บทบรรยาย รำลึกความดี

      ปิดความเห็น บน บทบรรยาย รำลึกความดี

บทบรรยาย รำลึกความดี
(เวลา ๓๐ นาที)
@@@@@@@@@

MV การทำความดี

เพลงบรรเลง mp3

อะไรคือความดี อะไรคือความชั่ว
                        "ทำความดีตลอดชาติไม่เพียงพอ   ทำความชั่วเพียงวันเดียวก็เหลือหลาย

                        จงรักษาความดีที่มีอยู่  หยุดทำในสิ่งไม่ดี เสียตั้งแต่วันนี้”

          เรื่องความดีความชั่วจัดเป็นเรื่องยากเรื่องหนึ่ง ที่จะรู้และเข้าใจ เมื่อรู้และเข้าใจแล้วก็ยังยากที่จะปฏิบัติการเว้นความชั่ว ทำความดีให้สมบูรณ์ได้ ทั้งนี้เพราะมีองค์ประกอบหลายอย่างที่ทำให้ปฏิบัติไม่ได้ สมความต้องการและปฏิบัติไม่ได้เสมอไป

          ตามหลักพุทธศาสนา ถือว่า การกระทำ คำพูดหรือความคิดที่เป็นไปเพื่อไม่เบียดเบียนตนและผู้อื่นให้เดือดร้อนและมีประโยชน์ ถือว่าเป็นความดี ที่ตรงกันข้ามเป็นความชั่ว ที่กล่าวมานี้เป็นหลักกว้าง ๆ อาจมีข้อปลีกย่อยอื่น ๆ อีกที่จะต้องทำความเข้าใจพิเศษอีกมากมาย

          ในองค์ประกอบดังกล่าวข้างต้นนั้นถือเอาประโยชน์เป็นจุดยืนที่สำคัญ คือเมื่อพิจารณาเล็งถึงประโยชน์แล้ว แม้ตนเองจะต้องเดือดร้อนบ้าง ผู้อื่นเดือดร้อนบ้างก็ถือว่าเป็นความดี เช่น พ่อแม่ต้องเดือด ร้อนเหนื่อยยากในการทำมาหาทรัพย์เพื่อให้ลูกได้ศึกษาเล่าเรียน
          ตัวลูกเองก็ต้องเดือดร้อน ทุกข์กายทุกข์ใจในการศึกษาเล่าเรียน ต้องอดทนอดออม ต้องหักใจไม่ให้หลงใหลเพลิดเพลินในการเที่ยวเล่น เอาเวลาเหล่านั้นมาศึกษาเล่าเรียน แต่การกระทำดังกล่าวนี้มีคุณประ โยชน์ทั้งในปัจจุบันและอนาคตจึงเป็นความดี

          ในทางกลับกัน สิ่งที่ทำให้ตนเองและผู้อื่นมีความสุข ความเพลิดเพลิน แต่ไม่มีประโยชน์ กลับจะเป็นโทษทั้งแก่ตนและผู้อื่น เช่น การแสวงหาความสุขจากอบายมุขต่าง ๆ ถือว่าเป็นความชั่ว

          พิจารณาตามหลักที่สูงขึ้นไปสักหน่อย มาตรฐานแห่งความดี ความชั่ว ท่านถือเอา ความโลภ โกรธ หลง และไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง เป็นหลักพิจารณา คือกรรมใดที่ทำเพราะโลภ โกรธ หลง เป็นมูล จัดเป็นกรรมชั่ว ถ้าทำด้วยความไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง เป็นมูล คือทำด้วยเหตุผลบริสุทธิ์จัดเป็นกรรมดี

          โลภ โกรธ หลง เป็นอกุศลมูล รากเหง้าของอกุศล ความไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง เป็นกุศลมูล รากเหง้าของกุศล ท่านว่าเมื่อกุศลมูลเกิดขึ้นแล้ว กุศลอย่างอื่นที่ยังไม่เกิดขึ้นก็เกิดขึ้น ที่เกิดแล้วก็เจริญยิ่งขึ้น ฝ่ายอกุศลมูลก็เช่นเดียวกัน
 

เรื่องการทำดีไม่ได้ดี

             เรื่องนี้เป็นปัญหาค้างใจของคนส่วนมากอยู่ หรืออย่างน้อยก็ลังเลสงสัยว่าทำดีได้ดีจริงหรือไม่ ? จนถึงกับบางคนพูดว่า "ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป" ดังนี้เป็นต้น ที่มีความรู้สึกเช่นนี้ อาจเป็นด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้

             ๑. ทำความดีเพียงเล็กน้อย แต่ต้องการผลมาก คือ ต้องการผลเกินเหตุที่ทำ จึงทำให้รู้สึกทำดีไม่ได้ดี หรือได้ดีน้อยไป
             ๒. ไม่รู้จักรอคอยผลแห่งความดีที่ตัวทำ อยากได้ผลเร็ว ๆ เมื่อความดีที่ทำให้ผลช้า ก็ไม่ทันใจจึงทึกทักเอาว่าทำดีไม่ได้ดี
             กรรมที่ทำพร้อมกัน อาจให้ผลก่อนบ้างหลังบ้างเหมือนต้นไม้ต่างชนิดกัน เราปลูกวันเดียวกัน เป็นต้นว่ามะม่วงกับมะละกอ มะละกอย่อมให้ผลก่อนแต่ไม่ยั่งยืน ส่วนมะม่วงให้ผลช้าแต่ยั่งยืน เพราะฉะนั้น ผู้ทำความดีจึงควรหัดเป็นคนใจเย็น รู้จักรอคอย
             ๓. ทำความดีไม่พอดี หมายถึง ทำขาดไปบ้าง ทำเกินไปบ้าง คือ ขาดความพอดีในการทำดี เมื่อขาด ความดีก็ไม่สมบูรณ์ เมื่อเกินก็ล้นไป เสียประโยชน์ ไม่ว่าการทำดีหรือทำอะไรทั้งสิ้นจะต้องพอดีจึงจะดีแท้
             ตัวอย่างเช่นเสื้อผ้าต้องพอดีกับผู้สวมใส่ อาหารก็ต้องพอดีของแต่ละมื้อ และได้สารอาหารต่าง ๆ ตามที่ร่างกายต้องการแต่พอดี ไม่มีสารใดเกินสารใดขาด จึงจะทำให้ร่างกายแข็งแรงเจริญเติบโตและต้านทานโรคได้ดี         

            เพราะฉะนั้น จึงต้องทำความดีแต่พอดีกับบุคคลนั้น ๆ กรณีนั้น ๆ ไม่ให้มากเกินไป หรือน้อยเกินไป ไม่น้อยจนไม่พอ และไม่มากจนล้นเหมือนน้ำล้นตุ่ม ส่วนล้นนั้นเป็นส่วนเกิน
            ๔. ความฝังใจหรืออุปาทานอยู่ในใจว่าทำคุณกับใครไม่ขึ้น   การทำความดีกับคนนั้นค่อนข้างยากสักหน่อย ไม่เหมือนทำความดีกับพวกสัตว์ เป็นต้นว่าสุนัข ทั้งนี้เพราะคนต้องการความภูมิใจ แม้เราจะทำความดีให้เขาก็อย่าไปลดความสำคัญ และความภูมิใจของเขา
             ถ้าเราไปลดความสำคัญและความภูมิใจของเขาแล้ว แทนการรู้สึกสำนึกบุญคุณของเรา เขาจะรู้สึกเคียดแค้นชิงชังเสียด้วยซ้ำไป เพราะฉะนั้นการทำความดีกับคนจึงต้องทำด้วยความระมัดระวัง มิฉะนั้นการทำคุณจะกลายเป็นโทษไป

             ให้เลิกฝังใจว่าทำคุณกับใครไม่ขึ้นเสีย แล้วทำความดีด้วยความเสียสละ ด้วยน้ำใจอันดีงาม ท่านจะต้องได้รับผลดี และอาจได้มากว่าที่ท่านหวังเสียอีก
            ๕. ขาดกุศลโลบายในการทำดี  คำว่ากุศโลบายไม่ใช่เลห์กระเท่ห์ หรือเล่ห์เหลี่ยมกลโกงอะไร แต่หมายถึงความฉลาดรอบคอบ หยั่งรู้ถึงเหตุการณ์ บุคคล กาลเวลา (หรือโอกาส) ในการที่จะทำความดี กุศโลบายในการทำความดี ก็คือทำดีให้ถูกกาล ให้ถูกบุคคล ถูกเรื่องราว

 

กุศโลบายในการทำดี

             ๑. ทำดีถูกกาล  คือเมื่อเห็นเป็นเวลาอันเหมาะสมแล้วจึงทำ ไม่ใช่ต้องดูฤกษ์ยามแล้วจึงทำ แต่หมายถึงทำให้ทันเวลาเหมาะแก่เวลา เช่นจะช่วยเหลือคนต้องช่วยให้ทันเวลาที่เขาต้องการความช่วยเหลือ ตรงกับเวลาที่เขาขาดแคลน เหมือนให้น้ำแก่คนที่กำลังกระหาย ให้ข้าวแก่คนที่กำลังหิว

             ๒. ทำดีถูกบุคคล ทำดีถูกบุคคลนั้นทำอย่างไร ? คือการที่เราทำความดีแก่บุคคลที่ควรได้รับความดี เช่น การช่วยเหลือเขา ก็ควรช่วยเหลือคนที่ควรช่วย และกำหนดขอบเขตว่าควรช่วยเหลือเพียงใด ถ้าเราช่วยเหลือคนที่ไม่ควรช่วยและช่วยไม่ถูกวิธี ก็จะมีโทษติดตามมา  เช่นในนิทานเรื่องชาวนากับงูเห่าเป็นตัวอย่าง   ฉะนั้น การช่วยคนที่ควรช่วยนั้นเป็นกุศลมาก เพราะเป็นการบำบัดทุกข์ของเขาจริง ๆ

             อีกประการหนึ่งความกตัญญูกตเวทีนั้นเป็นภูมิธรรมของคนดี คนที่มีภูมิธรรมอันนี้มีไม่มากนัก ถ้าเราทำความดีไปถูกคนที่มีความกตัญญูกตเวที ผลดีก็มีเพิ่มพูนเป็นทวีคูณ ตรีคูณหรือได้รับผลดี ตอบแทนเป็นร้อยเท่าพันเท่า
             แต่ถ้าเราทำความดีไปถูกคนที่อกตัญญูกตเวทีเข้า ก็เหมือนว่าหว่านพืชลงบนหิน เหนื่อยแรงเปล่า อาจจะกลับกลายไปเป็นโทษภายหลังได้ด้วย เพราะคนอกตัญญูอกตเวทีนั้นชอบประทุษร้ายคนที่มีบุญคุณต่อตน มิฉะนั้นเขาจะเรียกคนอกตัญญูหรือ
            ๓. ทำดีเหมาะกับเหตุการณ์ ทำดีให้เหมาะกับเหตุการณ์นั้นทำอย่างไร ? ในที่นี้หมายถึงการทำถูกเรื่องถูกราว ไม่ดึงดันถือเอาแต่ความเห็นของตน หรือความพอใจไม่พอใจของตนเป็นสำคัญ แต่ยืดหยุ่นผ่อนผันตามเหตุการณ์

             สรุป  รวมความว่า การทำความดีนั้น จะต้องมีกุศโลบาย มีความฉลาดรอบคอบพอสมควรจึงจะได้รับผลเต็มที่ จะได้ไม่ต้องคิดอีกต่อไปว่าทำดีแล้วไม่ได้ดี คนที่ทำความดีเป็นนั้นจะได้รับผลดีเสมอ และได้รับเท่าที่ต้องการหรือมากกว่าที่ต้องการ
             เหมือนเราเพาะมะม่วงไว้เมล็ดหนึ่ง พองอกเป็นต้น ถึงคราวมีลูกมันจะให้ลูกเป็นร้อยเป็นพันและมีลูกให้นานถึง ๖๐ – ๗๐ ปี จนกว่าจะแก่ตายไป

วิธีสร้างความดี

             วิธีสร้างความดีเป็นเรื่องยิ่งใหญ่ในชีวิตของมนุษย์ ผู้ใดก็ตามที่รู้จักความดีความชั่วแล้วว่าคืออะไร แต่ถ้าไม่รู้จักวิธีสร้างความดี หลีกหนีความชั่วแล้วก็จะสร้างความดีไม่สำเร็จ
             เหมือนคนที่รู้ว่าตึกนั้นคืออะไร  ประกอบด้วยอะไรบ้าง แต่ถ้าไม่รู้จักวิธีสร้างตึกให้สำเร็จได้ สร้างแล้วพัง ๆ ในที่สุดก็อ่อนใจเลิกสร้างไปเอง

             คนที่คิดจะสร้างความดีก็เช่นกัน ถ้าไม่รู้จักวิธีสร้าง สร้างแล้วล้ม ๆ ในที่สุดก็เลิกประกอบคุณงามความดี เห็นว่าไม่ได้ผลอะไร เมื่อเลิกสร้างคุณงามความดีเสียแล้ว ก็จะหันมาสร้างความชั่วแทน นำชีวิตไปสู่ความตกต่ำล่มจมในที่สุด

             การทำความดีต่อผู้อื่นนั้น ก็จะต้องแล้วแต่โอกาส จังหวะ เวลา ก็มีความสำคัญเช่นกัน การช่วยเหลือผู้อื่นนั้นมีวิธีการมากมายประมวลแล้ว ก็สามารถแยกออกได้ ๑๐ วิธีด้วยกัน คือ
                        ๑. ช่วยเหลือผู้อื่นทำความดี
                        ๒. รักและเคารพทุกคนอย่างเสมอหน้า
                        ๓. สนับสนุนผู้อื่นให้เป็นผู้มีความดีพร้อม
                        ๔. ชี้ทางให้ผู้อื่นทำความดี
                        ๕. ช่วยเหลือผู้ที่อยู่ในความคับขันตกทุกข์ได้ยาก
                        ๖. กระทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ
                        ๗. อย่าทำตนเป็นปู่โสมเฝ้าทรัพย์ ต้องหมั่นบริจาคทาน
                        ๘. ธำรงไว้ซึ่งความยุติธรรม ขจัดความอยุติธรรม
                        ๙. เคารพผู้ที่อาวุโสกว่าทั้งคนที่มีอายุ และคุณธรรมความดี
                        ๑๐. รักชีวิตผู้อื่นดุจชีวิตของตนเอง

อานุภาพของความดีตามหลักพระพุทธศาสนา
ขอให้เราทุกคนได้พิจารณาพระพุทธภาษิตต่อไปนี้

          ๑. เมื่อบุคคลเอา น้ำมัน เทลงไปในน้ำ เอา ก้อนหิน ทิ้งลงในน้ำ แล้วจะอ้อนวอนสักเท่าใด เพื่อให้น้ำมันจมและก้อนหินลอยขึ้น ย่อมไม่ได้น้ำมันคงลอยขึ้นเหนือน้ำ ก้อนหินคงจมน้ำอยู่อย่างนั้น
          เพราะ น้ำมัน มีสภาพลอยขึ้นเหนือน้ำ ก้อนหิน มีสภาพจมน้ำฉันใด ความดี เป็นเหตุให้เฟื่องฟู ความชั่ว เป็นเหตุให้ล่มจม ตกต่ำเมื่อทำแล้วจะอ้อนวอนให้มีผลตรงกันข้ามไม่ได้

          ๒. สิ่งที่คนเราปรารถนา ๕ ประการ คือ อายุ วรรณะ ยศ สุข และสวรรค์ ไม่สามารถมีได้ด้วยการอ้อนวอน เพราะถ้ามีได้ด้วยวิธีการอย่างนั้นแล้ว ใครเล่าจะขาดแคลน ยากจน

          ๓. ขุมทรัพย์คือบุญ (ความดี) นี้ให้สิ่งที่น่าปรารถนาทั้งปวงแก่เทวดาและมนุษย์  เทวดาและมนุษย์ต้องการสิ่งใด ๆ สิ่งนั้นย่อมสำเร็จได้ด้วยบุญ ความเป็นผู้มีผิวพรรณสวย เสียงไพเราะ ทรวดทรงดี รูปงาม ความเป็นใหญ่และมีบริวารมาก ก็ล้วนสำเร็จด้วยบุญทั้งนั้น
 

                                    จงรักษาความดีของตนเองไว้ยิ่งชีวิต

                        ให้เหมือนดังเช่นเกลือที่รักษาความเค็ม

                        อย่าเห็นแก่เงินทองหรือสินจ้างรางวัล

                        มากกว่าชื่อเสียงเกียรติยศของตน

                        ความดีเป็นสิ่งที่ต้องสั่งสม จึงจะเกิดคุณค่าแก่ตนเองและผู้อื่น

                        กว่าที่จะสร้างความดีหรือความสำเร็จในชีวิตได้นั้น

                        ต้องใช้เวลานาน บางครั้งอาจใช้เวลาเกือบชั่วชีวิต

                        อย่าประมาทในการใช้ชีวิต หรือหลงผิดไปในห้วงเหวแห่งอบายมุขทั้งปวง

 

                        หากไม่รู้จักเก็บรักษาความดีหรือความสำเร็จนั้นไว้

                        ทุกสิ่งทุกอย่างก็จะสูญสิ้น และไม่สามารถเรียกกลับคืนมาได้

                        แต่การทำสิ่งที่ไม่ดีไม่งามหรือทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้องแม้เพียงเล็กน้อยนั้น…

                        เป็นเรื่องง่ายเหมือนดังการไหลของน้ำ

                        เพราะธรรมชาติของน้ำ มักไหลสู่ที่ต่ำเสมอ

นอกจากนั้นยังจะทำลายความดีที่มีอยู่เสียหมดสิ้นในพริบตา

                        ดังนั้นจงเชื่อในคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ว่า  

ธมฺโม หเว รกฺขติ ธมฺมจารี   “ธรรมย่อมรักษาผู้ทำความดี

 

ขออนุโมทนาบุญ ขอบคุณ  อ. วศิน อินทสระ เอื้อเฟื้อข้อมูล

ดาวน์โหลดสื่อการสอน

เห็นว่าบทความนี้มีประโยชน์ โปรดแชร์....