วิชา กระทู้ธรรม
บทนำ
การเรียงความแก้กระทู้ธรรม เป็นการแสดงออกซึ่งความรู้ ความเข้าใจ ความคิด และความรู้สึก ของผู้เขียนซึ่งได้มาจากการศึกษาวิชาธรรมะ พุทธะ และเบญจศีลเบญจธรรม ว่าสามารถจะถ่ายทอดความรู้ ความเข้าใจ ความคิด และความรู้สึกออกไปสู่ผู้อื่นได้ดีหรือไม่
การเรียนรู้วิชาธรรมะ พุทธะ และเบญจศีลเบญจธรรม เปรียบเหมือนนักเรียนไปเก็บเอาดอกไม้ที่ต่างสี ต่างขนาด มากองรวมกันไว้ ส่วนการเรียงความแก้กระทู้ธรรม เปรียบเหมือนนักเรียนคัดเอาดอกไม้เหล่านั้นมาปักแจกัน จะทำได้สวยงามแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับความสามารถของแต่ละคน ที่จะแต่งอย่างไร
ตามหลักธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนา การเขียนหรือการพูดที่จัดว่าดีนั้น ต้องเกิดประโยชน์แก่ผู้อ่านหรือผู้ฟัง ๔ ประการ คือ ๑. ได้ความรู้ความเข้าใจ ๒. เกิดความเลื่อมใสใคร่ปฏิบัติตาม ๓. กล้าทำความดี ๔. มีความบันเทิงใจ ไม่เบื่อหน่าย
๑. ผู้อ่านหรือผู้ฟังจะได้รับความรู้ ความเข้าใจนั้น ผู้เขียนและผู้พูดจะต้องมีความรู้ ความเข้าใจในเรื่องนั้นเป็นอย่างดีเสียก่อน สรุป สั้น ๆ คือ จำได้ เข้าใจชัด ปฏิบัติถูกต้อง
๒. ผู้อ่านหรือผู้ฟัง จะเกิดความเลื่อมใส ใคร่ปฏิบัติตาม ผู้เขียนหรือผู้พูดจะต้องชี้แจงให้เห็นโทษของการไม่ปฏิบัติอย่างนั้นว่า ไม่ดีอย่างไร
๓. ผู้อ่านหรือผู้ฟังจะกล้าทำความดี ผู้เขียนหรือผู้พูด จะต้องชี้แจงให้เห็นคุณค่าหรือประโยชน์ของการปฏิบัติอย่างนั้นว่า ดีอย่างไร
๔. ผู้อ่านหรือผู้ฟัง จะมีความบันเทิงใจ ไม่เบื่อหน่าย ก็เพราะได้รับความรู้ความเข้าใจ เห็นโทษของการไม่ปฏิบัติ และเห็นคุณประโยชน์ของการปฏิบัตินั้น ๆ นั่นเอง
ฉะนั้น วิชากระทู้ธรรมจึงเป็นวิชาที่สำคัญ น่าศึกษาวิชาหนึ่ง เพราะเป็นการเอาวิชาที่เรียนแล้วมาประติดประต่อให้ได้ใจความสอดคล้องกับกระทู้ธรรมตามที่สนามหลวงออกมา เป็นการแสดงให้เห็นถึงความรู้ ความเข้าใจ ความคิดและความรู้สึกที่แท้จริงของผู้เขียน และเป็นเหตุให้เกิดความรู้ความเข้าใจ ความคิด และความรู้สึกแก่ผู้อื่นด้วย นักเรียนจึงควรเอาใจใส่ฝึกคิด ฝึกเขียน ฝึกพูดบ่อย ๆ จะ ได้เป็นคนดีมีความสามารถ โปรดนึกถึง พุทธภาษิตบทหนึ่งอยู่เสมอว่า ทนโต เสฏโฐมนุสเสสุ ผู้ฝึกฝนตน (อยู่เสมอ) เป็นผู้ประเสริฐที่สุดในมวลมนุษย์
วิชา กระทู้ธรรม
การใช้ภาษาในการพรรณนาแก้กระทู้ธรรม
ในการเขียนเรียงความแก้กระทู้นั้น ผู้เขียนจะต้องพิถีพิถันในด้านการใช้ภาษาให้มาก จะต้องเขียนอย่างประณีต ไม่ใช่เพียงเขียนเพียงให้เต็มๆหน้าเท่านั้น ต้องคำนึงถึงภาษาที่ใช้ด้วย กล่าวคือภาษาที่ใช้ต้องเป็นภาษาเขียน ไม่ใช่ภาษาพูด เช่นไม่ควรใช้คำว่า “ชั้น” “เค้า” “เป็นไง” “ยังเงี้ยะ” “ปวดหมอง” “ตังค์” ในที่นี้ควรเขียนว่า "ฉัน" "เขา" "เป็นอย่างไร" "อย่างนี้" ฯลฯ หรือไม่ใช้คำแสลง คือคำที่ใช้ผิดแปลกไปจากปกติ เช่น “อื้อซ่า” “นิ้งไปเลย” “ขาโจ๋” “ส.บ.ม.ย.ห.” ฯลฯ และไม่ควรเขียนแบบใช้ภาษาไทยปนภาษาต่างประเทศ เช่น “ประเดี๋ยวจะเซอร์ไพรซ์” “โอเค นะจ๊ะ” “อเมซิ่งจริงๆ” “มีการคอรัปชั่น” ฯลฯ ซึ่งบางทีผู้เขียนอาจเห็นว่าการเขียนเช่นนี้ แสดงว่าตนเป็นผู้มีความรู้สูง แต่นั่นหาชื่อว่าเป็นการเขียนเรียงความที่ดีไม่ รวมไปถึงไม่ใช้คำพื้นเมืองหรือภาษาท้องถิ่น เช่น “บ่อไป” “เว้า” “แซบ” ฯลฯ และไม่ใช้ภาษาหนังสือพิมพ์ เช่น “เปิดอก” “เปิดศึกขยี้” “พลิกโผ” “แฉสิ้น” ตำรวจปืนโหดฆ่าสามชีวิตที่ท่าบ่อ” ฯลฯ เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตามในชั้นนี้ท่านไม่ได้เคร่งครัดการใช้ภาษานัก เพียงแต่กำหนดให้ใช้ภาษาตามสมัยนิยมได้อย่างถูกต้อง เหมาะก็ถือว่าใช้ได้แล้ว
การเรียบเรียงเรื่องราว ก็ควรเป็นไปตามลำดับก่อนหลังไม่วกวนไปมาจนน่าเวียนหัว เพราะฉะนั้นในเวลาจะเขียนเรียงความแก้กระทู้ธรรมข้อใดก็ตาม ผู้หัดเขียนใหม่ๆ จึงควรวางโครงเรื่องที่จะเขียนให้ดีเสียก่อน แล้วเขียนให้เป็นไปตามลำดับขั้นตอนของเรื่องที่วางไว้
เรียงความแก้กระทู้ธรรมที่ได้คะแนนน้อย ส่วนมากจะมีข้อบกพร่องต่างๆ หลายประการ เช่นอธิบายเนื้อความของกระทู้ตั้ง ผิดจากความมุ่งหมายของกระทู้ธรรมนั้นบ้าง อธิบายความสับสนวกไปวนมาเสียบ้าง ไม่มีสรุปความบ้าง ใช้ภาษาไม่ถูกต้องและใช้ถ้อยคำไม่เหมาะสมบ้าง นอกจากนั้นแล้ว ยังมีข้อบกพร่องซึ่งประกอบด้วยลักษณะต่างๆอีก คือ
๑. ไม่อ้างกระทู้ธรรมมาเชื่อมข้อความที่ต่างกัน
๒. อธิบายความไม่สมเหตุสมผลกับกระทู้ที่ตั้งไว้
๓. เขียนข้อความโดยไม่มีการเว้นระยะวรรคตอน หรือเว้นระยะวรรคตอนไม่ถูกต้อง
๔. เขียนข้อความโดยไม่มีการย่อหน้า หรือย่อหน้าเอาตามความพอใจ โดยยังไม่ทันสิ้นกระแสความ
๕. นำกระทู้ธรรมมาเชื่อม โดยไม่อ้างถึงข้อความของกระทู้ธรรมนั้นก่อน
๖. ไม่บอกชื่อคัมภีร์ที่มาของกระทู้ธรรมที่นำมารับ หรือบอกชื่อคัมภีร์ผิดพลาด
๗. เขียนคำบาลีและคำแปลภาษาไทยไม่ถูกต้อง หรือขาดตกบกพร่อง
๘. เขียนตัวสะกด การันต์ ผิดพลาดมาก
๙. เขียนหนังสือสกปรก โดยมีการขีดฆ่า ขูดลบ ปรากฏอยู่ทั่วไป
๑๐. แต่งไม่ได้ตามกำหนด (๒ หน้ากระดาษ เว้นบรรทัด ขึ้นไป)
หลักการอ่านภาษาบาลีเบื้องต้น
๑. พยัญชนะตัวโดดๆ ที่ไม่มีสระใดๆ ปรากฏอยู่เลย ให้ออกเสียง “อะ” แต่ถ้าพยัญชนะตัวใดมีสระปรากฏอยู่ ให้ออกเสียงตามสระนั้นๆ เช่น
สามเณร อ่านว่า สา-มะ-เน-ระ
ภควโต อ่านว่า ภะ-คะ-วะ-โต
อรหํ อ่านว่า อะ-ระ-หัง
๒. เครื่องหมายพินทุ( . ) จุดปรากกอยู่ใต้พยัญชนะตัวใด มีวิธีอ่านดังนี้
๒.๑ ถ้าเครื่องหมายพินทุอยู่ใต้พยัญชนะตัวใด ให้เครื่องหมายพินทุ หมายถึง ไม้หันอากาศ (ในกรณีที่พยัญชนะข้างหน้าตัวนั้นไม่มีสระใดๆ) เช่น
สงฺฆสฺส อ่านว่า สัง-คัส-สะ
อตฺตา หิ อตฺตโน อ่านว่า อัต-ตา-หิ-อัต-ตะ-โน
๒.๒ ถ้าพยัญชนะตัวหน้าของพยัญชนะตัวที่มีเครื่องหมายพินทุ มีสระปรากฏอยู่ ให้เครื่องหมายพินทุ เป็นตัวสะกด (คืออ่านอย่างภาษาไทย) เช่น
ภิกฺขุสงฺโฆ อ่านว่า พิก-ขุ-สัง-โค
เหสุนฺติ อ่านว่า เห-สุน-ติ
ปริสุทฺโธ อ่านว่า ปะ-ริ-สุด-โท
๒.๓ ถ้าเครื่องหมายพินทุอยู่ใต้พยัญชนะตัวแรกของคำ ให้อ่านออกเสียงพยัญชนะตัวนั้นกึ่งเสียง คือให้ออกเสียงพยัญชนะตัวนั้นเร็วๆ เช่น
ตฺวา อ่านว่า ตฺะวา
เทฺวเม อ่านว่า ทฺะเว-เม
สฺวากฺขาโต อ่านว่า สฺะวาก-ขา-โต
(บทไหว้พระตอนเช้า-เย็น นักเรียนมักกล่าวเพี้ยนกันว่า “ซา-หฺวาก-ขา-โต..”)
๓. เครื่องหมายนิคคหิต( ํ ) อยู่เหนือพยัญชนะตัวใด มีวิธีอ่านดังนี้
๓.๑ ถ้าเครื่องหมายนิคคหิตอยู่เหนือพยัญชนะตัวใดๆ ให้เครื่องหมายนิคคหิตอ่านออกเสียง “อัง” (ในกรณีที่พยัญชนะตัวนั้นไม่มีสระตัวใดๆปรากฏอยู่ก่อนแล้ว) เช่น
สงฺฆํ นมามิ อ่านว่า สัง-คัง-นะ-มา-มิ
อรหํ สมฺมา อ่านว่า อะ-ระ-หัง-สัม-มา
๓.๒ ถ้าพยัญชนะตัวนั้นมีสระปรากฏควบคู่พร้อมกับเครื่องหมายนิคคหิต ให้เครื่องหมายนิคคหิต หมายถึง ง. งู สะกด ให้อ่านออกเสียงตามสระนั้นๆ เช่น
นปุสกลิงฺคํ อ่านว่า นะ-ปุง-สะ-กะ-ลิง-คัง
สตึ กึ อ่านว่า สะ-ติง-กิง
วิสุ รกฺขณตฺถาย อ่านว่า วิ-สุง-รัก-ขะ-นัต-ถา-ยะ
หลักเกณฑ์การแต่งกระทู้
ผู้จะแต่งกระทู้ จำเป็นจะต้องทราบหลักเกณฑ์ในการแต่งกระทู้ก่อน หลักเกณฑ์ในการแต่งกระทู้นั้น ผู้ศึกษาพึงทราบตามที่สนามหลวงแผนกธรรมได้วางเป็นหลักเอาไว้ดังข้อความว่า
แต่งอธิบายให้สมเหตุสมผล อ้างสุภาษิตอื่นมาประกอบด้วย ๑ ข้อ และบอกชื่อคัมภีร์ที่มาแห่งสุภาษิตนั้นด้วย สุภาษิตที่อ้างมานั้น ต้องเรียงเชื่อมความให้สนิทติดต่อ สมกับกระทู้ตั้ง
ชั้นนี้ (ธรรมศึกษาชั้นตรี) กำหนดให้เขียนลงในใบตอบ ตั้งแต่ ๒ หน้า (เว้นบรรทัด) ขึ้นไป
วิธีการแต่งกระทู้
เมื่อทราบหลักเกณฑ์การแต่งกระทู้โดยย่อแล้ว ต่อไปควรทราบวิธีการแต่ง วิธีการแต่งกระทู้มีองค์ประกอบใหญ่ ๆ ๓ อย่าง คือ
๑. คำเริ่มต้น ได้แก่คำว่า บัดนี้ จักอธิบายขยายความธรรมภาษิต ที่ได้ยกขึ้นนิกเขปบท เพื่อเป็นแนวทางแห่งการศึกษา และปฏิบัติธรรมตามสมควรแก่เวลา หรืออื่นใดตามที่เหมาะสม
๒. คำขยายความ คืออธิบายเนื้อความแห่งธรรมภาษิต ซึ่งเป็นกระทู้ปัญหา พร้อมทั้งอ้างสุภาษิตอื่นมาประกอบอย่างน้อย ๑ ข้อ พร้อมทั้งบอกที่มาให้ถูกต้อง
๓. คำลงท้าย คือ สรุปเนื้อความที่ได้อธิบายมาแล้วโดยย่ออีกครั้งหนึ่ง ให้สอดคล้องกับกระทู้ปัญหา จบลงด้วยคำว่า สมกับธรรมภาษิตว่า……….หรือ พระพุทธองค์จึงตรัสว่า………. ตามความเหมาะสม (ช่องว่างที่เว้นไว้หมายถึง กระทู้ปัญหาพร้อมทั้งคำแปล)