคัญพระสมณโคดมผู้เป็นบุรุษนาค  เป็นบุรุษสีหะ  เป้นบุรุษอาชาไนย  เป้นบุรุษองอาจ  เป็นผู้ใฝ่ธุระ  เป็นผู้ฝึกแล้วเห็นปานนี้ว่า   “เป็นผู้อันตนพึงล่วงเกิน”  บุคคลนั้นจะเป็นอะไรนอกจากไม่มีตา”

                เทวดาองค์ที่ ๗  เมื่อกล่าวเพิ่มเติมและรับรองคำกล่าวของอีก ๖ องค์แล้ว  จึงกล่าวคาถามีใจความโดยสรุปว่า

                “พราหมณ์ทั้งหลายมีเวท ๕ มีตบะ  ประพฤติอยู่ตั้ง ๑๐๐ ปี  แต่จิตของเขาไม่พ้นแล้วโดยชอบ  มีตัณหาครอบงำ  เกี่ยวข้องด้วยศีลและพรต  ประพฤติตบะอันเศร้าหมองอยู่ตั้ง ๑๐๐ ปี  แต่จิตของพราหมณ์นั้นไม่พ้นแล้วโดยชอบ  พราหมณ์เหล่านั้นมีจิตเลว  ย่อมไม่บรรลุถึงฝั่ง

                ความฝึกไม่มีแก่คนใคร่มานะ  ความรู้ไม่มีแก่ผู้มีจิตไม่ตั้งมั่น   บุคคลผู้เดียวอยู่ป่าด้วยความประมาท  ไม่อาจข้ามฝั่งแห่งแดนมัจจุได้    บุคคลผู้ละมานะ  มีจิตตั้งมั้น   มีจิตดี  พ้นในธรรมทั้งปวงแล้ว   ผู้เดียวอยู่ในป่า  ไม่ประมาท  บุคคลนั้น  ข้ามพ้นฝั่งแห่งแดนมัจจุได้”

                ๑๖.บุคคลผู้ตั้งอยู่ในธรรมอะไรอะไรแล้วแล้วไม่ต้องต่อปรโลก ?   เพราะเหตุไร ?

                ตอบ   พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ในภีตสูตรว่า  “บุคคลตั้งวาจาและใจไว้โดยชอบ   มิได้ทำบาปด้วยกาย   อยู่ครอบครองเรือนที่มีข้าวและน้ำมาก   เป็นผู้มีศรัทธา  มีความอ่อนโยน   มีปกติเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่   ทราบถ้อยคำ   ผู้ที่ตั้งอยู่ในธรรม ๔ อย่างเหล่านี้   ชื่อว่าผู้ดำรงธรรม   ไม่ต้องกลัวปรโลก”

                เพราะเหตุไร    เพราะว่าประกอบด้วยกายสุจริต   วจีสุจริต   มโนสุจริต

                ๑๗.ในโลกนี้มีช่องกี่ช่องที่จิตตั้งอยู่ไม่ได้ ?   ช่องนั้นคืออะไรบ้าง ?

                ตอบ   มี ๖ ช่อง   ได้แก่  ความเกียจคร้าน   ความประมาท  ความไม่หมั่น  ความไม่สำรวม   ความมักหลับ   ความอ้างเลศไม่ทำงาน  ช่องทั้ง ๖ นี้ควรเว้นเสีย

                ๑๘.กกุธสูตรว่าด้วยเรื่องอะไร ?  จงย่อมาดู ?

                ตอบ   กกุธเทพบุตร    ได้กราบทูลถามพระพุทธองค์ที่อัญชนวัน  เมืองสาเกตุเกี่ยวกับเรื่องความยินดี   ความเศร้าโศก   ความเพลิดเพลินเป็นต้น   พระศาสดาตรัสว่า  “ผู้มีทุกข์นั่นแหล่ะจึงมีความเพลิดเพลิน  ผู้มีความเพลิดเพลินนั่นแหล่ะจึงมีทุกข์   ภิกษุย่อมเป็นผู้ไม่มีความเพลิดเพลิน   ไม่มีทุกข์ “

                ในที่สุดกกุธเทพบุตรจึงทูลสรรเสริญว่า   “นานหนอ  ข้าพระองค์จึงพบเห็นภิกษุ   ผู้เป็นพราหมณ์   ดับรอบแล้ว   ไม่มีความเพลิดเพลิน   ไม่มีทุกข์   ข้ามพ้นเครื่องข้องในโลกแล้ว”               

๑๙.  ฆฏิการเทพบุตร (พรหม) มาทูลถามพระพุทธเจ้าเกี่ยวกับเรื่องอะไร ?

                ตอบ  เกี่ยวกับเรื่องที่ภิกษุ ๗ รูป มรณภาพแล้วไปบังเกิดในพรหมโลกชั้นสุทธาวาสถ

๒๐.  พระอนาคามีละสังโยชน์ได้เท่าไร ? อะไรบ้าง ?

                ตอบ  พระอนาคามีละสังโยชน์ได้  ๕  อย่างคือ

                                ๑. สักกายทิฏฐิ ความเห็นเป็นเหตุถือตัวถือตน  โดยเห็นว่าขันธ์ ๕ เป็นตัวตน  หรือตัวตนมีอยู่ในขันธ์ ๕ หรือขันธ์มีในตน เป็นต้น

                                ๒. วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย คือสงสัยในพระพุทธเจ้า  พระธรรม  พระสงฆ์  ในไตรสิกขา  ในอดีต ในอนาคต ทั้งอดีตทั้งอนาคตและปฏิจจสมุปบาท

                                ๓. สีลัพพตปรามาส การถือมั่นด้วยศีล วัตร และข้อปฏิบัติ อันขาดเหตุผลต่าง ๆ

                                ๔. กามราคะ  ความกำหนัดในวัตถุกาม คือ รูป เสียง กล่ิ่น รส โผฏฐัพพะ  อย่างที่เรียกในนิวรณ์ว่า กามฉันท์

                              ๕. ปฏิฆะ ความไม่พอใจหงุดหงิดใจ  หรือการกระทบกระทั่ง  เป็นความโกรธอย่างอ่อน

๒๑. พระอนาคามีตายแล้วไปเกิดในที่ไหน ? มีอะไรบ้าง ?

                ตอบ  พระอนาคามีตายแล้วไปเกิดในพรหมโลกในชั้นต่าง ๆ ดังนี้คือ

                                ๑. อวิหา มีสัทธินทรีย์แก่กล้า เกิดแล้วไม่เคลื่อนไหวไปไหน มีความสุขในฌานไม่เปลี่ยนไปที่ไหน แม้เวลาเพียงเล็กน้อย

                                ๒. อตัปปา มีวิริยินทรีย์แก่กล้าเป็นผู้ไม่เดือดร้อนไม่ว่าเพราะปัจจัยอะไร

                                ๓. สุทัสสา  มีสมาธินทรีย์แก่กล้า มีรูปกายสวยงามยิ่ง  น่าดู ทำให้ผู้อื่นเห็นแล้วสบายใจ  สบายตา

                                ๔. สุทัสสี  มีสตินทรีย์แก่กล้ามีความสามารถพิเศษ  อาจเห็นสิ่งต่าง ๆ ได้ง่าย เพราะตนเองมีทัศนะอันบริสุทธิ์  ไม่มัวหมอง ปรารถนาจะดูสิ่งใดก็ได้ไม่ติดขัด

                                ๕. อกนิฏฐา  มีปัญญินทรีย์แก่กล้า ไม่เป็นลูกน้องใคร แต่ละองค์ล้วนยิ่งใหญ่ ถึงความสมบูรณ์เสมอกัน ไม่ว่าจะอุบัติก่อนหลัง

๒๒.  พระอนาคามีจะนิพพานเมื่อไร ?โดยวิธีอย่างไร ?

                ตอบ  พระอนาคามีจะนิพพานเมื่อถึงคราวแห่งอายุ การใช้ความเพียร และถึงกระแสโดยมีวิธีอย่างนี้คือ

                                ๑. อนฺตราปรินิพฺพายี  ผู้ปรินิพพานในกึ่งแรกแห่งอายุกาลในภูมินั้น

                                ๒. อุปหจฺจปรินิพฺพายี  ผู้ถึงซึ่งปรินิพพานในกึ่งหลังแห่งอายุกาลแห่งภูมินั้น

                                ๓. อสงฺขารปรินิพฺพายี  ผู้ปรินิพพาน โดยไม่ต้องใช้ความผิดเพียรมาก

                                ๔. สสงฺขารปรินิพฺพายี  ผู้พากเพียรอย่างแรงกล้า จึงจะปรินิพพาน

                                ๕. อุทฺธํโสโต อกนิฏฺฐคามี  ผู้มีกระแสไปถึงอกนิฏฐภูมิจึงจะปรินิพพาน

๒๓.  ชันตุเทพบุตรติเตียนภิกษุผู้อยู่ป่าไว้อย่างไรบ้าง ?

                ตอบ  ชันตุเทพบุตรติเตียนภิกษุผู้อยู่ป่าว่า  ทำตนให้เป็นคนเลี้ยงยาก เหมือนชาวบ้านที่โกงกิน  กิน ๆแล้วก็นอน เที่ยวประจบไปในเรื่อนของคนอื่น บางพวกถูกเขาทอดทิ้ง หมดที่พึ่งเป็นเหมือนเปรตและเป็นผู้ประมาทอยู่

๒๔.  พระพุทธเจ้าตรัสว่าอย่าดูหมิ่นของเล็ก ๔ อย่างคืออะไรบ้าง ? เพราะเหตุผลอะไร ?

                ตอบ พระพุทธเจ้าตรัสว่าอย่าดูหมิ่นของเล็ก ๔ อย่าง  คือ กษัตริย์  งูพิษ  ไฟ  ภิกษุ  เหตุผลก็คือ 

                               ๑. กษัตริย์ นรชนไม่พึงดูหมิ่น  เพราะเมื่อทรงพิโรธขึ้นแล้ว ย่อมทรงลงพระอาชญา  อย่างหนักแก่ผู้ดูหมิ่น เพราะฉะนั้น ผู้รักชีวิตของตน พึงงดเว้นการสบประมาทกษัตริย์นั้นเสีย

                               ๒. งู เมื่อเห็นงูที่บ้าน หรือที่ป่าก็ตาม ไม่พึงดูหมิ่นว่าตัวเล็ก  งูเป็นสัตว์มีพิษ ย่อมเที่ยวไปด้วยรูปร่างต่าง ๆ งูนั้นพึงมากัดชายหญิงผู้พลั้งเผลอในบางคราวได้

                               ๓. ไฟ ไม่พึงดูหมิ่นไฟที่กินเชื้อมาก  ลุกเป็นเปลว มีทางดำ ว่าเล็กน้อย  เพราะว่าไฟนั้น ได้เชื้อแล้วก็เป็นกองไฟใหญ่  พึงลามไหม้ทำลายทรัพย์สินและชีวิตผู้พลั้งเผลอได้

                               ๔.  ภิกษุ ผู้ใดล่วงเกินภิกษุผู้มีศีล  ผู้นั้นถูกภิกษุผู้มีศีลแผดเผาด้วยเดช  บุตรธิดา และปศุสัตว์ของผู้นั้นย่อมพินาศ ทายาทของเขาย่อมไม่ได้รับทรัพย์มรดก เขาเป็นผู้ไม่มีเผ่าพันธุ์ ย่อมเป็นเหมือนตาลยอดด้วน

๒๕.  คนเช่นไรชื่อว่ารักตน และไม่รักตน ?

                ตอบ คนที่ชื่อว่ารักตน คือ คนที่ทำสุจริตทางกาย วาจา ใจ จึงได้ชื่อว่า รักตน แม้เขาจะกล่าวว่า  เขาไม่รักตนก็ตาม เพราะว่าคนที่รักใคร่กัน ย่อมทำความเจริญให้แก่กัน ฉันใด 

คนทำสุจริตทางไตรทวาร ก็อาจทำความเจริญให้แก่ตนด้วยตนฉันนั้น ชนเหล่านี้ชื่อว่า รักตน

      คนที่ทำทุจริตทางกาย วาจา ใจจึงได้ชื่อว่า ไม่รักตน แม้เขาจะกล่าวว่ารักตนก็ตาม

เพราะว่าคนที่ไม่รักใคร่ต่อกัน อาจทำความฉิบหายให้ได้ ฉันใด  คนที่ทำทุจริตก็อาจทำความเดือนร้อนให้แก่ตนและแก่คนอื่น  ฉันนั้น ชนเหล่านี้ชื่อว่า  ไม่รักตน

๒๖. มหายัญแบบพราหมณ์มีอะไรบ้าง ? ถ้านำมาประยุกต์ใช้แบบพุทธจะอธิบายว่าอย่างไร ?

                ตอบ  มหายัญแบบพราหมณ์มี  ๕ อย่างคือ  อัสสเมธะ ปุริสเมธะ  สัมมาปาสะ วาชเปยยะ  และ นิรัคคฬะ  ถ้านำมาประยุกต์ใช้แบบพุทธมีอธิบายดังนี้

                                ๑. อัศวเมธะ  ได้แก่การฉลาดในการบำรุงการเกษตรกรรม กสิกรรม และเก็บภาษีตามธัญญาหารที่ผลิตได้ ๑๓ ส่วน  เสียภาษีส่วนหนึ่ง

                                ๒. ปุริสเมธะ หมายถึงการฉลาดในการบำรุงคน  การเลือกคนทำงานให้เหมาะสมแก่ความรู้ ความสามารถ  และการพระราชทานทรัพย์เป็นเบี้ยเลี้ยงแก่ข้าราชการ ทหาร และปูนบำเหน็จตามสมควร และการสังคมสงเคราะห์ถ

                                ๓. สัมมาปาสะ  ได้แก่การเรียกหนังสือกรมธรรม์กู้ แต่ชาวเมืองที่ขัดสนแล้ว  พระราชทานทรัพย์ให้กู้  โดยไม่เรียกดอกเบี้ยภายใน ๓ ปี เป็นวิธีสงเคราะห์คนยากจนหรือประชาชนพลเมือง เหมือนบ่วงคล้องใจคน คือดูแลความสุขทุกข์ของคนยากจน  หรือคนส่วนรวม ทำให้ประชาชนเลื่อมใสในผู้ปกครอง รัฐบาล

                                ๔. วาชเปยยะ  คือราชสังคหวัตถุ มาเป็นการดื่มน้ำคำคือให้ตรัสพระวาจาอันอ่อนหวาน เป็นที่ดูดดื่มน้ำใจของประชาชน  สร้างความดื่มด่ำในอัธยาศัยไมตรี และในรสแห่งไมตรีจิต

                                ๕.  นิรัคคฬะ  คือ เมื่อพระราชาทรงปกครองบ้านเมืองด้วยราชสังคหวัตถุ ๔ ประการข้างต้นแล้ว ความผาสุกจะเกิดขึ้นในแผ่นดิน บ้านเมืองจะมั่งคั่งสมบูรณ์ ไม่มีโจรผู้ร้าย ประชาชนจะมีแต่ความบันเทิงใจ  บ้านเรือนไม่ต้องลงลิ่มกลอนประตู  เปิดประตูทิ้งไว้ก็ไม่มีขโมย.

๒๗.  พระเจ้าปัสเสนทิโกศลมีพระมเหสีกี่พระองค์ ? ชื่ออะไร ?

                ตอบ มี ๑ พระองค์ชื่อว่า พระนางมัลลิกาเทวี

๒๘.  ความเป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีจิตน้อมไปในคนดี เป็นกึ่งพรหมจรรย์หรือเป็นพรหมจรรย์ทั้งสิ้น ?  เพราะเหตุไร ?

                ตอบ  เป็นพรหมจรรย์ทั้งส้ิน  เพราะว่า ภิกษุผู้มีมิตรดี  มีสหายดี  มีจิตน้อมไปในคนดีจักเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ จักกระทำซึ่งอริยมรรคมีองค์ ๘ ให้มากได้

๒๙.  มารคืออะไร ? มีเท่าไร ? อะไรบ้าง ?

ตอบ  มารคือผู้ที่ทำให้สัตว์โลกทั้งหลาย ซึ่งดำเนินเพื่อจะข้ามพ้นวิสัยของตนให้ถึงซึ่งความตาย        มี ๕ อย่างคือ

                                ๑.  ขันธมาร  มารคือเบญจขันธ์ ที่ทำให้ลำบาก จนเบื่อหน่าย อยากฆ่าตัวตายก็มีในบางคราว

                                ๒.  กิเลสมาร  มารคือกิเลส  เมื่อคนตกอยู่ในอำนาจของมันแล้ว ย่อมถูกผูกรัดไว้  ขาดความเป็นตัวของตัว  จนถึงกับทำให้เสียคนก็มี

                                ๓.  อภิสังขารมาร  มารคือ บาป บุญ และอรูปฌาน  แต่เป็นมารในระดับแตกต่างกัน

                                ๔.  มัจจุมาร มารคือความตาย  โดยเฉพาะที่เข้าทำลายชีวิต ขณะทำความดีอยู่

                                ๕.  เทวปุตตมาร มารคือเทวบุตร ที่มากไปด้วยความริษยา เป็นอันธพาล  คอยทำลายล้าง  ขัดขวางในการทำความดีของบุคคลอื่น

๓๐.  ธิดามารเป็นธิดาของมารพวกไหน ? มีใครกันบ้าง ?

                ตอบ  เป็นธิดามารจำพวกเทวปุตตมาร มีนางตัณหา  นางราคา  และนางอรดี

๓๑.  ป่าอันธวันตั้งอยู่ที่ไหน ? จงเล่าประวัติมาดู ?

                ตอบ  ป่าอันธวัน ตั้งอยู่ในเขตเมืองสาวัตถี ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองประมาณ  ๕๐๐ เส้น

ประวัติโดยย่อ ป่าอันธวันนั้นดังนี้

                เมื่อพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว ยโสธรอุบาสกเที่ยวเรี่ยไรเงิน  เพื่อช่วยกันสร้างพระเจดีย์ บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ถูกพวกโจร ๕๐๐ คน จับท่านควักนัยน์ตาออกเสีย  ด้วยบาปกรรมนั้น ทำให้คนทั้ง ๕๐๐ คนนั้น ตาบอดหมด  ป่านัั้นจึงชื่อว่า อันธวัน แปลว่าป่าเป็นที่อยู่แห่งคนตาบอดหรือ ป่าบอด .

๓๒.  พระพุทธเจ้าทรงเปรียบเทียบกามไว้กี่อย่าง ? อะไรบ้าง? มีคำอธิบายอย่างไร ?

                ตอบ  พระพุทธเจ้าทรงเปรียบเทียบกามไว้  ๒ อย่าง คือ

                                ๑.  กิเลสกาม  กิเลสที่ทำให้ใคร่  ๒.  วัตถุกาม วัตถุอันน่าใคร่ ได้แก่กามคุณ ๕

                อธิบายว่า  โดยปกติแล้ว จิตใจของปุถุชนนั้น จะต้องมีกามธาตุ คือ ธาตุแห่งกามอยู่  กามสัญญา คือการจำ  กำหนดว่ารูป เสียงเป็นนั้น น่าใคร่ น่าปรารถนา น่าพอใจ กามสังกัปปะ  เขาจึงดำริถึงสิ่งนั้นมาก ๆ จนถึงกลายเป็นกามฉันทะ ความพอใจในกาม กามปริฬาหะ คือเกิดความเร่าร้อนเพราะกาม จากนั้นจิตจะเปลี่ยนเป็น กามปริเยสนา คือการแสวงหาสิ่งที่ตนใคร่ เมื่อสมความปรารถนาในจุดหนึ่ง แล้วจะเกิดความอิ่มใจ เมื่อแปรปรวนไปก็เดือดร้อน ดังนั้น จึงทรงรับสั่งไว้ว่า 

                                ๑. สัตว์เมื่อปรารถนากามอยู่  ถ้ากามนั้นสำเร็จแก่สัตว์นั้น สัตว์นั้น ได้กามตามปรารถนาแล้ว ย่อมเป็นผู้อิ่มใจแน่นอน

                                ๒. เมื่อสัตว์ปรารถนากามอยู่ เมื่อสัตว์มีฉันทะเกิดแล้ว ถ้ากามเหล่านั้นเสื่อมไป สัตว์นั้นย่อมกระสับกระส่าย เหมือนสัตว์ที่ถูกแทงด้วยลูกศร

                                ๓. สำหรับสามัญชน ไม่อาจสลัดทิ้งวัตถุกามได้ ยังมีความอยาก ความต้องการอยู่ แต่เพื่อให้ได้ประโยชน์จากสิ่งนั้น ทั้งในชีวิตปัจจุบันและภายหน้า จึงทรงแสดงในส่วนนี้

๓๓. อาฬวิกาภิกษุณีอุปมากามเหมือนกับอะไร ?  เพราะเหตุไร  ?

                ตอบ  พระพุทธเจ้าทรงเปรียบเทียบกามไว้ ๑๐ อย่าง คือ

                                ๑.  อฏฺฐกงฺขลูปมา  อุปมาเหมือนร่างกระดูก

                                ๒.  มํสเปสูปมา อุปมาเหมือนชิ้นเนื้อที่สัตว์แย่งกันกิน

                                ๓.  ติณฺณุกฺกูปมา  อุปมาเหมือนคบเพลิงที่คนถือทวนลม

                                ๔.  องฺคารกาสูปมา  อุปมาเหมือนหลุมที่เต็มไปด้วยถ่านเพลิง

                                ๕.  สุปินกฺกูปมา  อุปมาเหมือนการนอนฝัน  ตื่นแล้วก็หายไป

                                ๖.  ยาจิตกูปมา อุปมาเหมือนพัสดุ ที่ยืมเขามาให้แล้วก็ต้องส่งคืน

                                ๗.  รุกฺขผลูปมา อุปมาเหมือนผลไม้ เป็นที่ปรารถนาของผู้ต้องการ

                                ๘.  สตฺติสูสูปมา  อุปมาเหมือนคนที่ถูกแทงด้วยหอก เวลาจะชักออกทำได้ยาก

                                ๙.  อสิสูนูปมา อุปมาเหมือนเขียงสับเนื้อ

                                ๑๐.  สปฺปสิรูปมา  อุปมาเหมือนศีรษะของอสรพิษ

                อธิบายว่า  โทษแห่งกามีมากอย่างนี้ พระพุทธเจ้า จึงทรงแสดงหลักปฏิบัติ เพื่อเว้นกามอย่างเด็ดขาดไว้ว่า

                เหล่ากิเลสอันไม่มีกำลัง ย่อมครอบงำนรชนเหล่านั้น เหล่าอันตรายย่อมย่ำยีนรชนเหล่านั้น เพราะอันตรายนั้น ทุกข์ย่อมติดตามนรชนนั้นไป เหมือนน้ำไหลเข้าสู่เรือที่แตกแล้ว ฉะนั้น

                เพราะเหตุนั้น สัตว์ผู้เกิดมา พึงเป็นผู้มีสติทุกเมื่อ พึงข้ามโอฆะได้ เหมือนบุคคลวิดน้ำในเรือแล้วไปถึงฝั่งฉะนั้น

                เมื่อทำได้เช่นนั้น ย่อมได้ชื่อว่าเป็นพระขีณาสพ อันธรรมดาพระขีณาสพนั้น ท่านแสดงว่า พระขีณาสพนั้น มีภพนี้เป็นที่สุดมีสรีระนี้เป็นทีหลัง มิได้มี ชาติ มรณะ สงสาร และภพใหม่ แม้พระอาฬวิกาภิกษุณี ก็เป็นพระอรหันตขีณาสพรูปหนึ่ง ท่านจึงบอกแก่มารว่า

                       อตฺถิ นิสฺสรณํโลเก    ปญญาย เมสุผุสฺสิตํ

                       ในโลกนี้  มีทางออกไปจากทุกข์ได้  เรารู้ชัดดีแล้ว ด้วยปัญญา.

๓๔. โสมาภิกษุณีตอบคำถามมารที่ว่า  สตรีมีปัญหาเพียง ๒ นิ้ว  ไว้อย่างไร ?

                ตอบ  สตรีที่มีปัญหาเพียง ๒ นิ้ว ไม่อาจถึงฐานะอันจะพึงอดทนได้ด้วยยากซึ่งท่านผู้แสวงหาทั้งหลายจะพึงถึงได้

                ความเป็นสตรีจะทำอะไรได้ เมื่อจิตตั้งมั่นแล้ว เมื่อญาณเป็นไปแก่ผู้เห็นธรรมอยู่โดยชอบ  ผู้ใดจะพึงมีความคิดเห็นแน่นอนอย่างนี้ว่า  เราเป็นสตรี เราเป็นบุรุษหรือจะยังมีความเกาะเกียวว่า  เรามีอยู่ มารควรจะกล่าวกะเขาผู้นั้นเถิด.

๓๕. มารกล่าวว่า เรามาอภิรมย์กันด้วยดนตรีประกอบองค์ ๕ นั้น คืออะไร ?

                ตอบ  ดนตรีอันประกอบด้วยองค์ ๕ นั้นได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะคือ เย็น ร้อน อ่อน แข็ง  ที่คนกำหนดด้วยอำนาจกามสัญญาว่า น่าใคร่ น่าปรารถนา น่าพอใจ มารก็คือมารที่ยังคงแสดงความเขลาออกมาให้ปรากฏ มาพูดชักชวนไม่รู้ว่าใครเป็นใคร เพราะมารเข้า

ใจเพียงว่า คนหนุ่มสาวจะต้องพอใจ ติดใจกามคุณทั้ง ๕ นั้น

๓๖. ทำไมท้าวสหัมบดีพรหมจึงต้องมากราบทูลอาราธนาพระพุทธให้แสดงธรรม ?  ถ้าไม่กราบทูลแสดงธรรมไม่ได้หรือไง ?

                ตอบ  หลังจากทรงตรัสรู้แล้ว พระพุทธเจ้าเสด็จประทับ ณ อชปาลนิโครธ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา  อุรุเวลาเสนานิคม ทรงปรารภธรรมที่พระองค์ตรัสรู้มา ทรงเห็นว่าพระธรรมนี้ลึกซึ่ง เห็นได้ยาก รู้ตามได้ยากสงบ ประณีต คาดคะเนเอาไม่ได้ เป็นธรรมที่ละเอียดรู้ได้เฉพาะบัณฑิต

                แต่หมู่สัตว์เหล่านี้ ยินดีด้วยอาลัย ในอาลัย เบิกบานแล้วในอาลัย การจะแสดงธรรมว่าสังขารทั้งหลายประกอบด้วยปัจจัย ธรรมทั้งหลายอาศัยกันและกัน ธรรมเป็นที่สงบแล้วสังขาร อุปธิตัณหา ธรรมเป็นที่สำรอก ดับ นิพพานสัตว์เหล่านี้ จะรู้เห็นได้โดยยากหากเราแสดงธรรม แต่คนเหล่านั้นไม่รู้ ก็จะเป็นการเหน็ดเหนื่อยเปล่า เมื่อทรงดำริเช่นนี้ข้อความที่พระองค์ไม่เคยได้สดับมาก่อน ปรากฏแก่พระองค์ว่า เรา ไม่ควรแสดงธรรม ที่เราตรัสรู้แล้วโดยยาก เพราะธรรมนี้เป็นธรรมที่ผู้มีราคะ โทสะ โมหะ  ครอบงำจะรู้ได้โดยยาก เหล่าสัตว์ผู้ยินดีแล้วด้วยความกำหนัด ถูกวงมืดห้อมลอ้มไว้แล้ว ย่อมไม่เห็นธรรมอันทวนกระแส ละเอียด ลึกซึ่ง เห็นได้ยาก เป็นอณู

                พระผู้มีพระภาค ทรงทราบคำอาราธนาของพรหม ทรงทอดพระเนตรดูสัตว์โลก ด้วยพระพุทธจักษุอันอาศัยพระมหากรุณา ทรงเห็นว่า สัตว์โลกบางพวกมีกิเลสน้อย บางพวกมีกิเลสมาก บางพวกมีอินทรีย์อ่อน บางพวกมีอินทรีย์แก่กล้า มีอาการดี อาการเลว สอนง่าย สอนยาก

อุปมาด้วยดอกบัว ๔ เหล่าคือ

                ดอกบัวบางชนิด เกิดในน้ำ เจริญในน้ำ อาศัยและจมอยู่ในน้ำก็มี ตั้งอยู่เสมอน้ำก็มี ตั้งขึ้นพ้นน้ำก็มี น้ำไม่อาจติดแล้วก็มี ทรงเปรียบด้วยสัตว์โลกโดยดังกล่าวจึงตรัสตอบท่านสหัมบดีพรหมไป

๓๗. สนังกุมารพรหมทำไมจึงได้ชื่ออย่างนั้น ? ลงมากล่าวอะไรในสำนักพระพุทธเจ้า ?

                ตอบ  สนังกุมารพรหมนั้น ได้เจริญฌานจนบรรลุฌานตั้งแต่เป็นเด็กไว้ผมจุก ๕ จุกอยู่ตายไปบังเกิดในพรมหโลก ชอบไปไหนด้วยเพศกุมารไว้ผมจุก จนได้นามว่าสนังกุมารพรหม

                สนังกุมารพรหม กล่าวแสดงความเห็นในสำนักพระพุทธเจ้าแบบยอมรับทั้ง ๒ ระดับ คือ ระดับชาติชั้นวรรณะ กษัตรย์อันเป็นสมมติเทพ เป็นผู้ประเสริฐสุด แต่ในแง่ของความเป็นจริงแล้ว  ท่านผู้สมบูรณ์ด้วยวิชชา คือความรู้จรณะ คือความประพฤติ ประเสริฐสุดทั้งในหมู่มนุษย์ และ

เทวดา ซึ่งข้อนี้เป็นความจริงที่ยอมรับกัน คือ วุฑฒบุคคล ๓ ประเภท คือชาติ วุฒิ วัยวุฒิ  ท่านผู้มีคุณวุฒิย่อมได้รับความเคารพนับถือจากวุฑฒบุคคล ๒ ประเภทแรก

๓๘. พระพุทธเจ้าตรัสถึงวิธีทำนา ของพระองค์ไว้อย่างไร? มีผลเป็นอย่างไร ?

                ตอบ  พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัสถึงวิธีทำนาว่า ดูก่อนพราหมณ์  แม้เราก็ไถและหว่านก่อนแล้วจึงบริโภค  ศรัทธาเป็นพืช ความเพียรเป็นฝน ปัญญาของเราเป็นแอกและไถ หิริเป็นงอนไถใจเป็นเชือก สติของเราเป็นผาลและปฏักเรามีกายคุ้มครองแล้ว มีวาจาคุ้มครองแล้ว เป็นผู้สำรวมแล้วในการปริโภคอาหาร เราทำการดายหญ้าด้วยคำสัตย์ เราทำการงานให้เสร็จด้วยโสรัจจะ ความเพียรของเราเป็นเครื่องนำธุระไปให้สมหวัง ไปถึงความเกษมจากโยคะ ไปไม่ถอยหลัง ยังที่ซึ่งบุคคลไปแล้วไม่เศร้าโศก

                เราทำนาอย่างนี้ นาที่เราทำนั้น ย่อมมีผลเป็นอมตะ บุคคลทำนาอย่างนี้แล้ว ย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้

๓๙. พระวังคีสเถระใช้วิธีอะไรข่มกามวิตก ? ท่านเป็นเลิศทางไหน ?

                ตอบ  ใช้วิธีที่ตรงกันข้ามกับสิ่งที่ทำให้เกิดกามวิตก ซึ่งมี รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นต้น อันจะครอบงำใจบุรุษได้รุนแรงกว่าของสตรี และท่าน ก็เตือนตนด้วยตน พิจารณาตนด้วยตน ตนแลเป็นที่พึงของตน คนอื่นใครเล่าจะเป็นที่พึ่งได้ บุคคลฝึกฝนตนดีแล้ว ย่อมได้ที่พึ่งที่

ได้โดยยาก บัณฑิตพึงทำตนให้ผ่องแผ้วจากเครื่องเศร้าหมองจิตเป็นต้น

                พระวังคีสเถระนั้น ได้รับตำแหน่งสาวกว่าเป็นเลิศในทางปฏิภาณ ในศาสนาของพระพุทธเจ้าองค์ใดองค์หนึ่งได้สร้างและเพิ่มพูนบารมีมาในชาติต่าง ๆ ตามดำลับ

๔๐. ยักษ์ตนไหนสงสัยเกี่ยวกับการเกิด ? พระพุทธเจ้าตรัสอธิบายให้หายสงสัยได้อย่างไร ?

                ตอบ  อินทกยักษ์ผู้สงสัยเรื่องเกี่ยวกับการเกิด โดยกล่าวว่า  ถ้าท่านผู้รู้ทั้งหลายกล่าวว่า รูปไม่ใช่ชีพแล้ว สัตว์นี้จะประสบร่างกายได้อย่างไรหนอ กระดูกและก้อนเนื้อจะมาแต่ไหนสัตว์นี้จะติดอยู่ในครรภ์ได้อย่างไรเล่า

                พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอธิบายว่า รูปนี้เป็นกลละมาก่อน จากกลละเป็นอัพพุทะ จากอัพพุทะเป็นเปสิ จากเปสิเป็นฆนะ จากฆนะเกิดเป็น ๕ ปุ่ม ต่อจากนั้น มีผม ขน และเล็บเป็นต้น

เกิดขึ้น  มารดาของสัตว์ในครรภ์ บริโภคข้าวน้ำโภชนาหารอย่างใด สัตว์ผู้อยู่ในครรภ์มารดาก็ยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยอาหารอย่างนั้น ในครรภ์นั้น.

๔๑. มีอาวุธของใครบ้างที่น่ากลัว ?แต่ละชนิดมีอานุภาพอย่างไร ?

                ตอบ อาวุธของอาฬวกยักษ์เป็นอาวุธที่น่ากลัวที่สุด มีอยู่ ๔ ชนิด แต่ละชนิดมีอานุภาพที่น่ากลัวอย่างนี้

                                ๑. วชิราวุธของท้าวสักกะ สามารถฟาดไปทำอันตรายต่อคนสัตว์ได้คราวละมากๆ

                                ๒. คทาวุธของท้าวเวสสุวรรณ สามารถขว้างไปทำลายปีศาจยักษ์เป็นต้นได้ตามต้องการ เมื่อทำหน้าที่เสร็จแล้วจะย้อนกลับมาสู่พระหัตถ์ได้เอง

                                ๓. เนตรของพระยายม ท่านบอกว่าพระยายมมีพระเนตรดุมาก สามารถมองสัตว์ให้ตกใจกลัวจนช๊อกตายได้

                                ๔. ผ้าโพกของอาฬวกยักษ์ อาจใช้ทำอันตรายได้สารพัด ทั้งคนสัตว์ ธรรมชาติ ท่านว่า หากซัดไปในแม่น้ำจะทำให้น้ำเหือดแห้งไป ซัดไปบนอากาศจะเกิดความแห้งแล้งเป็นต้น

                แต่ผ้าโพกที่มีอานุภาพมาก ไม่อาจทำอะไรต่อพระพุทธเจ้าได้ในคืนนั้น โดยที่พระผู้มีพระภาคทรงอาศัยพระขันตีธรรมเป็นอาวุธ ในการผจญกับอาฬวกยักษ์ เหตุนั้น พระโบราณาจารย์จึงอาศัยเหตุนี้ ได้ประพันธ์เป็นคาถา กล่าวถึงการได้ชัยชนะของพระพุทธเจ้าไว้ในพุทธชยมงคล

คาถา  บทที่ ๒ ว่า

                พระจอมมุนี ได้ชนะอาฬวกยักษ์ ผู้มีจิตกระด้าง ปราศจากความอดทน มีฤทธิ์พิลึกยิ่งกว่าพญามาร เข้าผจญพระองค์อย่างรุนแรงจนตลอดรุ่ง ด้วยวิธีทรมานอันดี คือพระขันตี

๔๒. เมื่อเกิดความกลัวขึ้น ท้าวสักกะทรงแนะให้ใช้อุบายอะไร ? พระพุทธเจ้าทรงแนะให้ใช้อุบายอะไร ? อย่างไหนจะประเสริฐกว่ากัน  เพราะเหตุไร ?

                ตอบ  ท้าวสักกะทรงแนะนำเหล่าเทพทั้งหลายว่า หากพวกท่านเกิดความกลัว หวาดเสียวหรือขนพองสยองเกล้าขึ้นในตน ขอให้มองดูยอดธงของเราปชาบดีเทวราช วรุณเทวราชหรือสีสานเทวราชเถิด เมื่อพวกท่านมองดูธงของเราและเทวราชเหล่านั้นแล้ว อาการดังกล่าวจะหายไป

                พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแนะอุบายว่าภิกษุทั้งหลาย เมื่อพวกเธออยู่ในป่าโคนไม้ เรือนว่างก็ดี หากเกิดความกลัว หวาดสะดุ้ง หรืออาการขนพองสยองเกล้า เมื่อนั้นพวกเธอ พึงระลึกถึงเราว่า  แม้เพราะเหตุนี้ ๆ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ เป็นผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ ทรงสมบูรณ์ด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว เป็นผู้รู้แจ้งโลก เป็นสารถีผู้ฝึกบุรุษที่ควรฝึกไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า  เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้ตื่นแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม

                เมื่อระลึกอยู่อย่างนี้ อาการดังกล่าวก็จะหายไป หากยังไม่หาย ให้ระลึกถึงพระธรรมว่า พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงไว้ดีแล้ว บุคคลพึงเห็นได้เอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดูได้ ควรน้อมเข้ามาในตนอันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตนดังนี้  อาการดังกล่าวจะหายไป     แม้เมื่อระลึกถึงพระธรรมคุณอยู่อย่างนี้ ยังไม่หายความกลัวเป็นต้น ก็ให้ระลึกถึงคุณของพระสงฆ์โดยนัยว่า

                พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว เป็นผู้ปฏิบัติตรง เป็นผู้ปฏิบัติเป็นธรรม เป็นผู้ปฏิบัติสมควร พระสงฆ์นั้นคือใคร ได้แก่คู่แห่งบุรุษ ๔ บุรุษบุคคล ๘ นี้คือพระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นผู้ควรแก่สักการะที่เขานำมาบูชา เป็นผู้ควรแก่ของต้อนรับ

เป็นผู้ควรแก่ทักษิณา เป็นผู้ควรแก่การทำอัญชลี เป็นบุญเขตของโลก ไม่มีบุญเขตอื่นยิ่งไปกว่า

                เมื่อตามระลึกถึงคุณพระรัตนตรัยอยู่อย่างนี้ ความกลัว หวาดสะดุ้ง ขนพองสยองเกล้าจะหายไป

                เพราะว่าพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นผู้ปราศจาก ราคะ โทสะ โมหะ ไม่กลัว ไม่หวาด ไม่สะดุ้ง ไม่หนีไป

๔๓. ภิกษุจะเป็นธรรมกถึกด้วยเหตุเพียงเท่าไร ?

                ตอบ  พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัสว่าภิกษุผู้เป็นธรรมถึกต้องประกอบด้วยเหตุดังนี้คือ ดูกรภิกษุ  ถ้าภิกษุแสดงธรรมเพื่อความหน่าย คลายกำหนัด เพื่อดับชราและมรณะ ควรจะเรียกได้ว่าเป็นธรรมกถึก  หากเธอปฏิบัติเพื่อความหน่าย คลายกำหนัด เพื่อดับชรามรณะได้ ควร

เรียกว่า ผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม  ถ้าเธอหลุดพ้นแล้วเพราะความหน่ายคลายกำหนัด เพราะดับ เพราะไม่ถือมั่นชรามรณะ ควรกล่าวว่า  เธอบรรลุนิพพานในปัจจุบัน

                ถ้าภิกษุแสดงธรรมเพื่อความหน่าย คลายกำหนัด เพื่อความดับชาติ ภพ อุปาทาน ตัณหาเวทนา ผัสสะ สฬายตนะ นามรูป วิญญาณ สังขาร และอวิชชา ควรกล่าวว่า ภิกษุธรรมถึก

๔๔. บุคคล ย่อมเป็นพระเสขะและอเสขะด้วยการปฏิบัติอย่างไร ?

                ตอบ  บุคคลผู้เห็นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงว่า นี้คือขันธปัญจกที่เกิดแล้ว ขันธปัญจกนี้เกิดเพราะอาหาร และเห็นว่าสิ่งใดเกิดขึ้นแล้ว สิ่งนั้นมีความดับเป็นธรรมดา เพราะอาหารนั้นดับไป ครั้นเห็นเช่นนั้นแล้ว ย่อมปฏิบัติเพื่อความหน่าย คลายกำหนัด เพื่อความดับแห่งขันธปัญจกที่เกิดแล้ว ขันธปัญจกที่เกิดเพราะอาหาร และเพื่อความดับแห่งขันธปัญจกซึ่งมีความดับเป็นธรรมดา บุคคลย่อมเป็นพระเสขะด้วยการปฏิบัติอย่างนี้

                บุคคลผู้เห็นด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงว่า  นี้คือขันธปัญจกที่เกิดแล้ว ขันธปัญจกนี้เกิดเพราะอาหาร สิ่งใดที่เกิดขึ้นแล้ว สิ่งนั้นมีความดับไปเป็นธรรมดาเพราะอาหารนั้นดับไป เมื่อเห็นเช่นนั้นแล้วย่อมหลุดพ้นเพราะความหน่าย คลายกำหนัด เพราะความดับ เพราะไม่ถือมั่นซึ่งขันธปัญจกที่เกิดแล้ว ซึ่งขันธปัญจกที่เกิดเพราะอาหารนั้น และซึ่งขันธปัญจกอันมีความดับไปเป็นธรรมดา บุคคลได้ชื่อว่า ตรัสรู้ธรรมแล้ว  บุคคลย่อมเป็นพระอเสขะด้วยอาการอย่างนี้

๔๕. อาหาร ๔ มีอะไรบ้าง ? แต่ละอย่างมีอุปมาไว้อย่างไร ?

                ตอบ  อาหารมี ๔ อย่าง คือ

      ๑. กวฬิงการาหาร  อาหารที่พึงกลืนกินเข้าไป หยาบบ้าง ละเอียดบ้าง

               ๒. ผัสสาหาร  อาหารคือ ผัสสะ

               ๓. มโนสัญเจตนาหาร  อาหารคือมโนสัญเจตนา

               ๔. วิญญาณาหาร อาหารคือ วิญญาณ

อาหาร ๔ เหล่านี้แหละ เพื่อดำรงอยู่่แห่งสัตว์ที่เกิดซึ่งแต่ละอย่างมีอุปมาไว้อย่างนี้

               ๑. กวฬิงการาหาร พึงเห็นเหมือนสามีภรรยาพร้อมด้วยบุตรน้อย ๆ ถือเอาเสบียงเดินทางไกลกันดาร เสบียงหมดในระหว่างทางทั้ง ๆ ที่ยังไม่พ้นทางกันดาร ต้องจำใจฆ่าบุตรเพื่อเอาเนื้อบริโภค ในขณะที่บริโภคก็ร้องไห้รำพ้นไปต่าง ๆ นานา พวกเธอทั้งหลายจะเข้าใจเรื่องนี้อย่างไร พ่อแม่ที่จำต้องบริโภคเนื้อของบุตรเช่นนี้ จะบริโภคเพื่อคะนอง ความเมา หรือเพื่อตกแต่ง เพื่อประดับประดาร่างกายอย่างนั้นหรือ และทรงตรัสต่อไปว่า พวกเขาจำเป็นต้องบริโภคเนื้อบุตร เพียงเพื่อให้ตนได้ข้ามพ้นทางไกลกันดารเท่านั้นเอง ดังนั้นบุคคลควรเห็นกวฬิงการาหารว่า เปรียบเหมือนเนื้อแห่งบุตร เมื่อกำหนดรู้ได้อย่างนี้แล้ว เป็นอันได้กำหนดรู้ความยินดีอันเกิดแต่เบญจกามคุณ เมื่อกำหนดรู้ความ ยินดีในเบญจกามคุณได้แล้ว สังโยชน์อันเป็นเครื่องชักนำอริยสาวกให้มาสู่โลกนี้อีกก็ไม่มี

               ๒. ผัสสาหาร พึงเห็นเหมือนแม่โคที่ไม่มีหนังหุ้ม จะยืนบนบกหรือในน้ำก็ถูกสัตว์ต่าง ๆ รบกวน ไม่ว่าจะอยู่ ณ ที่ใดย่อมถูกสัตว์กัดรบกวนอยู่ร่ำไป ฉันใด เรากล่าวว่า พึงเห็นผัสสาหาร ฉันนั้น เมื่ออริยสาวกกำหนดรู้ผัสสาหารได้แล้ว ก็เป็นอันกำหนดรู้เวทนาทั้ง ๓ ได้ เม่ือเป็นเช่นนี้ เรากล่าวว่า ไม่มีสิ่งใดที่อริยสาวกพึงทำให้ยิ่งไปกว่านี้อีกแล้ว

               ๓. มโนสัญเจตนาหาร พึงเห็นเหมือนหลุมถ่านเพลิงลึกชั่วบุรุษ เต็มไปด้วยถ่านเพลิงไม่มีเปลว ไม่มีควัน มีคนรักชีวิตของตนเดินมา แต่ถูกบุรุษ ๒ คนจับแขนเขาต้องการจะโยนลงหลุมนั้นในขณะนั้นความต้องการของเขาคือการหนีให้ห่างไกลจากหลุมถ่านเพลิงนั้น ฉันใด เรากล่าวว่า พึงเห็นมโนสัญเจตนาหาร ฉันนั้น  เมื่ออริยสาวกกำหนดมโนสัญเจตนาหารได้แล้ว ก็เป็นอันกำหนดรู้ตัณหาทั้ง ๓ ได้ เม่ื่ออริยสาวกกำหนดรู้ตัณหาทั้ง ๓ ได้แล้ว เรากล่าวว่า เธอ ไม่มีอะไรที่จะพึงทำให้ยิ่งขึ้นไปกว่านี้อีกแล้ว 

                ๔. วิญญาณาหาร พึงเห็นราชบุรุษจับโจรได้ นำมาถวายพระราชา ทรงรับสั่งให้ลงโทษด้วยวิธีต่าง ๆ ในเวลาต่าง ๆ เช่นให้แทงด้วยหอก ๑๐๐ เล่ม การที่เขาถูกประหารอย่างนั้น จะเป็นการประหารด้วยหอกกี่เล่มก็ตามเขาพึงเสวยทุกข์โทมนัสอันมีการประหารนั้นเป็นเหตุ พึงเห็น

วิญญาณาหาร ฉันนั้นเหมือนกัน  เมื่ออริยสาวกกำหนดรู้วิญญาณาหารได้แล้วก็เป็นอันกำหนดรู้นามรูปได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ เรากล่าวว่า ไม่มีสิ่งใดที่อริยสาวกจะพึงให้ยิ่งขึ้นไปกว่านี้อีกแล้ว

๔๖. คนที่เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนานั้นมีจุดประสงค์อยู่ ๕ อย่าง อะไรบ้าง ?

                ตอบ  คนที่บวชเข้ามาในพระพุทธศาสนานั้น มีจุดประสงค์ ๕ อย่างต่างกันดังนี้

                ๑. อุปชีวิกา  บวชเพื่อหาเลี้ยงชีพ เช่นการบวชของผู้ไร้ญาติขาดมิตร ไม่มีที่พึ่งพำนักจึงเข้ามาบวชในพระศาสนาเพื่อยึดถือเป็นที่พึ่งโดยเห็นว่าสะดวกสบาย บางคนกลายเป็นเหมือนปีศาจที่รอคอยการเซ่นสรวงบูชาจากคนอื่น

                ๒. อุปกีฬิกา  บวชเพื่อหาของเล่นคือพวกที่บวชเพื่อการค้าหรือแสวงหาของเล่น แล้วอาศัยศาสนาเป็นหนทางติดต่อกับพุทธศาสนิกชน มุ่งผลคือสักการบูชาและอามิสอันตนจะได้จากเขาเหล่านั้น

                ๓. อุปมุยหิกา บวชด้วยความหลงงมงาย เช่นพวกที่คิดว่า การบวชนี้สบายดี ไม่ต้องทำงานอะไรก็มีอยู่มีกิน เมื่อบวชแล้วก็ไม่ตั้งใจศึกษาเล่าเรียน ประพฤติปฏิบัติให้เหมาะสมแก่ฐานและภาวะแห่งตนจนกลายเป็นคนที่ไร้ประโยชน์ เพราะไม่อาจทำงานอันเป็นหน้าที่ของภิกษุอย่างใดอย่างหนึ่งได้

                ๔. อุปนิสสรณิกา  บวชเพื่อออกจากทุกข์ คือการบวชของท่านผู้ประกอบด้วยศรัทธาปสาทะในพระพุทธศาสนา เมื่อบวชเข้ามาแล้ว ตั้งใจศึกษาปฏิบัติตามพระธรรมวินัยไม่ประมาทจนเกิดความรู้ ความเข้าใจในพระธรรมวินัยอย่างถูกต้อง เป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติเป็นธรรม ปฏิบัติสมควร เข้าถึงความสงบระงับด้วยอำนาจแห่งศีลสมาธิปัญญาตามลำดับ ตามสมควรแก่การประพฤติปฏิบัติถ

                ๕. อุปทูสิกา  บวชเพื่อประทุษร้ายพระพุทธศาสนา เป็นเหมือนโจรปล้นพระพุทธศาสนาโดยตรง อาศัยเครื่องหมายแห่งสมณะ อันเป็นที่ยอมรับนับถือบูชาของพุทธบริษัท แต่กลับประพฤติอันเป็นปฏิปักษ์ต่อพระพุทธศาสนา โดยขาดความละอายความเกรงกลัวบาปกรรม  หรือแม้แต่ที่คนไทยนิยมพูดกันว่า " บวชนี้ บวชลอง บวชครองประเพณี บวชหนีสงสาร บวชผลาญข้าวสุก บวชสนุกตามเพื่อน ""  ย่อมเกิดขึ้นได้ทุกยุคทุกสมัย อย่างประเภทสุดท้ายที่บวชเข้ามาเพื่อประทุษร้ายต่อพระพุทธศาสนานั้น อาจจะเป็นการกระทำของคนสิ้นคิด นักบวชนอกพระพุทธศาสนา หรือพวกลัทธิการเมืองที่เป็นปฏิปักษ์ต่อพระพุทธศาสนา

๔๗. อนมตัคคสังยุตว่าด้วยเรื่องอะไร ?  มีข้ออุปมาไว้อย่างไรบ้าง ?

                ตอบ  อนมตัคคสังยุตหมวดที่ว่าด้วยเรื่องสงสารอันไม่อาจรู้ได้ มีขัออุปมาไว้อย่างนี้ คือ

                ๑. สงสารนี้กำหนดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้ เพราะอวิชชากางกั้นและตัณหาเป็นเครื่องประกอบไว้ ท่องเที่ยวไปมาอยู่ ที่สุดเบื้องต้น จึงไม่ปรากฏ หากคนจะนำเอาต้นไม้ หญ้า และพืชอื่น  มามัดเข้ามัดละ ๔ นิ้ววางไว้ สมมติว่านี่เป็นมารดาบิดาของตน ต้นไม้ในชมพูทวีปจะหมดไปก่อน จำนวนของมารดาบิดาที่ตนมีในสังสารวัฎ คนต้องประสพความสุข ทุกข์ ความพินาศในสังสารวัฎตลอดกาลนาน น้ำตาของคนที่หลั่งออกเพราะการพลัดพรากจากปิยชนในสังสารวัฎนั้นมากกว่าน้ำในมหาสมุทรทั้ง๔ แม้น้ำนมของมารดาที่คนดื่มมาในสังสารวัฎก็มากกว่าน้ำในมหาสมุทร

                ๒. ท่อนไม้ที่บุคคลโยนขึ้นไปบนอากาศ บางครั้งเอาท่อนหัวลงบางครั้งเอาท่อนปลายลงบางครั้งเอาตรงกลางลง ฉันใด สัตว์ที่มีอวิชชากางกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องประกอบไว้ ท่องเที่ยวไปมาอยู่  ก็ฉันนั้น  บางคราวก็จากโลกนี้ไปสู่โลกอื่น บางคราวก็จากโลกอื่นมาสู่โลกนี้ คนที่ตายลงในสังสารวัฎหากเอากระดูกมากองรวมกันเข้า กระดูกของคนแต่ละคนจะกองสูงกว่าภูเขาเวปุลละ

                ๓. เมื่อเห็นคนที่ประสบทุกข์หรือสุขก็ตาม ให้น้อมเข้ามาหาตนว่า ในสังสารวัฏอันยาวนานนั้น เราได้เคยเป็นอย่างนี้มาแล้วเช่นกันการที่คนได้เกิดแล้วในกำเนิดต่าง ๆ ถูกตัดศรีษะในกาลที่ตนเกิดนั้นๆ โลหิตที่หลั่งออกเพราะการถูกตัดศีรษะ เพราะโทษคือทุจริตที่บุคคลได้กระทำในชาติต่าง ๆ ในกำเนิดต่าง ๆ มากกว่าน้ำในมหาสมุทรทั้ง๔ เสียอีก

                ๔. สัตว์ที่ไม่เคยเป็นมารดา บิดาพีชายน้องชาย พี่สาวน้องสาว บุตรธิดากันมาก่อน ในสงสารอันหาเบื้องต้นและที่สุดมิได้นี้ หามิได้ง่ายนัก

                ๕. ทรงชี้ให้ภิกษุทั้งหลายดูเวปุลลบรรพต เมื่อเสด็จประทับ ณ ภูเขาคิชฌกูฏควาวมว่า  ในสมัยพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า กกุสันธะอัครสาวกชื่อ วิธูระ และ สัญชีวะ หมู่มนุษย์ชื่อว่า ติวรา มีอายุ ๔๐,๐๐๐ ปี เวปุลลบรรพตมีชื่อว่า ปาจีนวังสะ  พวกเขาขึ้นถึงยอดภูเขาได้ ต้องใช้เวลาถึง ๔ วันตอนลง ๔ วัน

                ๖. เมื่อมีคำถามว่า  คนเราต้องท่องเที่ยวกันมากี่กับแล้ว ทรงแสดงว่าไม่อาจนับเป็นกัปได้ ไม่ว่าจะเป็น๑,๐๐๐ กัป หรือ ๑๐๐,๐๐๐ กัป ทั้ง ๆ ที่กัปแต่ละกัปนั้น เป็นเวลายาวนานเหลือเกิน ทรงอุปมาว่าเหมือนบุคคลสรา้งเมืองกว้างยาวด้านละ ๑๐๐ โยชน์ ถึง ๑๐๐ ปีมีคนนำเอาเมล็ด ผักกาดมาทิ้งลงเมล็ดหนึ่ง จนเมล็ดผักกาดเต็มเมืองนั้น ก็ยังไม่ถึงกัปหนึ่งหรือภูเขาหินล้วนกว้างยาวด้านละ ๑๐๐ โยชน์ ถึงรอบ ๑๐๐ ปี คนนำเอาผ้ากาสีชนิดดีมาปัดภูเขาครั้งหนึ่ง จนภูเขานั้นกร่อนหมดไป เวลายังน้อยกว่ากัปหนึ่ง

       ๗. ทรงสรุปเรื่องที่ทรงแสดงสรุปเป็นพระคาถาในวรรคทั้ง ๒ตามลำดับว่า

                     ๗.๑  เราผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ได้กล่าวไว้ดังนี้ว่า  กระดูกของบุคคลคนหนึ่งที่สะสมไว้กัปหนึ่ง พึงเป็นกองเท่าภูเขาเวปุลละอันอยู่ทางทิศเหนือแห่งภูเขาคิชฌกูฏใกล้กรุงราชคฤห์ อันมีภูเขาล้อมรอบ เมื่อบุคคลใดเห็นอริยสัจคือทุกข์ เหตุเกิดแห่งทุกข์ ความดับทุกข์ และอริยมรรคมีองค์ ๘ อันยังสัตว์ให้ถึงความสงบแห่งทุกข์ด้วยปัญญาอันชอบ ต่อแต่นั้น เขาจะต้องท่องเที่ยวอย่างมากอีก ๗ ชาติ ก็จะสามารถทำที่สุดทุกข์ได้ เพราะสิ้นสัญโยชน์ทั้งปวง

                     ๗.๒  ปาจีนวังสบรรพตของมนุษย์ชื่อติวระ วงกตบรรพตของมนุษย์ชื่่อ โรหิตัสสะ สุปัสสบรรพตของหมู่มนุษย์ชื่อสุปปิยา และเวปุลละบรรพตของหมู่มนุษย์ชื่อมาคธะ สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ มีการเกิดขึ้นและเสื่อมไปเป็นธรรมดา ครั้นเกิดขึ้นแล้วย่อมดับไป ความเข้าไปสงบระงับแห่งสังขารทั้งหลายได้เป็นความสุข

๔๘.  ลาภสักการะมีโทษอย่างไร ? มีข้ออุปมาลาภสักการะไว้เหมือนกับอะไร?

                ตอบ  ลาภสักการะมีโทษดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า ลาภสักการะและชื่อเสียง มีโทษและเป็นอันตรายแก่การบรรลุธรรม อันเกษมจากโยคะ ซึ่งไม่มีธรรมอื่นยิ่งไปกว่า ให้พวกเธอทำความศึกษาว่า เราทั้งหลายจักละลาภสักการะและชื่อเสียงที่เกิดขึ้นแล้วเสียและไม่ให้ลาภสักการะชื่อเสียงครอบงำจิตของเรา

                มีข้ออุปมาลาภสักการะไว้ดังนี้ คือ ปลาที่เห็นแก่เหยื่ออันนายพรานเบ็ดเกี่ยวไว้ที่เบ็ดแล้วหย่อนลงไปมันหลงกลืนกินเหยื่อนั้นเข้าแล้ว ได้รับทุกข์ถึงความพินาศ แต่พรานเบ็ดกลับได้รับความพอใจ  พรานเบ็ดนั้นเปรียบเหมือนมารใจบาป  เบ็ดเหมือนลาภสักการะและชื่อเสียง ภิกษุใดยินดีพอใจในลาภสักการะและชื่อเสียงเหล่านั้นชื่อว่ากลืนเบ็ดของมาร ย่อมได้รับทุกข์ถึงความพินาศ และมารอาจทำอะไรเธอได้ตามความพอใจ

๔๙. ในลักขณสังยุตกล่าวถึงเปรตไว้กี่ตน ?  แต่ละตนทำกรรมอะไรไว้ ?

               ตอบ  ในลักขณสังยุตท่านกล่าวถึงเปรตไว้ ๑๑ ตน แต่ละตนได้ทำกรรมไว้ต่างกันดังนี้

               ๑.  บุรุษเปรตโครงกระดูกลอยอยู่ในเวหาส พวกสัตว์ต่าง ๆ มีแร้ง กา นกตะกรุม ต่างโผถลาเข้าจิก เจาะ ทิ้งโครงกระดูกนั้น โครงกระดูกนั้นส่งเสียงร้องไห้ครวญครางด้วยความเจ็บปวด

               – สัตว์เปรตนี้ เคยเป็นคนฆ่าโคอยู่ในพระนครราชคฤห์นี้เอง ด้วยผลกรรมอันนั้นเขาต้องหมกไหม้อยู่ในนรกสิ้นกาลนาน เขาเกิดเป็นเปรต เพราะเศษกรรมที่เหลือจากการฆ่าโคนั้น

               ๒. บุรุษเปรตชิ้นเนื้อลอยอยู่ในเวหาส  ถูกสัตว์ต่างๆ มีแร้งกานกตะกรุมรุมจิก เจาะทิ้งชิ้นเนื้อนั้นถ

               – สัตว์เปรตนี้เป็นคนฆ่าโคในกรุงราชคฤห์มาก่อน   เป็นเปรตเพราะเศษกรรมนั้น

               ๓. บุรุษเปรตก้อนเนื้อลอยอยู่ในเวหาส มีสัตว์ดังกล่าวจิก เจาะ ทิ้งส่งเสียงร้องให้ครวญคราง

               – สัตว์เปรตนี้เคยเป็นคนฆ่านกขายในกรุงราชคฤห์นี้มาก่อน

               ๔. เปรตบุรุษไม่มีผิวหนังลอยไปในเวหาส ถูกสัตว์ดังกล่าวทำอันตรายร้องไห้ครวญคราง

               – สัตว์เปรตนั้น เป็นคนฆ่าแกะขายอยู่ในพระนครราชคฤห์นี้มาก่อน

               ๕. เปรตบุรุษมีขนเป็นดาบลอยอยู่ในเวหาส ดาบนั้นลอยขึ้นไป ๆ แล้วตกลงที่กายของบุรุษนั้นแหละ เขาส่งเสียงร้องไห้ครวญคราง

                – สัตว์เปรตนี้เคยเกิดเป็นคนฆ่าสุกรขายในกรุงราชคฤห์นี้มาก่อน

                ๖. เปรตบุุรุษมีขนเป็นหอกลอยอยู่ในเวหาส ลูกธนู หอก ปฏัก ลอยขึ้น ๆ บนอากาศแล้ว ตกลงที่กายของบุรุษนั้น ส่งเข็มนั้น ได้เข้าไปทางศีรษะออกทางปาก เข้าทางปาก ออกทางอกเข้าทางอก ออกทางท้อง เข้าทางท้อง ออกทางขาอ่อน เข้าทางขาอ่อน ออกทางแข้ง เข้าทางแข้ง ออกทางเท้า  แต่ละคนส่งเสียงร้องไห้ครวญครางด้วยความเจ็บปวด

                – สัตว์เปรตขนเป็นหอก เคยเกิดเป็นคนฆ่าเนื้อขาย ขนเป็นธนูเคยเกิดเป็นเพชฌฆาต ขนเป็นปฏักเคยเกิดเป็นคนฝึกม้า สัตว์ขนเป็นเข็มเคยเกิดเป็นคนพูดส่อเสียด ยุยงคนอื่นให้แตกจากกัน

                ๗. เปรตบุรุษมีอัณฑะใหญ่เท่าหม้อลอยอยู่ในเวหาส เมื่อเดินไปก็แบกอัณฑะไว้บนบ่าเมื่อนั่งก็นั่งทับอัณฑะ ถูกสัตว์มีแร้ง กา นกตะกรุมรุมจิ เจาะ ทิ้ง ส่งเสียงร้องไห้ครวญคราง

                – สัตว์ตเปรตนี้ เคยเป็นผู้พิพากษา ตัดสินอรรถคดีไม่เป็นธรรมมาก่อน ในกรุงราชคฤห์นี้เอง

                ๘. เปรตบุรุษ จมอยู่ในหลุมคูถ จนมิดศีรษะ และบุรุษจมอยู่ในหลุมคูถ ใช้มือกอบคูถกิน

                – สัตว์เปรตตนแรก เป็นชู้กับภรรยาของชายอื่น สัตว์ตนที่ ๒ ในชาติที่เป็นมนุษย์ นิมนต์พระไปฉันภัตตาหารที่บ้าน ให้คนเอาคูถใส่เต็มรางแล้วบอกให้คนมานิมนต์พระไปฉันคูถนั้น และบอกให้นำไปด้วยถ

                 ๙. เปรตผู้หญิงไม่มีผิวหนัง และหญิงมีกลิ่นเหม็นน่าเกลียดลอยอยู่ในเวหาส ถูกสัตว์มีแร้ง กา นกตะกรุมจิก ทิ้ง ร้องไห้ครวญครางด้วยเสียงโหยหวน

                 – หญิงเปรตคนแรกประพฤตินอกใจสามี หญิงคนที่ ๒ ทำตนเป็นแม่มดหมอผี อยู่ในกรุงราชคฤห์มาก่อน

                 ๑๐. เปรตผู้หญิงมีน้ำเหลืองไหลเยิ้มเต็มไปด้วยถ่านเพลิง และตัวกะพันธ์ไม่มีศีรษะ มีตาและปากอยู่ที่อก ถูกสัตว์ดังกล่าวรุมทิ้งจิกเจาะกาย ร้องไห้ครวญครางน่าสงสาร

                 – เปรตผู้หญิงนั้นในอดีตเคยเป็นมเหสีของพระเจ้ากาลิงค์ ริษยาในหญิงร่วมสามี จึงเอาถ่านเพลิงเทรดศีรษะหญิงเหล่านั้น ส่วนตัวกะพันธ์เคยเป็นเพชฌฆาตฆ่าโจรชื่อหาริก อยู่ในกรุงราชคฤห์มาก่อนเช่นกัน

                ๑๑. เห็นภิกษุ ภิกษุณี นางสิกขมานา สามเณร สามเณรี มีผ้าสังฆาฏิ บาตร ประคดเอว จนถึงร่างกายถูกไฟไหม้ลุกโชติช่วง แต่ละตนส่งเสียงร้องครวญครางลอยไปในเวหาส

                – เปรตแต่ละคนนั้นเคยเป็นภิกษุ ภิกษุณี สามเณร สามเณรี และนางสิกขมานา ผู้มีความประพฤติชั่วช้าในศาสนาของพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่ากัสสปะในอดีตกาล

                ทุกสูตรพระมหาโมคคัลลานะเถระจะกล่าวถึงเหตุที่ท่านกระทำการแย้มหลังจากได้เห็นเปรตเหล่านั้นว่า ผมคิดว่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยมีมาสัตว์เห็นปานนี้จักมี ยักษ์ มีลักษณะนี้แหละการได้อัตภาพอย่างนี้ก็มี จึงได้ทำการแย้มให้ปรากฏ

๕๐. ในโอปัมมสังยุต  พระพุทธเจ้าตรัสอุปมาอะไรไว้บ้าง ?

                ตอบ  ในโอปัมมสังยุต พระพุทธเจ้าทรงตรัสอุปมาไว้ดังนี้

                ๑. กลอนแห่งเรือนยอดทั้งสิ้นมารวมกันที่ยอด มียอดเป็นที่ประชุม รวมกันกับยอดฉันใด  อกุศลธรรมทั้งปวงมีอวิชชาเป็นยอด เป็นรากเง่า  รวมลงในอวิชชา  พวกเธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า  พวกเราจักเป็นผู้ไม่ประมาท.

                ๒. ทรงช้อนฝุ่นด้วยปลายพระนขามาเพียงเล็กน้อยแล้วรับสั่งถามว่า  ฝุ่นที่ปลายนขากับมหาปฐพีอย่างไหนจะมากกว่ากัน  เมื่อภิกษุกราบทูลว่า มหาปฐพีมากกว่าจนไม่อาจเทียบกันได้  รับสั่งว่า สัตว์กลับมาเกิดในหมู่มนุษย์มีประมาณน้อย  สัตว์ไปเกิดในกำเนิดอื่นนอกจากมนุษย์มากนัก  เหมือนมหาปฐพีมากกว่าฝุ่นที่ปลายเล็บ ฉะนั้น  เหตุนี้พวกเธอพึงศึกษาว่า เราจักเป็นผู้ไม่ประมาท.

                ๓. ตระกูลใดมีบุรุษน้อยมีสตรีมาก อาจถูกโจรปล้นได้ง่าย ฉันใด ภิกษุไม่เจริญไม่กระทำให้มากในเมตตาเจโตวิมุติ ย่อมถูกอมนุษย์กำจัดได้ง่ายฉันนั้น  แต่ตระกูลใดมีชายมากมีสตรีน้อย โจรทำอันตรายได้ยาก ฉันใด ภิกษุผู้กระทำให้มากเจริญเมตตาเจโตวิมุติ อมนุษย์จะกำ

จัดเธอได้ยากฉันนั้น  ดังนั้นขอให้เธอทั้งหลายทำความศึกษาว่า  เราจักเจริญกระทำให้มากซึ่งเมตตาเจโตวิมุติ ทำให้เป็นดุจยานเป็นที่ตั้งอาศัยให้มั่นคง  สั่งสม ปรารภด้วยดี  เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แหละ

               ๔. บุคคลพึงให้ทานวันละ ๓ เวลา คราวล่ะ ๑๐๐ หม้อใหญ่  แต่ผลแห่งทานนั้นไม่อาจเทียบเมตตาเจโตวิมุติ  อันบุคคลให้เจริญ วันละ ๓ เวลา คราวล่ะชั่วขณะการหยาดแห่งน้ำนมโคได้เลย ให้พวกเธอทำความศึกษาว่า  เราจักเจริญกระทำให้มากซึ่งเมตตาเจโตวิมุติ

               ๕. รับสั่งถามภิกษุทั้งหลายว่า  หากคนพูดว่าจะงอ ม้วน พับหอกที่มีใบอันคมด้วยฝ่ามือจะทำได้ง่ายหรือไม่  ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ทำได้ไม่ง่าย และคนผู้คิดทำเช่นนั้นจะต้องเหน็ดเหนื่อยเปล่า  ทรงแสดงว่าจิตของผู้ที่เจริญเมตตาเจโตวิมุติมาดีแล้ว  ถ้าอมนุษย์คิดจะทำจิตของเธอให้ฟุ้งซ่านจะทำไม่ได้ แต่จะต้องเหน็ดเหนื่อยลำบากเปล่า ๆ  ทรงสรุปให้ทำความศึกษาและปฏิบัติในเมตตาเจโตวิมุติให้สมบูรณ์เช่นเดิม.

               ๖. หากมีคนมากล่าวว่า เขาจะจับลูกธนู ที่นายขมังธนูผู้มีความชำนิชำนาญในการยิงธนูยิงมาจากทิศทั้ง ๔ให้ได้  รับสั่งถามภิกษุทั้งหลายว่า คนนั้นจะทำได้ตามที่พูดไหม พวกภิกษุกราบทูลว่า แม้บุรุษนั้นจะจับลูกธนูที่นายขมังธนูยิงมาคนเดียว ไม่ให้ตกถึงพื้นดิน จัดว่าเขาเป็นผู้มีความเร็วอย่างยวดยิ่ง ไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงความสามารถจับได้ทั้ง ๔ ลูกเลย  ทรงแสดงว่าพระจันทร์และพระอาทิตย์มีความเร็วกว่าความเร็วของคนที่สามารถจับลูกธนูที่ยิงมาจากทิศทั้ง ๔ เสียอีก แต่ว่า อายุสังขารสิ้นไปเร็วกว่าความเร็วของพระจันทร์พระอาทิตย์เสียอีก เหตุนั้น พวกเธอทั้งหลายพึงศึกษาว่า  เราทั้งหลายจักเป็นผู้ไม่ประมาทในการดำรงชีวิตอยู่.

                ๗. ทรงรับสั่งเล่าว่า ในอดีตกาล กษัตริย์ทหาร มีตะโพนชื่ออานกะ ต่อมาตะโพนแตกพวกเขาได้ตอกลิ่มอื่นลงไปเรื่อย ๆ จนตะโพนชื่ออานกะหายไป  คงเหลือแต่โครงลิ่ม แม้ฉันใด พวกภิกษุในอนาคตกาล เมื่อเขากล่าวพระสูตรที่ตถาคตกล่าวแล้ว เป็นธรรมลึก มีอรรถอันลึก เป็นโลกุตตระ ประกอบด้วยสุญญตธรรมอยู่ จักไม่ปรารถนาฟัง ไม่กำหนดจิตเพื่อจะรู้ และเห็นความสำคัญว่าควรเรียนควรศึกษา.

                แต่เมื่อเขากล่าวสูตรที่นักปราชญ์รจนาไว้ ร้อยกองไว้ วิจิตรด้วยอักษรพยัญชนะ เป็นสาวกภาษิตอยู่ จักปรารถนาฟังด้วยดี จักเงี่ยโสตลงสดับ  จักกำหนดจิตเพื่อรู้  ให้ความสำคัญแก่ธรรมเหล่านั้นว่า ควรเรียน ควรศึกษา เมื่อเป็นเช่นนี้สูตรซึ่งมีลักษณะดังกล่าวอันตถาคตภาษิตไว้ จักอันตรธานไป เช่นนั้นเหมือนกัน

                เหตุนนี้พวกเธอพึงทำความศึกษาว่า เมื่อเขากล่าวพระสูตรที่ตถาคตกล่าวแล้วเป็นธรรมลึกมีอรรถลึก เป็นโลกุตตระ ประกอบด้วยสุญญตธรรมอยู่ พวกเราจักฟังด้วยดี  จักเงี่ยโสตลงสดับมีเจตจำนงที่จะรู้และให้ความสำคัญแก่ธรรมนั้นว่า  ควรเรียน ควรศึกษา.

                ๘. ในปัจจุบันนี้ กษัตริย์ลิจฉวีผู้มีหมอนไม้หนุนศีรษะและเท้าไม่ประมาททำความเพียรในการฝึกซ้อมศิลปะ พระเจ้าอชาตสัตรูจะไม่ได้ซ่องโอกาสทำลายได้  แต่ในกาลต่อไปพวกเจ้าลิจฉวีจักเป็นคนละเอียดอ่อน มีมือเท้าอ่อน ยินดีด้วยการนอนฟูกอันนุ่มจนกว่าพระอาทิตย์จะขึ้น เมื่อนั้นแหละพวกลิจฉวีจะเสียทีพระเจ้าอาชาตสัตรู

                ในปัจจุบันนี้พวกภิกษุยังนอนหนุนหมอนไม้ ไม่ประมาท มีความเพียร มารผู้มีบาปย่อมไม่ได้ช่องได้โอกาส  แต่ต่อไปภายหน้าพวกเธอจักเป็นสุขุมาลชาติ มีมือเท้าอ่อนนุ่มจักสำเร็จการนอนเหนือที่นอนอ่อนนุ่มจนกว่าพระอาทิตย์ขึ้้น เมื่อนั้นแหละมารผู้มีบาปจะได้ช่องโอกาสอันตรายได้ พวกเธอทั้งหลายพึงศึกษาว่า  เราจักหนุนหมอนไม้ ไม่ประมาท มีความเพียร เริ่มตั้งความเพียรไว้.

               ๙. ภิกษุใหม่รูปหนึ่งเข้าไปสู่ตระกูลนานเกินไป เพื่อนตักเตือนกลับเถียงว่า ทำไมพระเถระจึงเข้าไปในตระกูลได้ ผมจึงเข้าไม่ได้เล่า ภิกษุเหล่านั้นจึงนำท่านไปเฝ้าพระพุทธเจ้า รับสั่งถาม ท่านรับเป็นสัตย์แล้ว จึงรับสั่งเล่านิทานให้ฟังว่า  ช้างโขลงหนึ่ง ลงไปในสระกินเง่าบัว เป็นต้น หลังจากได้ชำระล้างจนสะอาดแล้ว ฝ่ายลูกช้างต้องการจะทำเช่นน้ันบ้าง แต่ไม่ศึกษาวิธีกินให้ดี  จึงกินรากบัวเข้าไปทั้ง ๆที่ยังมีโคลนอยู่จนต้องประสบทุกข์ถึงตาย หรือปางตายก็มี ข้อนี้ฉันใด

                ภิกษุผู้เถระเข้าไปสู่ตระกูลแสดงธรรมให้ประชาชนเกิดความเลื่อมใส ท่านเหล่านั้นไม่ติดในลาภสักการะจึงมีผิวพรรณผ่องใส แต่ภิกษุหนุ่มบางรูปที่เข้าไปบ้าน ชาวบ้านเลื่อมใสบำรุงด้วยลาภสักการะ แต่เธอกลับติดใจในลาภสักการะ จนประสบอันตรายถึงตาย ปางตาย และสึกไปก็มี

มาก ข้อนี้ก็ฉันนั้น  เหนุนั้นพวกเธอพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่ติดอยู่ในลาภสักการะ.

               ๑๐. ภิกษุเข้าไปสู่ตระกูลนานเกินควรเช่นเดียวกับสูตรก่อน ในพระสูตรนี้ทรงเล่าเรื่องแมวจ้องจับหนูที่ออกจากกองหยากเยื่อ  แต่เมื่อจับแล้วก็รีบกลืนเข้าไปทันที  หนูยังไม่ตายจึงกัดไส้เป็นต้นของแมวจนแมวต้องตายไป ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เข้าไปในบ้านโดยขาดอาการสำรวมระวัง ได้พบเห็นมาตุคามนุ่งห่มไม่ดีเกิดราคะครอบงำจิต  ย่อมถึงความทุกข์ถึงตาย จวนตายสึกออกไปเป็นฆราวาส และต้องอาบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้น  พวกเธอควรศึกษาว่าเราจักรักษากาย วาจา ใจ มีสติมั่นคง สำรวมอินทรีย์ในเวลาเข้าไปบิณฑบาต.

               ๑๑. รับสั่งให้ภิกษุดูสุนัขจิ้งจอกไม่ว่าอยู่ในอิริยาบถใด ที่ใด สามารถอยู่ได้ตามต้องการและได้รับความสุขในอิริยาบถนั้น ๆ ภิกษุผู้ปฏิญานตนเป็นสมณศากยบุตร  ได้อัตตภาพหนึ่งเช่นนี้เป็นการดีแล้ว ให้ทำความศึกษาที่จะอยู่อย่างเป็นผู้ไม่ประมาทเถิด.

               ๑๒. รับสั่งถามภิกษุทั้งปวงว่า  ได้ยินเสียงสุนัขจิ้งจอกในเวลาใกล้รุ่งไหม ? เมื่อท่านเหล่านั้นกราลทูลว่า  ได้ยิน  รับสั่งว่า ความกตัญญูกตเวทีบางอย่างพึงมีแม้แก่สุนัขจ้ิงจอก  แต่ภิกษุบางพวกในพระธรรมวินัยนี้  กลับไม่มีความกตัญญูกตเวที  เหตุนั้นพวกเธอทั้งหลายพึงศึกษาว่า  เราจักเป็นผู้กตัญญูกตเวที อุปการะที่คนอื่นกระทำแก่เรา แม้เพียงเล็กน้อยจักไม่เสีือมไป.

ดาวน์โหลดสื่อการสอน

เห็นว่าบทความนี้มีประโยชน์ โปรดแชร์....