วันที่ 12 สิงหาคมของทุกปี เป็นวันแม่แห่งชาติ ภาษาอังกฤษเรียกว่า Mother Day ซึ่งยึดถือวันตามเสด็จพระราชสมภพของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ โดยเริ่มต้นมาตั้งแต่ พ.ศ. 2519 จวบมาจนถึงปัจจุบัน เพื่อให้ลูกทุกคนได้ตระหนักและรำลึกถึงพระคุณของแม่นั่นเอง
ประวัติความเป็นมาของวันแม่แห่งชาติ
แต่เดิมนั้น วันแม่ประจำชาติได้ถูกกำหนดให้เป็นวันที่ 15 เมษายนของทุกปี ซึ่งจัดขึ้นไปตามมติของคณะรัฐมนตรีที่ประกาศรับรอง เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2493 โดยได้มีการพิจารณาเห็นว่า การจัดงานวันแม่แห่งชาติของสำนักวัฒนธรรมฝ่ายหญิง สภาวัฒนธรรมแห่งชาติ ผู้ซึ่งได้รับมอบหมายให้จัดงานวันแม่ขึ้น โดยเริ่มจัดครั้งแรกตั้งแต่วันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2493 เป็นต้นมานั้น กิจกรรมของการจัดงานก็ได้รับความสำเร็จราบรื่น ประชาชนล้วนให้การตอบรับและสนับสนุนอย่างเป็นไปด้วยดี จนสามารถขยับขยายขอบข่ายในการจัดงานให้กว้างขวางออกไปได้มากยิ่งขึ้น
โดยกิจกรรมที่จัดขึ้นในวันแม่ ได้แก่ การจัดพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา ประกวดคำขวัญวันแม่ ประกวดแม่ของชาติเพื่อเป็นการให้เกียรติและตระหนักในความสำคัญของความเป็นแม่ อีกทั้งยังเพื่อเป็นการเพิ่มความสำคัญของแม่ให้สูงส่งยิ่งๆ ขึ้นไป ด้วยเหตุนี้ งานวันแม่จึงกลายเป็นวันแม่ประจำปีของชาติ ตามประกาศของรัฐบาลฯพณฯ จอมพล ป. พิบูลสงคราม แต่ถึงกระนั้น โดยทั่วไปมักเรียกกันว่า วันแม่ของชาติ
ต่อมาเมื่อมาถึง พ.ศ. 2519 ในส่วนของทางราชการก็ได้เปลี่ยนใหม่ โดยถือเอาวันเสด็จพระราชสมภพของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ คือ วันที่ 12 สิงหาคม เป็นวันแม่แห่งชาติ โดยเริ่มต้นนับตั้งแต่ในปี พ.ศ. 2519 เป็นต้นมาจวบจนถึงปัจจุบัน

ดอกมะลิ วันแม่แห่งชาติ
กิจกรรมที่ควรปฏิบัติในวันแม่แห่งชาติ
1.ควรประดับแต่งอาคารบ้านเรือนด้วยธงชาติ
2.จัดกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับวันแม่ เช่น การจัดนิทรรศการเพื่อให้ความรู้แก่นักเรียน และประชาชนทั่วไปเพื่อได้ทราบถึงความสำคัญของแม่ อีกทั้งเพื่อเป็นการตระหนักและรำลึกถึงพระคุณของผู้เป็นแม่อย่างแท้จริง
3.จัดกิจกรรมเกี่ยวกับการบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ โดยทำบุญตักบาตรเพื่ออุทิศส่วนกุศล อันเป็นการรำลึกถึงพระคุณของแม่อย่างซาบซึ้งใจ
4.ลูกทุกคนควรนำพวงมาลัยดอกมะลิเข้าไปกราบขอพรแม่
การจัดงานวันแม่แห่งชาติของประเทศไทย
การจัดงานวันแม่แห่งชาติครั้งแรกในประเทศไทยนั้น เริ่มจัดขึ้นเมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2486 ณ สวนอัมพร โดยกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้จัดขึ้น แต่เนื่องจากช่วงนั้นเป็นช่วงที่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 การจัดงานวันแม่ในปีต่อมาจึงจำต้องงดไป ภายหลังจากสงครามสงบลงแล้ว หลายหน่วยงานก็ได้กลับมาพยายามจัดงานวันแม่ขึ้นมาอีกครั้ง หากก็ไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าที่ควรนัก และยังมีกำหนดให้เปลี่ยนวันแม่ไปอีกหลายครั้ง ต่อมาวันแม่ที่ทางรัฐบาลเดิมกำหนดคือ วันที่ 15 เมษายนของทุกปี โดยเริ่มต้นจัดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2493 จำต้องหยุดลงอีกในหลายปีต่อมา อันเนื่องจากทางกระทรวงวัฒนธรรมถูกยุบไป จึงส่งผลทำให้สภาวัฒนธรรมแห่งชาติ ซึ่งได้รับหน้าที่จัดงานวันแม่พลอยขาดผู้ร่วมสนับสนุนไปด้วยนั่นเอง
ต่อมาทางด้านสมาคมครูคาทอลิกแห่งประเทศไทย ก็ได้ตระหนักถึงความสำคัญของวันแม่ และได้จัดงานวันแม่ขึ้นอีกครั้ง ในวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2515 หากก็สามารถจัดได้แค่เพียงปีเดียวเท่านั้น จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ. 2519 คณะกรรมการอำนวยการสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ก็ได้กำหนดวันแม่ขึ้นมาใหม่เพื่อให้เป็นวันที่มีความชัดเจนแน่นอน โดยถือเอาวันเสด็จพระราชสมภพของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ วันที่ 12 สิงหาคมเป็นวันแม่แห่งชาติอย่างที่เราๆ ท่านๆ ทราบกันดีในปัจจุบัน
สัญลักษณ์ของวันแม่
สำหรับสัญลักษณ์ที่ใช้กันในวันแม่นั้นก็คือ ดอกมะลิ เพราะเป็นดอกไม้สีขาวที่เปี่ยมด้วยความหมายอันบริสุทธิ์ ทั้งยังส่งกลิ่นหอมอ่อนหวานขจรคลุ้งไปไกล และยังหอมเนิ่นนานไม่จางหายง่าย ที่สำคัญยังเป็นดอกไม้ที่สามารถผลิดอกออกได้ตลอดปี จึงเปรียบความหมายนี้ได้กับความรักอันบริสุทธิ์ของผู้เป็นแม่ที่มีต่อลูกรักอย่างไม่มีวันเสื่อมคลาย

วันแม่แห่งชาติ
เพลงวันแม่
สำหรับเพลงที่ใช้ในวันแม่แห่งชาติอย่างเป็นทางการคือ เพลงค่าน้ำนม โดย อาจารย์ สมยศ ทัศนพันธ์ เป็นผู้แต่งขึ้น และยังได้เรียบเรียงบทเพลงจนเรียกได้ว่า ขึ้นหิ้งอย่างเป็นอมตะ อีกทั้งยังเป็นผลงานเพลงชิ้นเอกที่ได้ฟังเมื่อไร เป็นต้องหวนให้ระลึกถึงพระคุณของแม่อย่างสุดซึ้ง และยังชวนให้ระลึกถึงวิถีความเป็นไทยสมัยก่อนที่แม่เฝ้าเลี้ยงดูฟูมฟักลูกน้อยซึ่งเป็นแก้วตาดวงใจไว้เป็นอย่างดีเพียงใด
เนื้อเพลงค่าน้ำนม นอกจากจะกระตุ้นเตือนสติทำให้ผู้ฟังตระหนักถึงพระคุณของแม่แล้ว ยังทำให้เราได้มองเห็นขนบธรรมเนียมดั้งเดิมของวิถีชาวไทยได้หลายอย่างจากในเนื้อเพลง อย่างเช่น การศึกษาของชายไทยในสมัยก่อนนั้นที่มักจะศึกษาอยู่ภายในวัดวาอาราม ซึ่งถือเป็นแหล่งที่ให้ความรู้ทางโลก ทำให้สามารถอ่านออกเขียนได้และยังให้ความรู้ทางธรรมไปพร้อมๆ กัน ซึ่งได้แก่ การถือศีลและการยึดมั่นต่อพระรัตนตรัย นอกจากนี้ ยังมีความเชื่ออีกด้วยว่า หากลูกชายบ้านไหนบวชเรียนด้วยแล้วก็จะยิ่งทำให้อานิสงฆ์แผ่ส่งถึงพ่อกับแม่ ทำให้ท่านได้เกาะชายผ้าเหลืองไปสู่สุคติภูมิ ภายหลังจากล่วงลับไปแล้วได้อีกด้วย
จากท่วงทำนองของบทเพลงที่เสนาะโสต ผสานความทุ้มเย็น กับบวกกับคำร้องอย่างตรงไปตรงมา จึงชวนให้เราทุกคนหรือแม้แต่เด็กเล็กๆ ก็สามารถระลึกภาพตามได้อย่างไม่ยาก เพราะฉะนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด หากใครได้ฟังเพลงค่าน้ำนมแล้ว จะต้องหลั่งน้ำตารินไหลให้กับความหมายอันซาบซึ้ง ที่ตราตรึงใจในความรักของแม่ที่มีต่อลูกอย่างเหลือคณานับเป็นที่สุด

วันแม่แห่งชาติ
เพลงค่าน้ำนม
แม่…นี้มีบุญคุณอันใหญ่หลวง ที่เฝ้าหวงห่วงลูกแต่หลังเมื่อยังนอนเปล แม่…เราเฝ้าโอละเห่ กล่อมลูกน้อยนอนเปลไม่ห่างหันเหไปจนไกล แต่เล็กจนโตโอ้แม่ถนอม แม่ผ่ายผอมย่อมเกิดแต่รักลูกปักดวงใจ เติบโตโอ้เล็กจนใหญ่ นี่แหละหนาอะไรมิใช่ใดหนาเพราะค่าน้ำนม ควร…คิดพินิจให้ดี ค่าน้ำนมแม่นี้จะมีอะไรเหมาะสม โอ้ว่าแม่จ๋า…ลูกคิดถึงค่าน้ำนม เลือดในอกผสมกลั่นเป็นน้ำนมให้ลูกดื่มกิน ค่าน้ำนมควรชวนให้ลูกฝัง แต่เมื่อหลังเปรียบดังผืนฟ้าหนักกว่าแผ่นดิน บวชเรียนพากเพียรจนสิ้น หยดหนึ่งน้ำนมกินทดแทนไม่สิ้นพระคุณแม่เอย…
และนี่ก็คือ ประวัติและความสำคัญของวันแม่แห่งชาติ วันแม่แห่งชาติเป็นวันที่ลูกทุกคนควรรำลึกถึงพระคุณของแม่ และควรนำพวงมาลัยดอกมะลิไปกราบขอพรจากแม่ พร้อมทั้งขอขมาแม่ด้วยจะดีที่สุด พร้อมกันนี้ สำหรับลูกคนใดที่ต้องการตอบแทนพระคุณของแม่ ควรปฏิบัติตนเป็นคนดี และดูแลท่านเป็นอย่างดีตลอดจนสิ้นอายุไข หากทำเช่นนี้ได้ก็นับว่าเป็นลูกที่กตัญญู เพราะถือว่าได้ทำหน้าที่ตอบแทนพระคุณของแม่ได้อย่างดีงามที่สุด