บทบรรยาย เสียงปลุก เล่านิทานยามเช้า

      ปิดความเห็น บน บทบรรยาย เสียงปลุก เล่านิทานยามเช้า

เสียงปลุก ยามเช้า
(เวลา ๔๕ นาที)

เพลงบรรเลง mp3
นำเรื่อง 
            สุริโยทัย ไขแสง ใกล้แจ้งแล้ว 
        ฝูงวิหก ร้องเจื้อยแจ้ว แสวงหา 
        ซึ่งอาหาร ทะยานไป ในนภา
        หมู่ปักษา ยังขยัน หมั่นหากิน 
            เพื่อนที่รัก จะซบนอน อยู่ใยเล่า
        ตื่นแต่เช้า เพื่อเกลาจิต เป็นนิจสิน 
        แสวงหาธรรม พระสัมมา เป็นอาจิณ 
        ชำระล้าง ซึ่งมลทิน ออกจากใจ 
            อายุไข ในมนุษย์ นี้น้อยนัก 
        อย่าช้าชัก จะเกินกาล สุดแก้ไข 
        เพราะบ้างคน อาจตาย ก่อนถึงวัย 
        มรณะภัย นี้ไม่รอ ให้ต่อรอง
            เป็นมนุษย์ สุดแสนดี มีโอกาส 
        มีปัญญา เฉลียวฉลาด กว่าสัตว์ทั้งผอง 
        ขอวิงวอน   พุทธบุตร  ให้ไตร่ตอง 
        ยึดพระธรรม ประครองไว้  กับดวงใจ 
            เป็นอุปนิสัย เป็นปัจจัย ไว้ภายหน้า
        เป็นปัญญา เป็นบารมี    ชี้แจ่มใส 
        เพื่อไม่หลง   เพลิดเพลิน   ที่เดินไป 
        เชิญพุทธบุตร ทั้งหลาย  รับสดับธรรม
    เมื่อฟ้าไร้แสงเดือนตะวัน ดาวอันอาภัพแสงก็จะย่างเข้าเยือนเป็นเพื่อนทุกข์ แต่พอเดือนตะวันเข้าครองน่านฟ้า เจ้าดาวก็ถูกลืม แต่ถึงแม้ใครจะลืม ฟ้าจะมืดหรือสว่าง ดาวก็จะเฝ้าจ้องดูเขาอยู่ชั่วนิจนิรันดร์ โอ ! เหมือนตาพ่อตาแม่ไม่ผิดแล้ว 
     ยามมีคนฉอเลาะให้ชื่นใจ พ่อแม่ก็เหมือนดาวกลางแสงเดือนตะวัน เพียงได้รับคำข้าวที่คนถูกใจเขาประจงป้อนสักช้อนเดียวเท่านั้นก็พลันลืมทุกอย่าง แม้กระทั่งชื่อพ่อชื่อแม่ อนิจจาเอ๋ย! ทำไมไม่คิดบ้างว่ากว่าจะโตมารับป้อนจากผู้อื่นได้นั้น พ่อแม่ช่วยกันประจงป้อนมากี่พันกี่แสนช้อน แต่ถึงคราวสิ้นไร้, โผเข้ามาเถอะ ลูกเอ๋ย, เอ้า ! ร้องไห้อยู่กับอกแม่ตักพ่อนี่แหละ อย่ากระดากใจเลยว่า ครั้งหนึ่งเจ้าเคยลืมพ่อลืมแม่ เอ้า ! ร้องเข้าไป หากว่ามันจะช่วยให้หายทุกข์ได้ อกแม่ตักพ่อจะขอเป็นภาชนะรองน้ำแห่งความระทมทุกข์ให้แก่ลูก เอ้า ! ร้องเถิดเพราะน้ำตา เขาว่ามันเป็นสิ่งฟอกความโง่ของคนได้ดีนัก ร้องเถิดลูกเอ๋ย ! 

เวฬุวันขวัญชีวิต 
     บรรดาขัติยะ ตกเป็นหนี้กระแตน้อย เพราะเจ้าช่วยให้พ้นจากอสรพิษ กลายเป็นแดนชำระหนี้หทัยด้วยอำนาจกตเวที เวฬุวันสะอาดจากเวร ยอดขุนพลของจอมโยธาธรรม พบทางพ้นจากป่าชัฏแห่งชีพ รีบละลัทธิมายา  พามิตรบริวารเข้าสู่เวฬุวัน สะอาดจากมายามลทิน เสียงไผ่เหมือนดังครวญ กลิ่นลำดวนทิพย์มณฑาแจ้งๆ แว่วลอยมา สกุณาเจ้ากล่อมไพร 
     อาศรมในเงาลำเนาพฤกษ์ เกิดขึ้นด้วยหัตถ์ศรัทธาจอมไผท ไร้สำเนียงอึ้งฉาว เร้าอารมณ์ ผงมแต่ความเงียบ เวฬุวัน ถิ่นสงบ สง่าตระหง่าน ปานเทพสภา ยามสายัณห์เวลา คลาคล่ำไปด้วยฝูงชนผู้ใฝ่ธรรม ชวาลาวะวับวาม แต่ยังด้อยกว่าสำเนียงพระพุทธองค์ เวฬุวัน ถิ่นสว่าง 
              เวฬุ วนาศรม ช่างรื่นรมย์ นี่กระไร 
         ทิพา ผ่องอำไพ แต่ว่าไร้ อำนาจรน 
         รัตติ กาลสมัย ก็สิ้นไร้ ความมัวมนธ์ 
         เชิญเถิด สาธุชน สู่เวฬุ วนาราม 
         จะสุข และสดชื่น ชีพจะยืน ทุกโมงยาม 
         เพราะพบ ทางอันงาม มัชฌิม ปฏิปทา ฯลฯ     (กวีต้อย) 

เสียงปลุก (เรื่อง กุมภโฆษก)
     ณ ถนนสายนั้น ยังมีมูลดินเสริมใหม่ๆ ตัดผ่านเข้าไปในหมู่บ้านร้าง ซึ่งกลายสภาพเป็นสุสานมานานปี สิ่งที่เหลือส่อให้ทราบว่า มันเคยมีอดีตที่ไม่สงัดเหงาเศร้าสร้อยดังขณะนี้ ก็คือซากคฤหาสน์ที่ตั้งอยู่ท่ามกลางกระท่อมและอาคารขนาดย่อมซึ่งมีอยู่มากล้วนแต่ไร้ประโยชน์ นอกจากจะเป็นวัตถุพยานให้ย้อนระลึก ไปถึงความวิปโยคหายนะของหมู่บ้านแห่งนี้ ว่าเมื่อสิบสองปีมาแล้วมันถูกโรคระบาดผลาญให้กลายเป็นสุสานบ้านร้างไป 
     พระราชาพิมพิสาร ได้เฝ้าทรงคำนึงถึงความสำคัญของหมู่บ้านแห่งนี้อยู่เสมอ เพราะมันอยู่เพียงชานนครเป็นเสมือนรอยพิการในเรือนร่างที่สมบูรณ์ของกรุงราชคฤห์ จึงทรงปรารภมานานแล้วที่จะบูรณะพัฒนา ให้คงคืนสู่สภาพปรกติเสียที แต่ยังติดขัดอยู่ที่ความเชื่อ ที่สืบเนื่องมาแต่โบราณว่าพื้นที่อย่างนี้จะต้อง ปล่อยทิ้งไว้เกินสิบสองปีก่อน แล้วจึงควรใช้เป็นแหล่งพำนักอาศัยได้ เลยต้องถูกทอดทิ้งมาจนบัดนี้ 
     บัดนี้ สิบสองปีได้ล่วงไปแล้ว หมู่บ้านนี้จึงถูกกำหนดเป็นถิ่นบูรณะพัฒนาและการชักชวนประชาชนให้มาตั้งหลักแหล่งก็ไม่เป็นการยากอีกต่อไป เพราะทุกคนเลิกหวาดกลัวการกำเริบของโรคปีศาจนั่นแล้ว จึงไม่ช้าอาคารบ้านเรือนก็เกิดขึ้นตามบริเวณที่ทรงกำหนดอนุญาต ทั้งนี้ก็เพื่อให้เป็นไปตามแผนผังที่จัดไว้เป็นเครื่องสงเคราะห์แก่ระเบียบความงาม และพระประสงค์เพื่อให้เจริญอย่างรวดเร็ว จึงเอาพระทัยฝักใฝ่เป็นพิเศษ ทรงสร้างตำหนักฤดูร้อนขึ้นที่นี่และเสด็จออกมาพักแรมอยู่เพื่อประทานขวัญแก่ชาวประชาที่อพยพมาใหม่ ซึ่งเป็นผลสมพระทัยอยู่มาก 
     ร่างสองร่าง โผล่ออกจากเงากำแพงพระตำหนักฤดูร้อน พากันเดินไปตามถนนสายนั้น ด้วยอาการเรื่อย ๆ ช้าๆ ทั้งสองมิได้เดินเคียงกันอย่างควรจะเป็น คนหลังเป็นสตรีอยู่ห่างจากบุรุษที่เดินหน้า พอจะเป็นที่สังเกตได้ว่า คนทั้งสองอยู่ในฐานะต่างกัน พระราชาพิมพิสารกับนางสนมนั่นเอง 
     แสงอรุณลำแรก เพิ่งจะฉายขอบฟ้า สีดำมืดของกลางคืน ที่ตีนฟ้าด้านตะวันออก เริ่มสางขึ้นเรืองๆ น้ำค้างยามอรุณโรงละอองหนาขึ้น ทำให้อากาศเพิ่มความเย็น แม้ไก่ก็ยังไม่ยอมโก่งคอขัน ดาวประกายพฤกษ์  เปล่งรัศมีแจ่มจ้าอยู่เหนือแสงสีทองที่ซ่านสูงขึ้นทุกขณะ 
     ทั้งเจ้ากับข้า ยังคงเดินเรื่อยๆ ผ่านสิ่งปลูกสร้างใหม่ๆ ไปโดยลำดับ บางครั้งก็หยุดพิจารณาสิ่งที่สะดุดตาตามระยะทาง ในยามนี้คนที่เห็นที่นอนเป็นสวรรค์ ก็มักจะไม่เห็นประโยชน์ของอากาศยามรุ่ง แต่พระเจ้าพิมพิสาร ทรงถือเอาเป็นเวลาเสด็จตามปรกติ 
     เมื่อเสด็จผ่านถึงตอนที่มีบ้านหลังใหญ่ตั้งอยู่พระองค์มักจะชลอบาท ประทับยืนสงบไปชั่วขณะและในชั่วเวลาที่ทรงสงบนั้น ดูเหมือนทุกสิ่งทุกอย่างจะพลันสงัดราวกับโลกจะหลับลงไปอีก และแล้วในสายลมที่ครางแผ่วอยู่บนยอดไม้ก็มีเสียงแหวกความเงียบออกมาจากกระท่อมเล็กๆ อันตั้งอยู่ลึกเข้าไปสุดลานบ้าน เปล่า, ไม่ใช่เสียงไก่หรือดุเหว่าเจ้าเวลา แต่มันเป็นเสียงมนุษย์ มันก้องไปในอากาศ มีกังวานแจ่มใส ราวกับเป็นสัญญาณเบิกอรุณ  “อุ. อา. ก. ส…อุ. อา. ก. ส…อุ. อา-อุทัยแล้ว ตื่นเถิด ได้เวลาทำงานแล้ว ท่านทั้งหลายเอ๋ย”  แล้วต่อมาไก่กับเจ้าดุเหว่าเสียงหวานก็พลอยผสม 
     มันดังอยู่เพียงเท่านี้ ซ้ำๆ กันอยู่ทุกคราอรุณ แต่นางสนมผู้ตามเสด็จ ก็ได้เห็นเจ้าชีวิตของนาง ประทับนิ่งราวกันเสียงนั้นเป็นเสียงสาปทุกครั้ง ต่อมาก็ได้ยินพระดำรัสว่า “นั่นเป็นเสียงคนเจ้าทรัพย์” แล้วก็เสด็จดำเนินต่อไป 
     วันแรกๆ เสียงนั้น ก็พอจะทำให้นางสนใจอยู่บ้าง แต่บัดนี้ เมื่อได้ยินพระดำรัสอีกนางก็ซ่อนยิ้มเหมือนจะแกมเยาะด้วย เพราะนางได้ส่งคนไปสืบดูเจ้าของเสียงนั้นแล้ว เขาเป็นคนพเนจร ไม่มีใครรู้ว่ารกรากถิ่นฐานเดิมเขาอยู่ที่ไหน และบัดนี้เขาจะเป็นคนเจ้าทรัพย์ได้อย่างไร ในเมื่อฐานะของเขาสูงกว่าวณิพกนิดเดียว ที่ไม่ต้องร้องเพลงแลกอาหาร แต่เปลี่ยนเป็นรับจ้างปลุกทาสให้ลุกขึ้นทำงาน เขาทำหน้าที่ได้เหมาะดีหรอก เพราะเสียงของเขาดังก้องไปไกล ใครได้ยินแล้วจะยังขืนนอนอยู่อีกไม่ได้ ใครๆ ก็พากันตั้งชื่อให้เขาว่า “กุมภโฆสก” 
     วันนี้ นางได้ยินพระดำรัสเช่นนี้อีก นิสัยอวดฉลาดประกอบกับความรู้สึกหมั่นไส้ ทำให้นางลืมเจียมฐานะ ทูลขัดออกไปทันทีว่า 
     “เขาเป็นคนกำพร้าคนหนึ่งเท่านั้น เพคะ !” 
     “งั้นรึ !” ตรัสด้วยสำเนียงยั่วๆ “คนกำพร้าเป็นเศรษฐีก็ถมไปนี่นะ” 
     “แต่หม่อมฉัน ส่งคนไปสืบดูรู้แล้วเพคะ! เขารับจ้างปลุกคนงานในบ้านนั้น” 
     “เสียงปลุก ให้ลุกขึ้นทำงานนั่นแหละ เป็นสัญญาณของเศรษฐีละ เพราะคนร่ำรวยได้เพราะการทำงาน ไม่ใช่เพราะการเห็นแก่ความอบอุ่นในที่นอน อากาศเช้า ฟ้าสีทอง ใกล้รุ่ง ขจัดเสนียดอัปมงคลของมนุษย์ดีนัก ใครตื่นนอนทันรับแสงอรุณได้ทุกวันๆ อย่างชายผู้นี้แล้ว เป็นเจริญ” 
     “แต่ขณะนี้ เขาเป็นคนอนาถานะเพคะ!” นางเถียงอย่างไม่ยอมลดละ 
     “คนอนาถา เพราะเหตุไร้ที่พึ่ง ไม่ใช่เพราะไร้ทรัพย์” 
     ตรัสเปรยๆ เป็นปริศนา ทำให้นางสนมปากกล้ายืนงง ทรงเห็นอาการของนางก็ยิ้มสัพยอก “ชอบเป็น เศรษฐีกะเขาบ้างไหมล่ะ?  ถ้าชอบก็อย่านิ่งเป็นซากอย่างนั้นซิเจ้า ออกเดินกันเถอะ” แล้วเสด็จนำต่อไปพร้อมกับทรงอุทาน “ความเกียจคร้านเป็นความมรณะแห่งกาลเวลา เป็นมหาโจรปล้นชีวิต” 
     แม้ฟ้าจะไม่สว่าง เพราะอำนาจเสียงปลุกนั้นก็จริง ดวงทิวาที่เยี่ยมพักตร์ขึ้นมาเหนือขอบโลกนั้นต่างหาก ที่แผ่แสงเปิดพิภพ สกุณาปักษาร่อนผ่าน โผไปสู่แหล่งที่อุดมด้วยอาหาร แต่ภาพคนงานในบ้านหลังใหม่นั้น ต้องเกิดขึ้นเพราะเสียงปลุกแน่ ในเมื่อดวงตะวันให้ความสว่างแก่โลกได้ แต่จะปลุกคนเกียจคร้านให้ลุกขึ้นทำงานเหมือนเสียงปลุกของกุมภโฆสกนั้นไม่เคยสำเร็จ ปศุสัตว์ถูกปล่อยจากคอก แล้วก็บ่ายหน้าไปสู่ทุ่งหญ้าอันเขียวสด โคถูกคนงานจูงออกเทียมกับแอกเกวียน แล้วต่อมาก็ก่อให้เกิดเสียงเอี๊ยดอ๊าด ระงมกับเสียงกระดึงที่คอโค ไปสู่ที่โน่น ที่นั่นสุดแต่จะมีธุรกิจคอยอยู่ คนงานบางส่วนก็กำลังทำความสะอาดคอกปศุสัตว์ และสัตว์พาหนะ เสียงภาชนะกระทบกันดังรอดออกมาถึงภายนอก ควันอันเกิดจากการปรุงอาหาร ลอยอ้อยอิ่งขึ้นเหนือหลังคาเรือนไปทุกบ้าน ทุกเรือน อา…ตื่นแล้ว ! 
     นับแต่ได้ทูลขัดเจ้าชีวิต ไม่ว่าจะทำอะไร ? อยู่ที่ไหน ? และเวลาใด ? เสียงอันมีกังวานประหลาดนั้นแว่วอยู่ในมโนสำนึกของนางสนมตลอดกาล พระดำรัสของเจ้าชีวิต จะเป็นการอุทานทัก หรือวิจารณ์ได้ตอบก็ตาม ยังฟังเอาเป็นหลักฐานไม่ได้ ว่าทรงหมายถึงกระแสสำเนียงหรือเพียงแต่ให้เป็นปริศนาธรรม ดังที่ผู้มีการศึกษานิยมใช้กันอยู่ แต่ความว้าวุ่นที่หนักไปทางช่วยให้มั่นใจ ก็คือเจ้าชีวิตของนาง ต้องไม่ตรัสอะไรเหลวไหลแน่ๆ 
     ความเป็นคนกำพร้าอนาถาของกุมภโฆสก อาจจะเป็นเครื่องอำพรางวาสนาของตนต่อผู้อื่นได้ แต่สำหรับต่อเจ้าชีวิตจะได้หรือ ? เพราะพระกิติคุณของท้าวเธอ เป็นที่ทราบกันดีอยู่ข้อหนึ่งว่า ทรงสามารถในเชิงสัทศาสตร์เป็นเยี่ยมยอด แม้กระทั่งสดับเสียงนกเสียงกา ก็รู้ความหมาย ก็เสียงอย่างกุมภโฆสก จะยากอะไรสำหรับพระองค์ ? 
     “ถ้าเขาเป็นเศรษฐีในคราบของยาจกจริงแล้วที่ฐานะที่แท้ของเขา ควรจะถูกเปิดเผยเพราะเรา นามสนมคิดตกลงใจหลังจากทบทวนเห็นอะไรชัดเจนแล้ว แน่ละ ! นางคิดตามวิสัยข้าที่รักเจ้า, แม่ที่รักลูกและคนที่ไม่ชังทรัพย์ ฉะนั้น นางจึงกราบทูลเจ้าชีวิตรับอาสาที่จะนำตระกูลเศรษฐีมาเพิ่มพระบารมีอีกสักตระกูลหนึ่ง แต่ขอพระราชทานทรัพย์หนึ่งพันกหาปณะ, ทรงพระสรวล เมื่อได้สดับคำทูลอาสาของนาง” 
     “อะไรกัน ! นี่ยังไม่ลืมเสียงปลุกนั้นอีกหรือ ? เจ้าคนปากกล้า” 
     “ยังเพคะ ! หม่อมฉันคิดหาทางอยู่ทุกคืนวันว่าทำอย่างไรจึงจะสามารถนำเขามาสู่พระบารมีได้ บัดนี้คิดตกแล้วเพคะ ! แต่ต้องขอพระราชทานหนึ่งพันเพคะ !” 
     “ไม่น้อยไปหรือสำหรับราคาความตั้งใจอันสูงส่งของเจ้า” นางรู้ทันทีว่านั่นเป็นวิธีประชดยั่วเย้า 
     “แต่ไม่แพงนะเพคะ! ที่จะแลกกับตระกูลอันมั่งคั่งที่จะมาเพิ่มพระบารมีอีกตระกูลหนึ่ง” 

     “เอาละ เอาละ ! ตกลง” ทรงผ่อนตาม “ข้าอยากจะรู้เหมือนกันว่า ผู้หญิงอย่างเจ้า นอกจากปากเก่งแล้ว ยังจะทำอะไรได้บ้าง แต่เจ้ามีวิธีการอย่างไรรึ ?” 
     “เป็นความลับเพคะ” นางทูลแล้วหัวเราะ 
     “ชะ ! สำคัญ นางแสนกล” ทรงสัพยอก “แต่เจ้ารู้ความหมายนั่นดีรึ ? เสียงปลุกน่ะ !” 
     “ไม่ทราบเกล้าเพคะ !” 
     “ปัญญาอย่างเจ้า ก็ดีแต่เอาไว้คิดวางเล่ห์ดักผู้ชาย ถึงเรื่องราวที่เป็นสาระแล้วไม่เห็นได้ความ” ทรงสรวลอีก เมื่อเห็นนางสนมสะดุ้ง “ข้าจะบอกให้รู้ไว้บ้างพอเป็นเครื่องช่วยในการวางอุบายของเจ้า เจ้าของบ้านที่กุมภโฆสกไปอยู่นั้น ชะรอยจะเป็นสาวกของพระสมณโคดม จึงกำหนดให้เขาใช้ คำว่า อุ. อา. ก. ส. นี้ ปลุกทาส 
     อุ. คือความขยันหมั่นเพียรในกิจการงาน อา. คือความคุ้มครองรักษาสมบัติ ก. คือ การเลือกคบแต่คนดีมีศีลธรรมเป็นมิตร ส. คือการเลี้ยงชีวิตให้เหมาะสมสภาพฐานะ ไม่ขี้เหนียวจนเดือดร้อนฝืดเคือง และไม่สุรุ่ยสุร่ายในการจ่าย เรียกว่าประหยัด ธรรม ๔ ประการนี้ พระสมณโคดมทรงแสดงสำหรับบุคคลที่ต้องการจะเป็นเศรษฐี อุ. อา. ก. ส. ใครภาวนาไว้เป็นนิจแล้วจะไม่ยากจน” นางสนมชักจะง่วงๆ นอน ทรงสังเกตเห็นก็ส่ายพระพักตร์ 
      “หน้าอย่างเจ้า ก็เห็นเหมาะที่จะอยู่เป็นทาสเขาชั่วชีวิต ไปจัดการเอาตามประสงค์” 
     ชีวิตมีธรรมดาของมันอยู่อย่างหนึ่ง คือนอกจากดิ้นรนเพื่อลมปราณแล้ว ยังดิ้นรนเพื่อแข่งขันกัน จะเป็นอยู่ต่างชั้นต่างฐานะกันอย่างไร ก็แข่งกันตามวิสัยแห่งชั้นเชิงเท่าที่ตนครองอยู่ ยาจกก็แข่งขันกับยาจกด้วยกัน ที่จะได้รับส่วนทานให้มาก โจรก็แข่งขันกันปล้น พาณิชก็แข่งกันหากำไร พระราชาก็แข่งขันกันบันลือวาสนาบารมี ตระกูลเศรษฐีเป็นเครื่องวัดวาสนาบารมีได้อย่างหนึ่ง ฉะนั้นการสะสมตระกูลเศรษฐีไว้ประดับแว่นแคว้น จึงเป็นเศรษฐีกรีฑาของกษัตริย์ แคว้นใดมีตระกูลเศรษฐีไว้มาก ก็ภาคภูมิว่ามีอำนาจวาสนาสูง หากแคว้นใดไม่มี ก็ถือว่าเป็นกษัตริย์อนาถา น่าอัปยศต้องพยายามให้มี มีแล้วแต่ยังน้อย ก็พยายามมีให้มาก สงครามระหว่างแคว้น จะประกาศว่าเกิดเพราะเหตุอะไรก็ตาม แต่สาเหตุอันเป็นมูลฐานของสงครามแล้ว ส่วนมากก็เพราะเหตุนี้ทั้งนั้น ? 
     พระเจ้าพิมพิสาร เป็นกษัตริย์ที่อุดมวาสนาพระองค์หนึ่ง เพราะแคว้นมคธของพระองค์มีเศรษฐีอยู่หลายคน ครั้งหนึ่งเคยเจือจานแบ่งไปถวายพระเจ้าปเสนทิแห่งโกศลรัฐ ซึ่งเป็นภัสดาภคินีแห่งกันและกันอยู่ คือท่านธนญชัยเศรษฐี ซึ่งไปตั้งหลักฐานอยู่ระหว่างนครทั้งสอง คือ สาเกตเมืองของเบญจกัลยาณี วิสาขา อันเป็นบุตรีของท่านธนญชัยนั่นเอง ซึ่งภายหลังได้เป็นอุบาสิกาสำคัญยิ่งผู้หนึ่งในพุทธศาสนา ฉะนั้น การที่นางสนมรับอาสาครั้งนี้ จึงเป็นที่ต้องพระทัยของพระเจ้าพิมพิสารอยู่

>>>>> จบ >>>>>

กราบขอบพระคุณ หลวงตาแพรเยื่อไม้  (บทบรรยาย)

ดาวน์โหลดสื่อการสอน

เห็นว่าบทความนี้มีประโยชน์ โปรดแชร์....