ตำราการเรียนธรรมศึกษา ชั้นโท

      ปิดความเห็น บน ตำราการเรียนธรรมศึกษา ชั้นโท

๑๕ประวัติ  พระอนุรุทธะเถระ

๑.  สถานะเดิม

            พระอนุรุทธเถระ  พระนามเดิม  เจ้าชายอนุรุทธะ  เป็นพระนามที่พระญาติทั้งหลายขนานให้

            พระบิดา  พระนามว่า  อมิโตทนะ  เป็นพระอนุชาของพระเจ้าสุทโะทนะ  มีพี่น้องร่วมพระมารดาเดียวกัน  ๒  พระองค์  คือ  ๑.  พระเชษฐา  พระนามว่า  เจ้าชายมหานามะ  ๒.  พระกนิษฐภคินี  พระนามว่า  โรหิณี

๒. มูลเหตุแห่งการบวชในพระพุทธศาสนา

            เมื่อพระศาสดาทรงทำการสงเคราะห์ญาติ  แล้วเสด็จจากกบิลพัสดุ์ไปประทับอยู่ที่อนุปิยอัมพวัน  สมัยนั้น  เจ้าชายมหานามะ  เสด็จเข้าไปหาเจ้าชายอนุรุทธะ  ตรัสว่า  พ่ออนุรุทธะบัดนี้  ศากยกุมารผู้มีชื่อเสียงพากันบวชตามพระผู้มีพระภาคเจ้า  แต่ตระกูลของเรายังไม่มีใครบวชเลย  เธอหรือพี่จะต้องบวช  ในที่สุดเจ้าชายอนุรุทธะตัดสินพระทัยบวชเองจึงพร้อมด้วยกษัตริย์อีก  ๕  พระองค์คือ  ภัททิยะ  อานันทะ  ภคุ  กิมพิละ  และเทวทัต  พร้อมกับอุบาลีภูษามาลา  ได้ไปเฝ้าพระศาสดาที่อนุปิยอัมพวัน  ทูลขอบรรพชาอุปสมบท

๓.  การบรรลุธรรม

            พระอนุรุทธเถระนี้  ครั้นบวชแล้วได้เรียนกรรมฐานในสำนักพระธรรมเสนาบดีแล้วได้ไปประจำอยู่ที่ปาจีนวังสทายวัน  ในเจติยรัฐ บำเพ็ญสมณธรรม  ตรึกมหาปุริสวิตกได้  ๗  ข้อ  คือ

            ๑.  ธรรมนี้เป็นธรรมของผู้มีความปรารถนาน้อย  ไม่ใช่ของผู้มีความมักมาก

            ๒.  ธรรมนี้เป็นธรรมของผู้สันโดษยินดีด้วยของที่มีอยู่  ไม่ใช่ของผู้ไม่สันโดษ

            ๓.  ธรรมนี้เป็นธรรมของผู้สงัดแล้ว  ไม่ใช่ของผู้ยินดีในหมู่คณะ

            ๔.  ธรรมนี้เป็นธรรมของผู้ปรารภความเพียร  ไม่ใช่ของผู้เกียจคร้าน

            ๕.  ธรรมนี้เป็นธรรมของผู้มีสติมั่นคง  ไม่ใช่ของคนหลง

            ๖.  ธรรมนี้เป็นธรรมของผู้มีใจมั่นคง  ไม่ใช่ของผู้มีใจไม่มั่นคง

            ๗.  ธรรมนี้เป็นธรรมของผู้มีปัญญา  ไม่ใช่ของผู้ทรามปัญญา

            พระศาสดาทรงทราบว่า  ท่านลำบากในมหาปุริสวิตกข้อที่  ๘  จึงเสด็จไปยังที่นั้นตรัสอริยวังสปฏิปทา  ว่าด้วยการอบรมความสันโดษในปัจจัย  ๔  และยินดีในการเจริญกุศลธรรม  แล้วตรัสมหา   ปุริสวิตก  ข้อที่  ๘  ให้ บริบูรณ์

            ๘.  ธรรมนี้เป็นของผู้ยินดีในธรรมที่ไม่เนิ่นช้า  ไม่ใช่ของผู้ยินดีในธรรมที่เนิ่นช้า

            พอเมื่อพระศาสดาเสด็จไปยังเภสกลาวัน  ท่านพระอนุรุทธเถระ ก็ได้เป็นพระขีณาสพอยู่จบพรหมจรรย์  เป็นพระอรหันต์ มีวิชา  ๓

๔.  งานประกาศพระศาสนา

            ชีวประวัติของท่านน่าศรัทธาเลื่อมใส  จากผู้ที่เป็นสุขุมาลาชาติที่สุด  ไม่รู้จักและไม่เคยได้ยินคำว่า  ไม่มี  ต้องการอะไรได้ทั้งนั้น  แต่เมื่อเข้าบวชในพระพุทธศาสนาแล้วกลับเป็นผู้มักน้อยสันโดษ  เก็บผ้าจากกองขยะมาทำไตรจีวรนุ่งห่ม  โดยไม่มีความรังเกียจ  กลับมีความยินดีว่านั่นเป็นการ  ปฏิบัติตามนิสัย  คือที่พึงพาอาศัยของภิกษุ  ๔  ประการ

๕.  เอตทัคคะ

            พระอนุรุทธเถระได้บรรลุพระอรหัตพร้อมวิชา  ๓  คือ  บุพเพนิวาสานุสสติญาณ  ทิพยจักขุญาณ  และอาสวักขยญาณ  ตามปกตินอกจากเวลาฉันภัตตาหารเท่านั้น  นอกนั้นท่านจะพิจารณาตรวจดูสัตวโลกด้วยทิพยจักขุญาณ (เปรียบกับคนธรรมดาก็เหมือนกับ  ผู้มีใจเอื้ออาทรคอยเอาใจใส่ดูแลทุกข์สุขของผู้อื่นตลอดเวลา)  เพราะฉะนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงยกย่องท่านว่าเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ได้ทิพยจักษุญาณ

๖.  บุญญาธิการ

            พระอนุรุทธเถระนี้  ได้สร้างสมบุญกุศลที่จะอำนวยผลให้เกิดทิพยจักษุญาณในพุทธกาลเป็นอันมาก  คือได้ทำการบูชาด้วยประทีปอันโอฬารที่พระสถูปเจดีย์  ด้วยผลบุญอันนี้จึงทำให้ได้บรรลุทิพยจักษุญาณ  สมกับปณิธานที่ตั้งไว้

๗.  ปรินิพพาน

            พระอนุรุทธเถระ  ครั้นได้เป็นพระขีณาสพ  สิ้นชาติสิ้นภพ  อยู่จบพรหมจรรย์เสร็จหน้าที่ส่วนตัวของท่านแล้วได้ช่วยพระศาสดาประกาศพระพุทธศาสนา  จนถึงพระศาสดาปรินิพพาน  ก็ได้ร่วมอยู่ในเหตุการณ์นั้นด้วย  เป็นผู้ที่รู้ว่าพระศาสดานิพพานเมื่อไร  อย่างไร  สุดท้ายท่านเองก็ได้ละสังขารปรินิพพาน  ไปตามสัจธรรม

************************************

ดาวน์โหลดสื่อการสอน

เห็นว่าบทความนี้มีประโยชน์ โปรดแชร์....