พุทธศาสนสุภาษิตและศัพท์ทางพระพุทธศาสนา

      ปิดความเห็น บน พุทธศาสนสุภาษิตและศัพท์ทางพระพุทธศาสนา

1.    พุทธศาสนสุภาษิต

            พุทธศาสนสุภาษิต   คือหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ที่มีเนื้อหาสาระมีประโยชน์ที่ควรนำมาปฏิบัติ  ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว และเหล่าพระสาวกก็ได้กล่าวไว้เช่นกัน เป็นถ้อยคำที่กล่าวไว้ดี มีคติเตือนใจ เป็นคาถาหรือข้อความสั้นๆ  ยังไม่ได้อธิบายขยายความ  ซึ่งส่วนมากจะเขียนและอ่านเป็นแบบภาษาบาลี

            การศึกษาพุทธศาสนาสุภาษิต ทำให้นักเรียนได้รับประโยชน์  ในด้านการอ่านและเขียนภาษาบาลีได้อย่างถูกต้อง  ได้รู้หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนาที่เป็นข้อเตือนใจ สามารถอธิบายขยายหลักธรรมให้พิสดารได้ และได้เรียนรู้หลักธรรมที่จะนำไปเป็นแนวทางแห่งการดำเนินชีวิตได้เป็นอย่างดี

            ในปัจจุบันพุทธศาสนสุภาษิต  ได้ถูกนำไปใช้เป็นปรัชญาของสถาบันการศึกษาและหน่วยงานต่างๆ ทั้งของรัฐและเอกชน เพื่อใช้เป็นแนวทางแห่งการปฏิบัติ ทั้งชาวพุทธแต่ละคนยังได้ยึดเป็นคติประจำใจด้วย

ตัวอย่างพุทธศาสนาสุภาษิต   ที่ควรศึกษาและนำไปปฏิบัติ

กมฺมุนา  วตฺตตี  โลโก

คำอ่าน       กัมมุนา  วัตตะตี  โลโก              

     (กำ มุ นา วัด  ตะ  ตี  โล  โก )

       คำแปล       สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม

ขยายความ =  กรรม หมายถึง  การกระทำของแต่ละบุคคลที่กำลังกระทำอยู่ในปัจจุบัน อาจจะเป็นกรรมดีหรือกรรมชั่วก็ได้  การกระทำนั้นเกิดได้ 3 ทาง คือ กาย วาจา และใจ  กรรมคือตัวบ่งชี้ทิศทางของแต่ละคน คนผู้ประกอบกรรมดีจะได้รับแต่สิ่งดีๆ ส่วนผู้ประกอบกรรมชั่วก็จะได้รับสิ่งไม่ดีต่างๆ  ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับตัวเราจึงมาจากกรรมคือการกระทำของเราทั้งสิ้น  มนุษย์และสรรพสัตว์ ถือว่าเป็นสัตว์โลกด้วยกัน ทุกชีวิตล้วนดำเนินชีวิตอยู่กับการกระทำของตัวเอง ไม่มีใครบังคับขู่เข็ญชีวิตเราได้ได้นอกจากกรรมเท่านั้น  ฉะนั้น คนเราจึงมีวิถีชีวิตไม่เหมือนกัน เพราะมีการกระทำหรือกรรมที่ต่างกัน

กลฺยาณการี  กลฺยาณํ   ปาปการี  จ ปาปกํ

คำอ่าน    กัละยาณะการี  กัละยาณัง  ปาปะการี  จะ  ปาปะกัง

( กัน  ละ  ยา  ณะ  กา  รี  กัน  ยา  นัง  ปา  ปะ  กา  รี  จะ  ปา  ปะ  กัง )

         คำแปล    ทำดีได้ดี  ทำชั่วได้ชั่ว

            ขยายความ  =  การกระทำของมนุษย์มีทั้งดีและชั่ว  การทำดี คือ การกระทำแล้วตนเองสบายใจ และผู้อื่นก็ไม่เดือดร้อน ส่วนการทำชั่ว  คือ การกระทำแล้วตัวเองไม่สบายใจและผู้อื่นก็เดือดร้อนด้วย   พระพุทธศาสนาตั้งอยู่บนหลักของเหตุและผลสอนให้บุคคลเชื่อเรื่องกรรมคือการกระทำ  ใครทำเช่นใดก็ย่อมได้รับผลเช่นนั้น  ไม่มีใครหนีผลของการกระทำที่ตัวเองได้กระทำไว้ไปได้ ฉะนั้นผู้ต้องการความเจริญแห่งชีวิต ก็พึงทำแต่ความดีไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน  การกระทำของเราเปรียบกับการหว่านพืช หว่านพืชเช่นใด ก็ย่อมได้รับผลเช่นนั้น  จะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้  ทุกคนจงเชื่อในการกระทำของตนเอง

สุโข  ปุ?ฺ?สฺส  อุจฺจโย

คำอ่าน      สุโข  ปุญญัสสะ  อุจจะโย         

               ( สุ  โข  ปุณ  ยัด  สะ  อุด  จะ  โย )

คำแปล     การสั่งสมบุญนำสุขมาให้

            ขยายความ =      บุญ  หมายถึง ผลที่เกิดจากการกระทำความดี คือความสบายกาย สบายใจ  เป็นผลอันต่อเนื่องจากการกระทำดีที่เราได้กระทำไป   การกระทำบุญ  ทำได้หลายวิธีทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ  สิ่งใดที่ทำไปแล้วผู้อื่นไม่เดือดร้อน  แล้วตัวเองก็สบายใจนั้นถือว่าเป็นบุญ  เราควรได้ทำบุญไว้อย่างเสมอ  เพราะผลที่เกิดขึ้นจากกระทำให้เรามีความสุขทางใจ และมีความสุขในการดำเนินชีวิตในปัจจุบัน  การสั่งสมบุญ  เป็นการทำความดีอย่างสม่ำเสมอ ทุกโอกาสที่จะทำได้ ไม่ควรผลัดวันประกันพรุ่ง  เพราะการทำความดีนั้นไม่จำเป็นต้องเลือกเวลาทำได้ตลอด  ยิ่งทำมากเท่าไร่ย่อมได้รับอานิสงส์มาก  ความสุขถือว่าเป็นอานิสงส์  สุขนั้น หมายเอาสุขทางใจ และสุขในการมีชีวิตอยู่ในปัจจุบันที่ไม่ต้องเดือดร้อนใดๆ  ฯ

2. คำศัพท์ทางพระพุทธศาสนา

ฌาน

            ฌาน  หมายถึงสมาธิแน่วแน่สนิทเรียกว่า  อัปปนาสมาธิ  เมื่อจิตเป็นสมาธิถึงขั้นนี้ก็เป็นอันเข้าสู่สภาวะที่เรียกว่า  ฌาน  ในฌานนั้น  สมาธิหรือที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า  เอกัคคตา  จะมีองค์ธรรมอื่น ๆ จำนวนหนึ่งเป็นตัวประกอบร่วมอยู่ด้วยเป็นประจำเสมอไป  ฌานมีหลายขั้น  คือแบ่งเป็น 4 ตามแนวพระสูตรแต่เดิมบ้าง  เป็น 5 ตามแนวพระอภิธรรมบางแห่งบ้าง ยิ่งเป็นฌานขั้นสูงขึ้นไป ก็ยิ่งประณีตขึ้น  ยิ่งประณีตขึ้นก็ยิ่งมีองค์ธรรมประกอบร่วมประจำน้อยลงตามลำดับ องค์ธรรมประกอบร่วมประจำในฌานรวมทั้งตัวสมาธิ หรือเอกัคคตาด้วยนั้น เรียกกันสั้น ๆ ว่าองค์ฌานหรือตามบาลีว่า  ฌานงค  มีทั้งหมด  6 อย่างคือ  วิตก  วิจาร  ปีติ  สุข  อุเบกขา  และเอกัคคตา  มีความหมายสังเขปดังนี้

1.  วิตก  แปลว่า  ความตรึก  หมายถึง  การจรดหรือปักจิตลงไปในอารมณ์  มีในปฐมฌาน

2.  วิจาร  แปลว่า  ความตรอง  หมายถึง การเคล้า หรือเอาจิตผูกพันอยู่กับอารมณ์  มีในปฐมฌาน

องค์ฌาน 2 ข้อนี้  ต่อเนื่องกัน คือ  วิตก เอาจิตจรดไว้กับอารมณ์ วิจาร  เอาจิตเคล้าอารมณ์นั้นเปรียบได้กับการเอาภาชนะสำริดที่สนิมจับไปขัด  วิตกเหมือนมือที่จับภาชนะเอาไว้ วิจาร  เหมือนมือถือแปรงขัดสีไปมา  หรือเปรียบกับช่างปั้นหม้อ วิตกคือมือที่กดเอาไว้  วิจาร คือมือที่แต่งไปทั่ว ๆ  ข้อสำคัญคืออย่าเอาวิตกหรือวิตักกะทางธรรมนี้   มาปะปนกับวิตกที่หมายถึง  ความกังวลทุกข์ร้อนในภาษาไทย

3.  ปีติ  แปลว่า  ความอิ่มใจ  ดื่มด่ำ หรือเอิบอิ่ม  หมายเอาเฉพาะปีติชนิดที่แผ่เอิบอาบซาบซ่านไปทั่วสรรพางค์กาย  ที่เรียกว่า  ผรณาปีติ  ปีติมีในฌานที่ 1 และ 2

          4.  สุข  แปลว่า  ความสุข  หมายถึงความสำราญ  ชื่นฉ่ำ  คล่องใจ  ปราศจากความบีบคั้นหรือรบกวนใด ๆ มีในฌานที่ 1 ถึงที่ 3

            ปีติ  กับสุข  สำหรับบางคนอาจสับสนแยกยาก  จึงทราบลักษณะที่แตกต่างกัน  กล่าวคือ  ปีติ  หมายถึง  ความยินดีที่ได้อารมณ์ที่ต้องการ  ส่วนสุขหมายถึง  ความยินดีในการเสวยอารมณ์ที่ต้องการ  ตัวอย่างเช่น  คนที่เดินทางมาในทะเลทรายเหนื่อยอ่อน  แสนจะร้อนและหิวกระหาย  ต่อมาเขาเห็นหมู่ไม้และแอ่งน้ำหรือพบคนอีกคนหนึ่งซึ่งบอกเขาว่ามีหมู่ไม้และแอ่งน้ำอยู่ใกล้ที่นั้น  หลังจากนั้นเขาก็ได้ไปถึง  เข้าพักผ่อนและดื่มน้ำที่หมู่ไม้และแอ่งน้ำนั้นสมใจ  อาการดีใจที่ได้เห็นหรือได้ยินข่าวหมู่ไม้และแอ่งน้ำนั้น  เรียกว่าปีติ  อาการชื่นใจเมื่อได้เข้าพักที่ใต้ร่มไม้และดื่มน้ำ  เรียกว่าสุข

          5.  อุเบกขา  แปลว่า  ความวางเฉย  หรือความมีใจเป็นกลาง  หรือแปลให้เต็มว่า  ความวางเฉยดูอยู่  หมายถึง  การดูอย่างสงบ  หรือดูตามเรื่องที่เกิด  ไม่ตกเป็นฝักฝ่าย  ในกรณีของฌาน  คือไม่ติดแม้ในฌานที่มีความสุขอย่างยอด  และความหมายที่สูงขึ้นไปอีก  หมายถึง  วางทีดูเฉยในเมื่ออะไรทุกอย่างเข้าที่ดำเนินการไปด้วยดี  หรือเสร็จเรียบร้อยแล้ว  ไม่ต้องเจ้ากี้เจ้าการโดยเฉพาะในฌานที่ 4  คือบริสุทธิ์จากธรรมที่เป็นข้าศึกเรียบร้อยแล้ว  จึงไม่ต้องขวนขวายที่จะกำจัดธรรมที่เป็นข้าศึกนั้นอีก  จัดเป็นองค์ฌานโดยเฉพาะของฌานที่ 4 

ความจริงอุเบกขามีในฌานทุกขั้น  แต่ในขั้นต้น ๆ ไม่เด่นชัด  ยังถูกธรรมที่เป็นข้าศึก  เช่น  วิตก  วิจาร  และสุขเวทนา  เป็นต้นข่มไว้  เหมือนดวงจันทร์ในเวลากลางวัน  ไม่กระจ่าง  ไม่แจ่ม เพราะถูกแสงอาทิตย์ข่มไว้  ครั้นถึงฌานที่ 4 ธรรมที่เป็นข้าศึกระงับไปหมด  และได้ราตรีคืออุเบกขาเวทนา (คือ  อทุกขมสุขเวทนา)  สนับสนุน  ก็บริสุทธิ์  ผุดผ่อง  แจ่มชัด  และพาให้ธรรมอื่น ๆ  ที่ประกอบอยู่ด้วย เช่น สติ  เป็นต้น  พลอยแจ่มชัดบริสุทธิ์ไปด้วย

6.  เอกัคคตา  แปลว่าภาวะที่จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่งเดียวได้แก่ตัวสมาธินั้นเอง  มีในฌานทุกขั้น 

ญาณ

ญาณ  หมายถึง   เป็นความรู้  ปรีชาหยั่งรู้ หรือปรีชากำหนดรู้ หรือปัญญา มีหลายหมวดเช่น

 

ญาณ 3 ได้แก่    1.  อตีตังคญาณ    คือ  กำหนดรู้ในส่วนอดีต

                        2.  อนาคตังสญาณ   คือ กำหนดรู้ในส่วนอนาคต

                        3.  ปัจจุปปันนังสญาณ   คือ  กำหนดรู้ในส่วนปัจจุบัน

วิชชา 3 (ความรู้วิเศษ)   คือ ญาณที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ธรรม ได้แก่

              1. ปุพเพนิวาสานุสติญาณ    คือ ความรู้ที่ให้ระลึกชาติได้

                        2. จุตูปปาตญาณ    คือ  ความรู้จุติและอุบัติของสัตว์ทั้งหลาย

                        3. อาสวักขยญาณ   คือ  ความรู้ที่ทำอาสวะกิเลสให้สิ้น

ปัญญา 2 ได้แก่              

                        1. โลกิยปัญญา      (ความรู้แบบโลก)

                        2. โลกุตตรปัญญา  (ความรู้ข้ามพ้นโลก)

ปัญญา 3 ได้แก่  

                       1. สุตมยาปัญญา  (ปัญญาเกิดจากจากการฟัง)

                        2. จินตามยาปัญญา  (ปัญญาเกิดจากจากการคิด)

                        3. ภาวนามยาปัญญา  (ปัญญาเกิดจากจากการอบรมปฏิบัติ)

เห็นว่าบทความนี้มีประโยชน์ โปรดแชร์....