ใบความรู้ พุทธสาวก พุทธสาวิกา

      ปิดความเห็น บน ใบความรู้ พุทธสาวก พุทธสาวิกา

.  ประวัติพระสารีบุตร

ชาติภูมิ และการครองเรือน

                พระสารีบุตรเดิมมีชื่อว่า  อุปติสสะ  เกิดที่หมู่บ้านนาลกะ  เมืองนาลันทา  เมืองราชคฤห์  ในสกุลพราหมณ์ที่มั่งคั่ง มารดามีชื่อว่าสารี  จึงได้ชื่อว่าสารีบุตร (คือบุตรของนางสารี)  ท่านมีพี่น้องชายหญิงรวมกัน  ๖ คน  เมื่อเจริญวัยท่านได้ศึกษาเล่าเรียนศิลปศาสตร์ตามตระกูลพราหมณ์จนเชี่ยวชาญ  ท่านมีเพื่อสนิทที่รักใคร่กันมาตั้งแต่เด็ก ชื่อโกลิตมาณพ  ซึ่งมีอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน  ซึ่งตระกูลทั้งสองนี้เป็นสหายสืบเนื่องมาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ   ในวัยหนุ่มอุปติสสะและโกลิตะมาณพ  ชอบเที่ยวดูมหรสพด้วยกันเสมอ  ภายหลังพากันคิดได้ว่า  การใช้ชีวิตเช่นนี้เป็นการไร้สาระไม่มีประโยชน์อะไร  ท่านทั้งสองพร้อมด้วยบริวารจึงพากันไปบวชอยู่ในสำนักของสัญชัยปริพพาชก  เพื่อแสวงหาโมกขธรรม (คือ ความพ้นทุกข์)  ท่านทั้งสองเป็นผู้มีความเฉลียวฉลาดมาก สามารถเรียนจบลัทธิของอาจารย์สัญชัยในไม่ช้า  จึงได้รับมอบหมายให้ช่วยสั่งสอนศิษย์อื่นต่อไป  แต่ท่านทั้งสองต้องการที่จะหาความรู้เพิ่มอีก จึงได้ตกลงกันว่า ถ้าผู้ใดได้พบธรรมวิเศษก่อนขอให้บอกแก่กันและกัน

การออกบวชและบรรลุพระอรหันต์

                เมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าเสด็จมาประกาศพระศาสนา ณ กรุงราชคฤห์ วันหนึ่งพระอัสสชิได้เข้าไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน อุปติสสะมาณพผ่านไปพบท่าน จึงเกิดความเลื่อมใสในอิริยาบถอันสงบเสงี่ยมของท่านและได้ติดตามท่านไป  เมื่อได้โอกาสอันควรจึงเข้าไปแสดงความเคารพและขอให้ท่านแสดงธรรมให้ฟัง  พระอัสสชิบอกว่าท่านอยู่กับพระศาสดา เพิ่งบวชได้ไม่นาน ไม่อาจชี้แจงหลักธรรมได้ละเอียดมากนัก  ท่านจึงได้แสดงโดยย่อว่า  “ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ พระศาสดาทรงแสดงเหตุแห่งธรรมเหล่านั้นและความดับแห่งธรรมเหล่านั้น  พระศาสดาทรงสั่งสอนอย่างนี้” พอท่านได้ฟังหลักธรรมย่อก็สามารถเข้าใจความหมายได้เป็นอย่างดี  และเกิดความซาบซึ้ง มีความเลื่อมใสเชื่อมั่นในพระพุทธศาสนา   จนได้บรรลุธรรมเป็นพระอริยบุคคลชั้นต้น คือ พระโสดาบันได้   อุปติสสะรีบนำความไปเล่าให้โกลิตะมาณพสหายฟัง  โกลิตะพอได้พอได้ฟังก็ได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันเช่นกัน  จากนั้นจึงไปขอลาอาจารย์สัญชัยเพื่อไปบวชกับพระพุทธเจ้า ท่านทั้งสองพร้อมด้วยบริวารอีก ๒๕๐ คน ไปเฝ้าพระพุทธเจ้าที่วัดเวฬุวนาราม แล้วได้ทูลขออุปสมบท  พระพุทธเจ้าได้ทรงบวชให้เองด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา  เมื่อท่านทั้งสองได้อุปสมบทแล้ว  ภิกษุทั้งหลายได้เรียกท่านว่า    พระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ

                หลังจากพระสารีบุตรได้อุปสมบทได้  ๑๕  วัน  ก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์  เพราะได้ฟังพระเทศนาที่พระศาสดาตรัสแก่ปริพพาชกผู้เป็นหลานฟัง  ขณะที่พระองค์ได้ทรงแสดงธรรมแก่หลาน  พระสารีบุตรได้ตรึกตรองตามพระธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัส เกิดความเข้าใจแจ่มแจ้ง จึงได้ดวงตาเห็นธรรมเกิดปัญญา จิตหลุดพ้นจากกิเลสทั้งหลาย ได้บรรลุพระอรหัตตผล  ส่วนหลานได้เพียรดวงตาเห็นธรรมเป็นพระโสดาบัน

ตำแหน่งอันสูงสุดและเอตทัคคะ

                เมื่อพระสารีบุตรได้ตรัสรู้แล้ว เป็นผู้มีปัญญามาก  ได้เป็นกำลังสำคัญในการประกาศพระศาสนา  ได้ช่วยแบ่งเบาภาระกิจดูแลพระสงฆ์ให้กับพระพุทธเจ้าเป็นอย่างดี  พระองค์จึงได้มอบตำแหน่งอันสูงสุดแก่ท่านในตำแหน่งพระอัครสาวกเบื้องขวา   นอกจากนี้ ด้วยความที่ท่านเป็นผู้มีความรู้ความสามารถเหนือกว่าภิกษุทั้งหลาย สามารถแสดงธรรมได้เท่าเทียมกับพระพุทธเจ้า  จนพระพุทธเจ้าได้ให้เป็นตัวแทนแสดงธรรมแทนพระองค์ ได้  พระพุทธเจ้าจึงได้ยกย่องท่านในตำแหน่งเอตทัคคะที่เลิศกว่าภิกษุอื่น ว่า เป็นผู้มีปัญญามากกว่าภิกษุทั้งหลาย

คุณธรรมที่ควรยึดถือเป็นแบบอย่าง

            ๑.  มีความเคารพครูอาจารย์ ได้แก่ การเคารพระลึกถึงคุณของพระอัสสชิซึ่งเป็นอาจารย์คนแรกที่ได้แสดงธรรมให้แก่ท่านจนได้ดวงตาเห็นธรรมและได้อุปสมบทในพระพุทธศาสนา ทุกครั้งก่อนนอนท่านจะหันศรีษะและนมัสการไปทางทิศที่พระอัสสชิอยู่

            ๒. มีความกตัญญูกตเวที  ได้แก่  การที่ท่านได้แสดงธรรมโปรดโยมมารดาก่อนนิพพาน จนได้สำบรรลุธรรม และได้อนุเคราะห์เป็นพระอุปัชฌาย์บวชแก่ราธะพราหมณ์ เพราะระลึกถึงอุปการะคุณที่ราธะพราหมณ์เคยถวายอาหารบิณฑบาตแก่ท่านเพียงทัพพีหนึ่ง

            ๓. เป็นพระธรรมเสนาบดี  ได้แก่  เป็นแม่ทัพฝ่ายธรรม เพราะท่านเป็นผู้สามารถแสดงพระธรรมได้เสมอพระศาสดา  ทั้งฉลาดในการสอนด้วย จนพระศาสดาได้ตรัสสรรเสริญท่านว่า   พระสารีบุตรอยู่ที่ใดก็เท่ากับพระองค์ประทับอยู่ที่นั้นด้วย

การนิพพาน

            ในวันเพ็ญเดือน  ๑๒  พระสารีบุตรได้ทูลลาพระศาสดาไปบ้านเดิมของท่าน  พร้อมกับพระน้องชายชื่อจุนทะและพระภิกษุบริวาร เมื่อไปถึงบ้านบ้านท่านเกิดอาพาธอย่างหนัก ขณะที่อาพาธนั้น  ท่านได้แสดงธรรมโปรดโยมมารดาจนได้บรรลุโสดาบัน พอเวลาใกล้รุ่งท่านก็ได้นิพพาน  พระน้องชายของท่านจึงได้จัดการฌาปนกิจศพของท่าน แล้วเก็บอัฐิไปถวายพระพุทธเจ้า พระองค์ได้ให้ก่อเจดีย์แล้วบรรจุพระอัฐิธาตุของท่านไว้ที่ซุ้มประตูของวัดเชตวันมหาวิหาร  เมืองสาวัตถี ฯ

 

.  ประวัติพระโมคคัลลานะ

ชาติกำเนิดและการครองเรือน

พระโมคคัลลานะ มีชื่อเดิมว่าโกลิตะ  เกิดในตระกูลพราหมณ์อันมั่งคั่งในเมืองนาลันทา กรุงราชคฤห์ มารดามีชื่อว่าโมคคัลลี  จึงชื่อว่าโมคคัลลานะ ตามชื่อมารดา  ท่านเป็นสหายเพื่อนรักกับพระสารีบุตรมาตั้งแต่เยาว์วัย  เมื่อเจริญวัยท่านได้ศึกษาเล่าเรียนจนสำเร็จเป็นผู้มีความรู้ ความสามารถช่วยบิดามารดาประกอบการงานในตระกูล 

การบวชและบรรลุพระอรหันต์

วันหนึ่งขณะที่โกลิตะได้ไปเที่ยวดูมหรสพกับอุปติสสะ จึงเกิดความเบื่อหน่ายต่อโลกียสุข และได้ออกไปบวชเป็นปริพพาชกอยู่กับอาจารย์สัญชัย  พอได้ฟังธรรมจากอุปติสสะเพื่อนรัก จึงเกิดความเลื่อมใสในพระศาสนาแล้วได้ไปขอบวชกับพระพุทธเจ้าพร้อมกับ    อุปติสสะที่วัดเวฬุวันมหาวิหาร  หลังจากได้อุปสมบทจากพระพุทธเจ้าแล้ว จึงได้ชื่อใหม่ว่า พระโมคคัลลานะ

            หลังพระโมคคัลลานะได้อุปสมบท ๗ วัน  ได้ปลีกตัวไปทำความเพียร ณ หมู่บ้านกัลลวามุตคาม  กรุงราชคฤห์ ขณะทำความเพียร ท่านเกิดอาการง่วง พระศาสดาจึงเสด็จไปทรงแนะนำวิธีการบำบัดความง่วง ๘ วิธี มี การตรึกตรองถึงวิชาที่ได้เรียนมา การสาธยายธรรมท่องบทเรียนดัง ๆ  การใช้ฝ่ามือลูบตัวไปมา หรือการเดินจงกรมกลับไปกลับมา เป็นต้น ต่อจากนั้นพระพุทธเจ้าได้ตรัสโอวาทอื่นให้ฟัง  ท่านปฏิบัติตามจนสามารถขจัดความง่วงได้และเกิดปัญญารู้แจ้งเห็นจริงตามหลักคำสอน จึงบรรลุเป็นพระอรหันต์ในวันนั้นเอง

ตำแหน่งอันสูงสุดและเอตทัคคะ

            พระโมคคัลลานะท่านได้เป็นกำลังสำคัญของพระศาสดา สามารถทำกิจที่พระศาสดาทรงมอบมหมายให้สำเร็จเป็นอย่างดีพระบรมศาสดาจึงมอบตำแหน่งให้ท่านในตำแหน่งพระอัครสาวกฝ่ายซ้าย คู่กับพระสารีบุตร  นอกจากนั้นพระบรมศาสดาได้ทรงยกย่องท่านว่าเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นผู้มีฤทธิ์มากกว่าภิกษุทั้งหลาย เพราะท่านมีความสามารถในการชักจูงตระกูลใหญ่ๆ ที่ไม่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนาให้เลื่อมใสโดยปราศจากความขัดแย้งใด ๆ  ทั้งสามารถฝึกคนที่ดื้อกระด้างด้วยมานะให้ยอมเชื่อฟัง สามารถชี้บาปบุญคุณโทษได้ นอกจากนี้  พระพุทธเจ้ายังยกย่องท่านว่าเป็นผู้มีอุปการะภิกษุผู้มาขอบวชศึกษาธรรมวินัยคู่กับพระสารีบุตร คือ พระสารีบุตรเป็นผู้สร้างศรัทธาให้คนเข้าใจธรรมะแล้วขอบวช เหมือนดังมารดาผู้ให้กำเนิด ส่วนพระโมคคัลลานะช่วยสงเคราะห์ภิกษุนั้น ๆ ให้มีคุณธรรมสูงขึ้น เสมือนพี่เลี้ยงนางนมที่เลี้ยงทารกที่เกิดขึ้นแล้ว 

คุณธรรมที่ควรยึดเป็นแบบอย่าง

                ๑.   เป็นผู้มีมนุษยสัมพันธ์ปลูกศรัทธาได้ดี    ได้แก่ การที่สามารถแสดงธรรมชักชวนผู้ที่ไม่เลื่อมใสในศาสนาให้มานับถือพระพุทธศาสนาได้โดยที่บัวไม่ให้ช้ำน้ำไม่ขุ่น  สามารถฝึกคนที่กระด้างด้วยมานะให้ยอมจำนงได้

                ๒.  สอนให้เป็นคนมีเหตุมีผล  ได้แก่  การสอนให้คนเชื่อผลแห่งกรรมให้กลัวการทำกรรมชั่ว  คือระวังในการกระทำของตนเองในปัจจุบัน ว่าการทำเหตุดีย่อมได้ผลดี การทำเหตุชั่วย่อมได้ผลชั่ว

                ๓.   มีความเพียรอุตสาหวิริยะ  ได้แก่ การกระทำสิ่งต่าง ๆ  โดยไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อยและความสะดวกสบาย โดยเห็นได้จากการพยายามเอาชนะอุปสรรคคือความง่วงได้เป็นผลสำเร็จ จนสำเร็จเป็นอรหันต์ได้

                ๔.   มีน้ำใจอันดี  ได้แก่  การช่วยเหลืออุดหนุนอนุเคราะห์เพื่อนภิกษุผู้ขอบวชศึกษาธรรมวินัย แนะนำสั่งสอนชวยสงเคราะห์ให้ได้คุณธรรมสูงยิ่งขึ้น  จนถูกเปรียบเทียบเป็นเหมือนกับนางนมผู้เลี้ยงทารก

การนิพพาน

                พระโมคคัลลานะ  ได้นิพพานหลังพระสารีบุตรเพียง ๑๕ วัน  ท่านได้ถูกพวกที่นับถือลัทธิอื่นนอกพระพุทธศาสนา ที่เรียกว่าเดียรถีย์ ทำร้าย  สาเหตุเกิดจากพวกเดียรถีย์เกิดความริษยาต่อพระพุทธเจ้าที่มีประชาชนหันไปนับถือและขอบวชในพระพุทธศาสนามากขึ้น  ทำให้พวกเขาเสื่อมจากลาภสักกาะ และเห็นว่าพระโมคคัลลานะนี้เองเป็นกำลังสำคัญที่สามารถทำให้คนพากันมาเลื่อมใสมากขึ้น  เพราะท่านสามาถแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ได้สูง  เช่น สามารถนำข่าวจากสวรรค์และนรกมาแจ้งแก่มนุษย์ได้  พวกเดียรถีย์จึงจ้างนักเลงอันธพาลให้มาลอบฆ่าท่าน โจรลอบทำร้ายท่านถึง ๒ ครั้ง ท่านหนีไปได้ทั้ง ๒ ครั้ง  แต่ในครั้งที่ ๓  ท่านพิจารณาเห็นว่าเคยทำบาปหนักไว้แต่ชาติก่อน คือประทุษร้ายบิดามารดาผู้ตาบอด กรรมหนักจึงติดตามมาถึงชาตินี้ ท่านคิดได้เช่นนี้จึงไม่หนี  โจรได้จับท่านทุบตีจนกระดูกแหลก จึงนำร่างของท่านไปไว้ในพุ่มไม้  ครั้นไปแล้วท่นสำรวมจิตรวมรวบอัตภาพด้วยกำลังแห่งฌานแล้ว ทำปาฏิหาริย์ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ถวายบังคมลาปรินิพพาน พระศาสดาได้จัดทำฌาปนกิจแล้วเก็บอัฐิธาตุของท่านมาบรรจุพระเจดีย์ที่ซุ้มประตูวัดเวฬุวนาราม ฯ

 

                                                                           

.  ประวัตินางขุชชุตตราอุบาสิกา

ชาติกำเนิดและการครองเรือน

                นางขุชชุตตรา เป็นเทพธิดาอยู่บนเทวโลก  จุติมาถือปฏิสนธิในครรภ์ของแม่นมในบ้านของโฆสกเศรษฐี  ในเมืองโกสัมพี  นางมีร่างกายไม่ปกติ  เป็นผู้มีรูปร่างเตี้ยและหลังค่อม  จึงมีชื่อว่า  “ขุชชา” แปลว่า  “ค่อม”  ญาติจึงตั้งชื่อให้นางว่า “นางขุชชุตตรา”  มีความหมายว่า  นางอุตตราผู้เป็นหญิงค่อม

                เมื่อโตขึ้นเป็นหญิงสาว  นางได้เป็นหญิงรับใช้ในบ้านของนางสามาวดี ซึ่งเป็นบุตรบุญธรรมของโฆสกเศรษฐี   เมื่อนางสามาวดีได้รับการอภิเษกสมรสให้เป็นพระอัครมเหสีของพระเจ้าอุเทน นางขุชชุตราก็ได้ตามไปรับใช้นางสามามาวดีอยู่ในพระราชนิเวศน์ด้วย  นางได้รับหน้าที่เป็นผู้ซื้อดอกไม้จากบ้านคนขายดอกไม้ชื่อสุมนมาลาการ  แล้วนำไปถวายแด่พระนางสามาวดีเป็นประจำ   พระเจ้าอุเทนเป็นผู้พระราชทานพระราชทรัพย์วันละ  ๘  กหาปณะ  ให้เป็นค่าดอกไม้แก่พระนางสามาวดีเป็นประจำ  พระนางก็ได้มอบให้นางขุชชุตตราไปซื้อดอกไม้ทั้ง ๘ กหาปณะ 

                นางขุชชุตตราไม่ค่อยซื่อสัตย์เท่าไหร่นัก  รับทรัพย์จากพระนางสามาวดีไป ๘ กหาปณะ  แต่ซื้อดอกไม้เพียง  ๔  กหาปณะ มาถวาย อีก  ๔  กหาปณะ  ตนเองได้แอบเบียดบังเก็บไว้

ชีวิตในทางธรรม

                วันหนึ่ง  นางขุชชุตตราถือเงิน  ๘  กหาปณะ ไปที่บ้านของนายสุมนมาลาการเพื่อซื้อดอกไม้ตามปกติที่เคยกระทำมาเป็นประจำ  ในวันนั้น  นางสุมนมาลาการได้กราบทูลนิมนต์พระผู้มีพระภาคเจ้าพร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์ให้มาฉันภัตตาหารในบ้านของตน  ครั้นนางขุชชุตตรามาถึงบ้าน นายสุมนมาลาการก็ได้ชวนนางทำบุญเลี้ยงพระฟังธรรมก่อน แล้วค่อยรับเอาดอกไม้ไป  หลังจากพระพุทธเจ้าพร้อมพระสาวกฉันเสร็จแล้ว  ได้ทรงอนุโมทนา (ให้พร)  และแสดงพระธรรมเทศนาให้นายสุมนมาลาการฟัง  นางขุชชุตตราก็ได้ฟังพระธรรมเทศนาด้วย ทำให้เกิดศรัทธาในพระศาสนาและสามารถจำพระธรรมทั้งปวงไว้ได้ทั้งหมด  พอพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมจบลง นางก็ได้บรรลุเป็นพระอริยบุคคลชั้นโสดาบัน ซึ่งเป็นพระอริยบุคคลชั้นต้น

                ในวันนั้น หลังจากนางสำเร็จเป็นพระโสดาบันแล้ว  นางได้ซื้อดอกไม้ทั้ง ๘  กหาปณะทั้งหมด  ซึ่งแต่ก่อนเคยเบียดบังไป ๔  กหาปณะ พอบรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันแล้ว  นางได้เห็นความจริงในสัจธรรมจึงไม่ยักยอกทรัพย์ได้  ได้นำไปมอบให้แก่พระนางสามาวดี  เมื่อนางสามาวดีเห็นดอกไม้มากกว่าเติมเลยสงสัยว่าได้มาอย่างไร  นางขุชชุตตราจึงเล่าความจริงให้ฟังทั้งหมดโดยไม่ได้ปิดบังอำพรางสิ่งที่ตนทำไม่มาแล้วในอดีต  เพราะนางเป็นพระโสดาบันแล้วจะไม่กล่าวคำเท็จ

                เมื่อนางขุชชุตตราได้เล่าให้ฟังอย่างนั้น  นางสามาวดีไม่ได้โกรธหรือว่ากล่าวอะไร  มีแต่เกิดความเลื่อมใสใคร่อยากจะฟังธรรมของพระพุทธเจ้าขึ้นมา  จึงขอให้นางขุชชุตตราแสดงธรรมให้ฟัง  นางก็ไม่ได้ขัดข้องประการใด  แต่ได้สั่งให้จัดที่สูง ๆ ไว้แสดงธรรม ส่วนพวกพระนาง       สามาวดีและบริวารให้นั่งที่ต่ำกว่า  นางได้แสดงธรรมจนทำให้พระนางสามาวดีพร้อมด้วยหญิงบริวารบรรลุธรรมชั้นโสดาบัน

                ตั้งแต่วันนั้นมา  พระนางสามาวดีไม่ได้ให้นางเป็นหญิงรับใช้ต่อไป  แต่ให้ตั้งอยู่ในฐานะมารดาและฐานะอาจารย์เพื่อทำหน้าที่แสดงธรรมของพระศาสดาให้สตรีทั้งหลายฟัง  นางได้รับหน้าที่นั้น โดยไปฟังธรรมจากพระศาสดาเป็นประจำแล้วนำมาแสดงแก่เหล่าสตรีในวังฟัง  จนทำให้นางเป็นผู้ชำชองในพระไตรปิฎกเป็นอย่างดี  สามารถจดจำได้อย่างแม่นยำ   ทั้งเป็นผู้สามารถแสดงธรรมได้เป็นอย่างดี

ตำแหน่งเอตทัคคะ

            ด้วยความที่นางขุชชุตตราเป็นหญิงที่มีความขยันหาความรู้ไปฟังธรรมจากองค์พระศาสดาอยู่เป็นประจำ  จนสามารถเป็นผู้มีความรู้แตกฉานในพระไตรปิฎก และมีความสามารถกล่าวธรรมให้ผู้อื่นฟังได้ด้วย   พระพุทธเจ้าจึงได้มอบตำแหน่งเอตทัคคะว่า เป็นผู้เลิศกว่าบรรดาอุบาสิกา ซึ่งเป็นสาวิกาของพระตถาคต ผู้เป็นธรรมกถึกหรือธรรมกถิกา  หมายถึง  เป็นผู้ยอดเยี่ยมกว่าอุบาสิกาทั้งหลายในด้านการแสดงธรรมหรือสั่งสอนผู้อื่น  

คุณธรรมที่ควรยึดเป็นแบบอย่าง

                 ๑.   เป็นผู้มีความขยันหมั่นเพียร       ได้แก่  การที่นางขุชชุตตรา  เป็นผู้ใฝ่หาความรู้ในทางธรรมอยู่เป็นประจำ  จนสามารถเป็นผู้มีความรู้แตกฉานในพระไตรปิฎก  สามารถทรงจำได้อย่างแม่นยำ

                ๒.   เป็นผู้มีความรับผิดชอบดี         ได้แก่   การที่นางได้รับแต่งตั้งให้เป็นหญิงรับใช้นางสามาวดี  ก็ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ไม่ขาดตกบกพร่อง แม้ว่าจะแอบนำทรัพย์บางส่วนเป็นไปของส่วนตัว ก็ไม่ได้ถูกว่ากล่าวแต่อย่างใด

                ๓.   เป็นผู้ยอมรับความจริง    ได้แก่  การที่นางได้แอบปิดบังเอาทรัพย์ส่วนหนึ่งที่นางสามาวดีให้ไปเป็นของตน  เมื่อนายรู้ก็บอกเรื่องราวทั้งหมดโดยไม่ปิดบังอำพรางแต่อย่างใด   จึงทำให้นายมีความเชื่อศรัทธาในสิ่งที่กระทำไปไม่ว่ากล่าวเอาโทษแต่อย่างใด

                ๓.   เป็นผู้มีความเอื้อเฟื้อต่อผู้อื่น   ได้แก่  การที่นางได้รับหน้าที่สอนธรรมแก่หญิงทั้งหลายในวังอยู่เป็นประจำ  จนทุกคนได้มอบให้อยู่ในฐานะอาจารย์ผู้กล่าวสอนธรรมไว้ตลอด  โดยไม่ต้องทำหน้าที่เป็นหญิงรับใช้ต่อไป ฯ

ดาวน์โหลดสื่อการสอน

เห็นว่าบทความนี้มีประโยชน์ โปรดแชร์....