ความเป็นมาของภาษาบาลี
ในพระพุทธศาสนาพระพุทธเจ้าทรงวางแผนการศึกษาไว้เป็น ๓ ขั้น คือ
ขั้นปริยัติ ขั้นปฏิบัติ และ ขั้นปฏิเวธ
ขั้นปริยัติ ได้แก่ การศึกษาทางทฤษฎีคือ การศึกษาพระธรรมวินัยให้มีความรู้เป็น พื้นฐานโดยแจ่มแจ้งเสียก่อนว่า คำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีอะไรบ้าง ถ้าจะนำมาปฏิบัติจะทำอย่างไร และเมื่อปฏิบัติแล้วจะได้ผลอย่างไร
ขั้นปฏิบัติ คือการนำเอาพระธรรมวินัยมาปฏิบัติด้วยกาย วาจา ใจ
ขั้นปฏิเวธ เป็นขั้นที่แสดงถึงผลของการปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอนของพระ สัมมาสัมพุทธเจ้า
สำหรับการศึกษาที่เรียกว่า “คันถธุระ” นั้น ในสมัยที่พระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่นั้น พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนสาวกเป็นประจำทุกวันด้วยการแสดงพระธรรมเทศนา คำสั่งสอนที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงนั้น ทรงแสดงด้วยพระโอฐตามที่พระองค์จะทรงโปรดประทานพระสัทธรรมเทศนาแก่พุทธบริษัทซึ่งมีเป็นประจำทุกวัน ผู้ที่ฟังก็มีทั้งพระภิกษุสงฆ์และคฤหัสถ์ สำหรับพระภิกษุสงฆ์นั้น เมื่อได้ฟังพระสัทธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าแล้วก็นำมาถ่ายทอดแก่สัทธิวิหาริกและอันเตวาสิกต่อกันไป การศึกษาคำสอนของพระพุทธเจ้านี้เรียกว่า คันถธุระ หรือการศึกษาพระปริยัติธรรม ซึ่งมี ๙ ประการ เรียกว่า “นวังคสัตถุศาสน์” แปลว่า คำสอนของพระศาสดามีองค์เก้า ซึ่งได้แก่ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาดก อัพภูตธรรม และเวทัลละ
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าท่านจารึกไว้ในคัมภีร์ต่างๆด้วยภาษาบาลี
พระไตรปิฏก เป็นหลักฐานชั้นหนึ่ง เรียกว่า บาลี คำอธิบายพระไตรปิฏกเป็นหลักฐานชั้นสอง เรียกว่า อรรถกถา หรือ วัณณนา คำอธิบายอรรถกถา เป็นหลักฐานชั้นสาม เรียกว่า ฎีกา คำอธิบายฏีกา เป็นหลักฐานชั้นสี่ เรียกว่า อนุฏีกา นอกจากนี้ ยังมีหนังสือที่แต่งขึ้นภายหลังเป็นทำนองอธิบายเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่มีในคัมภีร์พระพุทธศาสนาโดยเฉพาะ หนังสือประเภทนี้ เรียกว่า “ทีปนี” หรือ “ทีปิกา” หรือ “ปทีปิกา” และหนังสือที่อธิบายเรื่องปลีกย่อยต่างๆ ที่มีในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา หนังสือประเภทนี้ เรียกว่า “โยชนา” หนังสือทั้งสองประเภทนี้จัดเป็นคัมภีร์อรรถกถา จะเห็นได้ว่า คำสอนที่อยู่ในคัมภีร์เหล่านี้ คำสอนที่อยู่ในพระไตรปิฏกเป็นหลักฐานสำคัญที่สุด เพราะเป็นหลักฐานชั้นแรกสุด คำสอนที่อยู่ในพระไตรปิฏกนั้นมีถึง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์
บาลีไวยากรณ์ ภาษาบาลีเบื้องต้น
ปิดความเห็น บน บาลีไวยากรณ์ ภาษาบาลีเบื้องต้น