วิธีการเดินจงกรม และประโยชน์ของสมาธิ ค่ายกรรมฐาน

      ปิดความเห็น บน วิธีการเดินจงกรม และประโยชน์ของสมาธิ ค่ายกรรมฐาน

การฝึกสมาธิเพื่อให้เกิดสติปัญญา

สมาธิ คืออะไร ?

สมาธิ คือ ความระงับแห่งจิต หรือ การฝึกให้จิต ตั้งมั่นแน่วแน่ อยู่ในอารมณ์เดียว ซึ่งเกิดจากการสามารถบังคับ ควบคุมจิตได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยตนเอง

ลักษณะการเกิดสมาธิ

ผู้สามารถฝึกให้เกิดสมาธิได้ มีลักษณะ สงบ ผ่องใส ไม่ฟุ้งซ่าน มีกำลังภายในเกิดในจิตใจ เวลาทำหน้าที่ ทำงาน ไม่เป็นคนซบเซา ไม่ท้อถอย ไม่ใจลอย แต่มีความตื่นตัว ส่วนภายนอกมีอาการสงบ

ภาวนา คืออะไร ?

ภาวนา คือ การพัฒนาให้ดีขึ้น และควรทำบ่อย ๆ ทำอย่างต่อเนื่อง ตามหลักพระพุทธศาสนา คือ ต้องเข้าใจถูกต้อง มีจุดมุ่งหมายถูกต้องการพูดจาถูกต้อง การทำงานถูกต้อง การเลี้ยงชีพถูกต้อง ความพยายามถูกต้อง ความระลึกถูกต้อง ความตั้งใจมั่นถูกต้อง

จุดมุ่งหมายในการฝึกสมาธิ

จุดมุ่งหมายของการฝึกสมาธิ คือ เพื่อเป็นการบำเพ็ญบุญตามหลักพุทธศาสนา  3 ประการ คือ  ทาน ศีล ภาวนา และปฏิบัติตามขั้นตอนการศึกษาทางพุทธศาสนา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ถือว่าได้อานิสงค์มาก

ประการที่สอง เพื่อเป็นการฝึกหัดอบรมจิตใจ ให้มีความสงบตั้งมั่น อยู่ในอำนาจ จนสามารถใช้ให้จิตทำงานได้ตามที่ต้องการ เช่นต้องการคิดอะไร ? ก็คิดเรื่องนั้นเรื่องเดียว และคิดอย่างมีคุณภาพ

ประการที่สาม เป็นชั้นสูง คือ เป็นการปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์โดยตรง เพราะจุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา คือ ความหลุดพ้นจากกิเลส (กิเลส เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ทั้งปวง) ดังนั้น จุดหมายที่แท้จริงของการฝึกสมาธิ คือ เพื่ออบรมปัญญา และปัญญาจะช่วยซักฟอกจิตให้บริสุทธิ์หมดจดจากกิเลสได้

ประโยชน์โดยทั่ว ๆ ไป ของการฝึกสมาธิ

1.ช่วยเสริมสร้างสุขภาพ เพราะร่างกายของคนเราขึ้นอยู่กับจิตใจเป็นสำคัญ ถ้าจิตใจดี ร่างกายจะดีไปด้วย สมาธิ จึงช่วยฝึกจิตให้ดี เช่นช่วยให้จิตใจเย็นขึ้น คลายความเครียด ความวิตกกังวล และความกลุ้มใจ

2.ช่วยเสริมสร้างความรู้ คนที่มีจิตใจฟุ้งซ่าน สมองจะไม่ปลอดโปร่ง ความคิดและความจำไม่ดี เมื่อฝึกสมาธิจนใจสงบ มองจะปลอดโปร่ง ความคิดและความจำดี ใจที่เป็นสมาธิ ทำให้การเรียนรู้มีประสิทธิภาพและคุณภาพดี

3.ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน เพราะสมาธิจะช่วยให้สุขกาย – สุขภาพใจเข้มแข็ง ทำให้การทำงานเกิดความอดทน และช่วยให้มีความละเอียด สุขุมรอบคอบดีขึ้นด้วย

4.ช่วยแก้ปัญหาส่วนตัวได้ ถ้าเกิดปัญหาอะไรขึ้นแล้วคิดไม่ออกอย่างเพิ่งวู่วาม ให้ทำจิตใจสงบนิ่งสักพักหนึ่งแล้วหาทางแก้ไข ก็จะเกิดพลังความคิดในการแก้ปัญหานั้นได้ในเวลาต่อมา

5.ทำให้เกิดความกล้าหาญ หลักจากฝึกสมาธิไปนาน ๆ คนที่มีความอ่อนแอทางด้านจิตใจ เช่น ขี้กลัว,ตกใจง่าย,โรคหัวใจ ฯลฯ จะเกิดพละกำลังทางใจ ทำให้จิตใจเข้มแข็ง กล้าหาญได้เอง

6.มีประโยชน์ต่อการศึกษาธรรมะโดยตรง ผู้ที่ไม่สนใจฝึกสมาธิเกลียดสมาธิ จะทำให้สภาวะจิตตกต่ำ คิดต่ำลงไปตามธรรมชาติของกิเลส และมักไม่สนใจศึกษาปฏิบัติธรรมด้วย หากสามารถฝึกสมาธิได้ผลจะทำให้เกิดความสนใจธรรมะมากขึ้น เข้าใจธรรมะได้ซาบซึ้งมากขึ้นและทำให้ได้รับผลจากการปฏิบัติอย่างชัดเจน

7.สมาธิจะเป็นเพื่อนที่ดีของเรา ถ้าเราฝึกจนคล่อง สมาธิจะเป็นเพื่อนที่ดีตลอดเวลา และทุกสถานที่ ทำให้ไม่ต้องเหงาหรือกลุ้มใจ ในเมื่อต้องอยู่คนเดียวนาน ๆ

ทั้งหมดนี้ เป็นเพียงประโยชน์โดยย่อของสมาธิ ที่มีส่วนในการพัฒนาร่างกาย และจิตใจ นับว่าสมาธิ มีความจำเป็นสำหรับชีวิตอย่างแท้จริง การใช้เวลาฝึกสมาธิ จึงไม่ชื่อว่าเสียเวลาเลย ควรชื่อว่า มีเวลาดูแลหัวใจตัวเองบ้าง

วิธีฝึกสมาธิ หรือฝึกวิปัสสนากรรมฐาน ด้วยวิธีง่าย ๆ คือ

            1.กล่าวคำนอบน้อมต่อพระรัตนตรัย

            2.กล่าวคำสมาทานกัมมัฏฐานถวายตนเป็นพุทธบูชา

            3.ศึกษาวิธีการนั่งให้ถูกต้อง นั่งขัดสมาธิ ตั้งตัวให้ตรง แต่อย่าเกร็ง เอาเท้าขวาทับเท้าซ้าย,มือขวาทับมือซ้าย

            4.ขณะที่นั่ง ควรตั้งใจทำ ไม่ทำเล่น ๆ เป็นการหลอกตัวเอง และรบกวนผู้อื่นในขณะที่นั่งรวมกันมาก ๆ ต้องระมัดระวัง ไม่ส่งเสียงดังหรือทำลายบรรยากาศให้เสีย ควรหันกลับมาดูแลตัวเองให้ดีที่สุด ฝึกจิตใจให้สงบ ให้สบาย หลับตาลง ไม่หลงไปกับสิ่งที่เข้ามากระทบ กาย วาจา ใจ ตา หู จมูก ลิ้น

            5.พยายามระงับอารมณ์ไม่ให้หงุดหงิดไปกับสิ่งที่มาขวางกั้นการทำความดี หรือมารที่มาผจญในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ความง่วง,หนาว,ร้อน,หิว,กระหาย,เหนื่อย,ปวดขา,โกรธ,สงสัย,พยาบาท,ฟุ้งซ่าน,ลังเล,อยาก ฯลฯ

            6.เริ่มฝึก โดย พระอาจารย์ผู้สอน ได้แนะนำวิธีที่เหมาะสม ซึ่งมีมากมายหลายวิธี แต่สำหรับผู้ฝึกใหม่ ควรใช้อานาปานสติ คือ การมีสติ กำหนดลมหายใจเข้าออก หรือ ใช้วิธีการนับ และสามารถฝึกได้ทุกอิริยาบถ คือ นั่ง,ยืน,เดิน,นอน, จากง่ายไปหายาก จากฝึกใหม่ไปจนถึงขั้นสูง หรือ โดยการบริกรรมหรือภาวนา ตามที่ผู้สอนกำหนดให้

            7.หลักที่จะช่วยให้เกิดความสำเร็จในการฝึกสมาธิ จะต้องมีธรรมะ คือ ความเพียร,มีสติ,มีสัมปชัญญะ,ไม่ยินดียินร้าย – รู้เท่าทันอารมณ์ และมีความพอใจ,อดทน,ตั้งใจจริง,หมั่นทำบ่อย ๆ

            8.เมื่อนั่ง หรือปฏิบัติไปตามกำหนดเวลาตามสมควรแก่ตนเองแล้วให้กล่าวคำอธิษฐานใจ และแผ่เมตตาแผ่ส่วนบุญกุศลหลังการปฏิบัติ เป็นเสร็จพิธี

            พระพุทธองค์ตรัสถึงอานิสงส์แห่งการแผ่เมตตา

            1.สุขํ สุปติ ย่อมหลับเป็นสุข

            2.สุขํ ปฏิพุชฺฌติ ย่อมตื่นเป็นสุข

            3.น ปาปกํ สุปินํ ปสฺสติ ย่อมไม่ฝันเห็นสิ่งชั่วร้าย

            4.มนุสฺสานํ ปิโย โหติ ย่อมเป็นที่รักของมนุษย์ทั้งหลาย

            5.อมนุสฺสานํ ปิโย โหติ ย่อมเป็นที่รักของอมนุษย์ทั้งหลาย

            6.เทวตา รกขนฺติ เทวดาย่อมคุ้มครองรักษา

            7.นาสฺส อคฺคิ วา วิสํ วา สตฺถํ วา กมติ ไฟก็ตาม ยาพิษก็ตาม ศัสตราก็ตาม ย่อมไม่ทำอันตราย

            8.ตุวฏํ จิตฺตํ สมาธิยติ จิตย่อมตั้งมั่นเป็นสมาธิได้สะดวก

            9.มุขวณฺโณ วิปฺปสีทติ ผิวหน้าและผิวพรรณ ย่อมผ่องใส

            10.อสมฺมุฬโห กาลํ กโรติ ย่อมไม่หลงใหลในเวลาใกล้ตาย

            11.อุตฺตริ อปฺปฏิวิชฺฌนฺโต พฺรหฺมโลกูปโค โหติ เมื่อยังไม่บรรลุธรรมวิเศษในเบื้องสูง ย่อมเป็นผู้เข้าถึงพรหมโลก

 

ประโยชน์ของการไหว้พระสวดมนต์

1.ไล่ความขี้เกียจ ขณะสวดมนต์ อารมณ์เบื่อเซื่องซึมง่วงนอน เกียจคร้าน จะเกิดความแช่มชื่นกระฉับกระเฉงขึ้น

2.ตัดความเห็นแก่ตัว เพราะขณะนั้นอารมณ์ของเราไปหน่วงอยู่ที่การสวด ไม่ได้คิดถึงตัวเอง ความโลภ โกรธ หลง จึงไม่ได้กล้ำกรายเข้าสู่วาระจิต

3.ได้ปัญญา การสวดมนต์โดยรู้คำแปล รู้ความหมายย่อมทำให้ผู้สวดได้ปัญญาความรู้แทนที่จะสวดแจ้ว ๆ เหมือนนกแก้วนกขุนทอง โดยไม่รู้อะไรเลย เป็นเหตุให้ถูกค่อนว่าทำอะไรโง่ ๆ

4.จิตเป็นสมาธิ เพราะขณะนั้นผู้สวดต้องสำรวมใจ แน่วแน่ มิฉะนั้นจะสวดผิดได้หน้าลืมหลัง เมื่อจิตเป็นสมาธิ ความสงบเยือกเย็นในจิตจะเกิดขึ้น

5.ได้เฝ้าพระพุทธเจ้า เพราะขณะนั้นผู้สวดมีกายวาจาปกติ (มีศีล) มีใจแน่วแน่ (มีสมาธิ) มีความรู้ระลึกถึงคุณความดีของพระพุทธเจ้า (มีปัญญา) เท่ากับได้เฝ้าพระองค์ด้วยการปฏิบัติครบไตรสิกขาอย่างแท้จริง

6.เป็นการสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา เพราะคำที่สวดล้วนเป็นข้อปฏิบัติเมื่อปฏิบัติได้ผลเป็นความสะอาด สว่างสงบ นั่นก็คือ พระศาสนายังคงมีอยู่

 

การเดินจงกรม

การปฏิบัติวิปัสสนา สมาธิของพระพุทธเจ้านั้น ต้องเดินจงกรม ก่อนนั่งสมาธิทุกครั้ง

            ถ้าจะนั่งสมาธิ 5 นาที ต้องเดินจงกรมก่อน 5 นาที

            ถ้าจะนั่งสมาธิ 15 นาที ต้องเดินจงกรมก่อน 15 นาที

            ถ้าจะนั่งสมาธิ 30 นาที ต้องเดินจงกรมก่อน 30 นาที

            ถ้าจะนั่งสมาธิ 1 ชั่วโมง ต้องเดินจงกรมก่อน 1 ชั่วโมง

            ที่ประเทศอินเดีย มีที่เดินจงกรมอยู่ใกล้คันธกุฎีของพระพุทธเจ้าในวัดเชตวันมหาวิหาร

 

ประโยชน์ของการเดินจงกรม

1.อาพาธน้อย (ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย)

2.ย่อยอาหาร (ระบบการย่อยอาหารดี)

3.นานในสมาธิ (ทำให้สมาธิตั้งมั่นอยู่ได้นาน)

4.ผลิความเพียร (ทำให้มีความพากเพียร)

5.เป็นเซียนในการเดินทาง (ทำให้อดทนในการเดินทางไกล)

ก่อนเดินจงกรม ให้ยืนตัวตรงอย่าก้มหน้าดูเท้า ให้ทอดสายตาไปข้างหน้าประมาณ 4 ศอกมือทั้งสองไขว่ข้างหน้าหรือไขว้ไว้ข้างหลังตามแต่สะดวก ให้ภาวนาในใจว่า “ยืนหนอ ๆ” (3 ครั้ง ) “อยากเดินหนอ” ( 3 ครั้ง)

การเดินจงกรมมี 6 จังหวะ คือ

1.ขวาย่าง-หนอ, ซ้ายย่าง-หนอ

2.ยก-หนอ, เหยียบ- หนอ

3.ยก-หนอ, ย่าง – หนอ, เหยียบ – หนอ

4.ยกส้น-หนอ, ยก – หนอ, ย่าง – หนอ, เหยียบ – หนอ

5.ยกส้น-หนอ, ยก – หนอ, ย่าง – หนอ, ลง – หนอ, เหยียบ – หนอ

6.ยกส้น-หนอ, ยก – หนอ, ย่าง – หนอ, ลง – หนอ, ถูก – หนอ, กด – หนอ

 

ต่อไปนี้จะได้ยกตัวอย่าง การเดิน จังหวะที่ 1

การเดินจังหวะที่ 1 มี 1 หนอ เมื่อก้าวเท้าขวา ให้ภาวนาในใจว่า “ขวา” ให้จิตมาสัมผัสที่ฝ่าเท้าขวา เตรียมตัวไว้ยังไม่ก้าว

เมื่อก้าวเท้าขวาออกไป ให้ภาวนาในใจว่า “ย่าง” เมื่อวางแผ่นเท้าจดพื้น ให้ภาวนาว่า “หนอ”

เมื่อก้าวเท้าขวาออกไป ให้ภาวนาในใจว่า “ย่าง” เมื่อว่างแผ่นเท้าจดพื้น ให้ภาวนาว่า “หนอ”

เมื่อจะก้าวเท้าซ้าย ให้ภาวนาในใจว่า “ซ้าย” ให้จิตมาสัมผัสที่ฝ่าเท้าซ้าย เตรียมตัวไว้ยังไม่ก้าว เมื่อก้าวเท้าซ้ายออกไป ให้ภาวนาในใจว่า “ย่าง” เมื่อวางแผ่นเท้าซ้ายจดพื้นให้ภาวนาในใจว่า “หนอ”

การเดินจังหวะ 1 จึงภาวนาในใจว่า “ขวาย่างหนอ” ซ้ายย่าง – หนอ” เมื่อเดินไปสุดฝาห้อง หรือสุดระยะทางที่กำหนดไว้ให้หยุด แล้วภาวนาว่า

“ยืน – หนอ ๆ ”  ( 3 ครั้ง)

“อยากกลับ – หนอ ๆ” ( 3 ครั้ง)

การกลับตัวให้หมุนกลับทางขวา โดยยกปลายเท้าขวาแล้วหมุนตัวด้วยส้นเท้าขวาพร้อมกับภาวนาในใจว่า “กลับ” ยกปลายเท้าขวา

“หนอ” หมุนเท้าขวาไปหยุดในระยะประมาณ 1 ฝ่ามือแล้วภาวนาว่า

“กลับ” ยกปลายเท้าซ้าย

“หนอ” หมุนส้นเท้าซ้ายตามเท้าขวาไปในระยะเท่ากัน

ให้ภาวนา “กลับ – หนอ” สลับเท้าขวาครั้งหนึ่ง เท้าซ้ายครั้งหนึ่งคงภาวนา

“กลับ – หนอ” เรื่อย ๆ ไปจนกว่าจะหมุนกลับไปตรงกับทิศทางที่เราเดินทาง แล้วภาวนาว่า “ยืน – หนอ ๆ” ( 3 ครั้ง)

“อยากเดิน – หนอ” ( 3 ครั้ง)

แล้วภาวนา “ขวาย่าง – หนอ” “ซ้ายย่าง – หนอ” เดินกลับไปกลับมาจนครบเวลาที่กำหนดไว้

เห็นว่าบทความนี้มีประโยชน์ โปรดแชร์....