การปฏิบัติสมาธิในพระพุทธศาสนา

      ปิดความเห็น บน การปฏิบัติสมาธิในพระพุทธศาสนา

ผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง

1.     มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการฝึกสมาธิ ประโยชน์ของการฝึกสมาธิ

2.     สามารถฝึกสมาธิเบื้องต้นตามหลักอานาปานสติ และฝึกให้เกิดปัญญาตามหลักการพัฒนาปัญญา  3

3.     เห็นคุณค่าความสำคัญและประโยชน์ของการฝึกสมาธิตามหลักอานาปานสติ

สาระการเรียนรู้

1.  ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการฝึกสมาธิ

สมาธิ   หมายถึง ความตั้งมั่นของจิต คือภาวะที่จิตรวมตัวเข้าเป็นหนึ่ง ไม่ฟุ้งซ่านไปข้างนอกหรือภาวะที่จิตแน่วแน่ต่อสิ่งที่กำหนด จนเกิดความสงบไม่ฟุ้งซ่าน จิตจดจ่อต่อสิ่งที่กำลังคิด กำลังพูดและกำลังกระทำสามารถรวมพลังสติปัญญาและความคิดมาใช้ในสิ่งที่กำลังคิด พูด ทำนั้นได้อย่างเต็มที่และมีสติอยู่เสมอ

ประเภทของสมาธิ    

สมาธิ มี  2 ประเภท  คือ

1.  สมาธิที่มีโดยธรรมชาติ   หมายถึง  สมาธิที่ได้มาโดยธรรมชาติ  มีมากน้อยแต่ละบุคคลและมิได้เกิดทุกเวลา จะมีก็ต่อเมื่อเราตั้งใจ เอาใจจดใจจ่อต่อสิ่งที่ทำเฉพาะหน้า เมื่อเลิกตั้งใจสมาธิก็จะไม่มี  เช่น  สมาธิในการอ่านหนังสือ การพูด การฟัง 

2.  สมาธิที่ต้องพัฒนา  หมายถึง  สมาธิที่เกิดจากการปฏิบัติตามกรรมวิธีที่เป็นเทคนิคโดยเฉพาะ  ได้แก่  การพัฒนาสมาธิโดยธรรมชาติให้ถูกหลักถูกวิธีนั้นเอง  เพื่อให้มีพลังมากกว่าเดิมจะได้นำไปใช้ในกิจกรรมการงานต่างๆ ในชีวิตประจำวันให้มีประสิทธิภาพ

ลักษณะจิตที่เป็นสมาธิ     

            จิตที่เป็นสมาธิ  เป็นจิตที่มีสมรรถภาพ  มีลักษณะสำคัญ  ดังนี้ 

1.  แข็งแรง  เป็นจิตมีพลังมาก  ไม่สับสน เปรียบเสมือนกระแสน้ำที่ควบคุมให้น้ำไหลพุ่งไปในทางเดียว ซึ่งย่อมมีกำลังกว่าน้ำที่ถูกปล่อยให้ไหลไปหลายทาง

2.  ราบเรียบ  เป็นจิตสงบนิ่ง เปรียบเสมือนสระน้ำหรือบึงใหญ่ที่มีน้ำนิ่ง ไม่มีลมพัด ไม่มีสิ่งใดรบกวนให้กระแสเพื่อมไหว

3. ใสกระจ่าง  เป็นจิตไม่ขุ่นมัว  มองเห็นอะไรได้ชัด เปรียบเสมือนน้ำสงบนิ่ง ไม่มีคลื่น ฝุ่นละอองที่มีตกตะกอนกันหมด

4. นุ่มนวล   เป็นจิตควรแก่การทำงาน  เพื่อไม่ตึงเครียด ไม่กระด้าง  ไม่เร่าร้อน และไม่กระวนกระวาย

จุดประสงค์ของการฝึกสมาธิ    

            พระพุทธเจ้าทรงแสดงจุดมุ่งหมายของการทำสมาธิไว้  4 อย่าง  คือ

            1.   เพื่อความสุขในปัจจุบัน  เพราะจิตที่เป็นสมาธิ เป็นจิตที่สงบเยือกเย็น ไม่กระวนกระวาย ก่อให้เกิดความสุขอย่างประณีตได้

            2.   เพื่อได้คุณวิเศษ  การฝึกสมาธิจนจิตได้ฌาน เป็นจิตตั้งมั่นแน่วแน่แล้ว สามารถทำให้เกิดคุณวิเศษต่างๆ ได้ เช่น  ตาทิพย์  หูทิพย์  รู้ใจคนอื่นได้ เป็นต้น

            3.   เพื่อให้เกิดสติ และสัมปชัญญะ ความรู้ตัว   การฝึกสมาธิ ก่อให้เกิดการระลึกอยู่เสมอ และทำให้เกิดความรู้ตัว คือการรู้เท่าทันความรู้สึกนึกคิดต่างๆ สามารถตัดความคิดที่ไม่ดีไปได้

            4.   เพื่อการกำจัดกิเลส   การฝึกจิตให้เป็นสมาธิ จนเกิดปัญญา สามารถพิจารณาเห็นสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริง รู้เท่าทันทุกอย่าง  จนสามารถลด ละ เลิก กิเลส  คือ ความโกรธ ความโลภ ความหลงได้

ประโยชน์ของการฝึกสมาธิ         

            สมาธิ  มีประโยชน์ทั้งต่อร่างกายและจิตใจ  ดังนี้          

            1.   ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน   จิตที่มีสมาธิจะเป็นจิตใจที่สบาย  ไม่มีความเครียด  มีความสุข หายจากวิตกกังวลนอนหลับง่าย มีประสิทธิภาพในการงทำงาน เช่น เรียนหนังสือดี  สามารถเสริมสุขภาพและป้องกันโรคต่างๆ  ได้ 

            2.   ประโยชน์ในการพัฒนาบุคลิกภาพ     จิตที่มีสมาธิ  สามารถทำให้บุคลิกเข้มแข็ง หนักแน่นมั่นคง มีความสุภาพ สงบ เยือกเย็น สุภาพนิ่มนวล สดชื่น ผ่องใส กระปรี้กระเปร่า   สง่า องอาจ น่าเกรงขาม  มีเสน่ห์ดึงดูดใจ น่าคบหา กระฉับกระเฉง  มีเมตาตากรุณา  รู้จักมองตนเองและผู้อื่นตามความเป็นจริง

            นอกจากนี้  ผู้ฝึกสมาธิยังก่อประโยชน์แก่ส่วนรวม  ทั้งในการอยู่ร่วมกับผู้อื่น และการทำงานกับผู้อื่น เช่น การรู้จักยับยั้งความคิดที่ไม่ดีต่อผู้อื่น  การรู้เท่าทันผู้อื่น  การไม่คิดพยาบาทปองร้ายต่อผู้อื่น  หรือในการทำงาน สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ได้ผลที่ดี  ไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน  ทำงานได้ด้วยความสุจริต

2.  การฝึกสมาธิตามหลักอานาปานสติ

            การฝึกสมาธิมีหลายวิธี  วิธีหนึ่งซึ่งเป็นที่นิยมของชาวพุทธ คือ การฝึกแบบอานาปานสติ  เป็นวิธีที่ทำได้ง่าย สามารถทำได้ทุกเวลา ทุกอิริยาบถ  ทุกเพศทุกวัน   การฝึกสมาธิแบบนี้  ต้องฝึกเป็นประจำและต่อเนื่องจนเป็นนิสัย  จึงเกิดประโยชน์แก่ตนเอง  กล่าวกันว่าอานาปานสติ เป็นกรรมฐานที่ใช้มากที่สุดในโลก โดยเฉพาะในประเทศไทย

อานาปานสติ หรือ อานาปานสติภาวนา   แปลว่า  การอบรมจิตด้วยการใช้ลมหายใจเข้าออก  อานาปานะ แปลว่า ลมหายใจเข้าออก  อานะ แปลว่า หายใจเข้า  อปานะ  แปลว่าหายใจออก  สติ คือการกำหนดรู้     อานาปานสติ  จึงแปลว่า  สติกำหนดลมหายใจเข้าออก  ภาวนา คือ การอบรม  อานาปานสติภาวนา จึงแปลว่า การอบรมจิตด้วยการใช้สติกำหนดลมหายใจเข้าออก

ขั้นตอนในการฝึกสมาธิตามหลักอานาปานสติ

วิธีการปฏิบัติสมาธิ  มีขั้นตอน ดังนี้.-

1.  การเลือกสถานที่               ควรเป็นสถานที่เงียบ สงบ อากาศถ่ายเท ไม่มีเสียงรบกวน

2.  นมัสการพระรัตนตรัย    กล่าวคำบูชาพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์  และกราบ 3 หน

          3.  สมาทานศีล                   ตั้งจิตที่จะรักษาศีล 5 โดยการไม่ล่วงละเมิด

4.  ตัดความกังวล                  ละความคิดที่ฟุ้งซ่านต่างๆ ในจิตใจ

5.  กำหนดเวลา         ระยะเวลาที่นั่งสมาธิที่เหมาะสมตั้งแต่  15  ถึง  30  นาที

6.  นั่งสมาธิต่างแบบที่กำหนด          นั่งกับพื้น จะนั่งพับเพียบหรือขัดสมาธิก็แล้วแต่ถนัด

7.  ทำสมาธิตามวิธีที่เลือกไว้           กำหนดวิธี จะใช้การภาวนาว่า พุทโธ หรือการนับก็ได้

8.  แผ่เมตตา                      แสดงความปรารถนาดีต่อสรรพสัตว์ทั้งปวง

การนั่งสมาธิแบบอานาปานสติ     

                        1)   ท่านั่ง  ให้นั่งบนพื้นในท่า  ?สมาธิ?  เหมือนพระพุทธรูปปางสมาธิ  ตั้งกายให้ตรง  ตั้งสติให้มั่น  เท้าขวาทับเท้าซ้าย มือขวาทับมือซ้ายชิดหน้าท้อง หัวแม่มือจรดกัน 

                        2)  หลับตา กำหนดจิตไว้ที่ลมหายใจเข้า-ออก  อย่าคิดเรื่องอื่น  ถ้าคิดเรื่องอื่นให้ดึงจิตกลับมาอยู่กับลมหายใจเข้า-ออก แล้วภาวนา ?หายใจเข้าว่า พุทธ หายใจออกว่า โธ หรือจะใช้วิธีอื่นๆเช่นการนับก็ได้ 

                        3)   ลืมตาจากสมาธิ  แล้วแผ่เมตตาอีกครั้ง

อุปสรรคในการปฏิบัติสมาธิ            

                        ในการทำสมาธินั้น  สิ่งที่จะควบคุมจิตได้ดีต้องกำหนดสติ คือความระลึกอยู่ ให้อยู่ตลอดเวลา  และละอุปสรรคที่เรียกว่ากิเลส  คือ นิวรณ์  ได้แก่ อารมณ์ใคร่ในกาม  อารมณ์โกรธ  ความง่วงเหงาหาวนอน  และความลังเล  ให้ได้ก่อน  จึงจะทำจิตเป็นสมาธิได้

กิจกรรมการเรียน   หน่วยที่ 7

คำสั่ง     ให้นักเรียนศึกษาหน่วยการเรียน แล้วตอบคำถามต่อไปนี้

1.      สมาธิคืออะไร  จิตที่เป็นสมาธิต้องมีลักษณะอย่างไร

2.      พระพุทธเจ้าทรงตรัสจุดประสงค์ของการฝึกสมาธิไว้อย่างไร 

3.      การฝึกสมาธิ ก่อให้เกิดประโยชน์อย่างไรบ้าง จงอธิบาย

4.      อานาปานสติ  แปลว่าอะไร  อานาปานสติภาวนา คือการฝึกสมาธิแบบใด

5.      ขั้นตอนของการฝึกสมาธิแบบอานาปานสติ ต้องทำอย่างไรบ้าง

เห็นว่าบทความนี้มีประโยชน์ โปรดแชร์....