แนวข้อสอบวิชาอภิปรัชญา

      ปิดความเห็น บน แนวข้อสอบวิชาอภิปรัชญา

แนวข้อสอบวิชาอภิปรัชญา

———————————————————————————

            ๑)        ในฐานะที่ท่านได้เรียนปรัชญามาแล้ว ถ้ามีผู้ถามท่านว่า อภิปรัชญาคืออะไร ท่านจะอธิบายให้เขาเข้าใจได้โดยสังเขปอย่างไร ?

            ตอบ      คำว่า “อภิปรัชญา” นั้น ในเบื้องต้นแปลตามอักษรว่า ปรัชญาอันยิ่ง หรือปรัชญาชั้นสูง ถ้าโดยใจความคำว่า อภิปรัชญา แปลว่า ความรู้อันประเสริฐ ซึ่งจะได้อธิบายโดยสังเขปต่อไปว่า

            อภิปรัชญา นั้นเป็นวิชาที่ศึกษาเพื่อสืบค้นความจริงอันสูงสุดหรือความจริงอันเป็นอันติมะเกี่ยวข้องด้วยมนุษย์และโลกที่มนุษย์อาศัยอยู่ ทั้งที่เป็นอดีต ปัจจุบันและอนาคต ด้วยหลักแห่งเหตุผลเพราะว่านักปรัชญามีความคิดที่สงสัยเป็นพื้นฐานอยู่ก่อนแล้วว่า มนุษย์เกิดขึ้นและดำรงเผ่าพันธุ์สืบต่อกันมาได้อย่างไร มีอะไรเป็นเหตุให้เป็นไปอย่างนั้นจึงคิดหาเหตุผลตามที่ตนเห็นว่าน่าจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้แล้วได้แสดงทรรศนะตามแนวคิดของตนออกมาให้คนอื่นรับรู้ และเมื่อคนอื่นรับรู้ยอมรับในแนวความคิดของตนที่ได้สืบค้นพบความจริงตามว่าถูกต้องแล้ว จึงเรียกแนวความคิดที่นักปรัชญาเหล่านั้นได้แสดงทรรศนะนั้นไว้ ว่าอภิปรัชญา คือความจริงอันสูงสุด  เช่น นักปรัชญาบางคนคิดค้นเรื่องโลกและจักรวาลว่ามีกำเนิดมาอย่างไร โลกนี้เกิดขึ้นดำเนินไปได้ด้วยตนเองหรือมีอะไรอยู่เบื้องหลังของโลกและจักรวาล เมื่อคิดไปได้เหตุผลเป็นที่พอใจของตนก็นำเสนอให้ผู้อื่นรู้ตามนั้นและเชื่อว่าเป็นอย่างนั้น ก็คือว่า การสืบค้นหาความจริงตามแนวนั้น อันเกี่ยวด้วยมนุษย์และโลกที่มนุษย์อาศัยอยู่ ก็เป็นอภิปรัชญา ดังได้อธิบายมาโดยสังเขปนี้

            ๒)        ทัศนะทางอภิปรัชญา ของปรัชญาสสารนิยม กับปรัชญาจิตนิยมแตกต่างกันโดยสาระอย่างไร ?

            ตอบ      จะได้อธิบายความแตกต่างของปรัชญาสสารนิยม และปรัชญาจิตนิยม ดังต่อไปนี้

            ปรัชญาสสารนิยมเชื่อว่า โลกและจักรวาล รวมทั้งมนุษย์และทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่ในโลกมีความจริงอยู่เพียงอย่างเดียวคือสสารหรือวัตถุเท่านั้น สิ่งทั้งหลายไม่ว่าโลกจักรวาลหรือมนุษย์และสิ่งที่มีอยู่ในโลกล้วนมีมาจากสิ่งเดียวคือ สสารหรือวัตถุเท่านั้น แต่ที่เรามองเห็นและสัมผัสได้ว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ทางกายภาพนั้นไม่มีอยู่จริงเพียงแต่เป็นการรวมตัวของสสารเท่านั้นไม่มีอะไรเกิด ไม่มีอะไรดับมีเพียงแต่สสารหรือวัตถุที่รวมกลุ่มกันหรือแยกตัวกันเท่านั้น ดังนั้นปรัชญาสสารนิยมจึงให้ความสำคัญในด้านวัตถุมากและต่างก็พากันมุ่งแสวงหาวัตถุให้มากที่สุดเท่าที่ตนเองต้องการ

            ส่วนปรัชญาจิตนิยมเชื่อว่าโลกจักรวาลตลอดถึงพวกมนุษย์มีสิ่งจริงแท้เพียงอย่างเดียว สิ่งนั้นคือ ”จิต”   นักปรัชญาพวกจิตนิยม เชื่อว่าโลกจักรวาลตลอดถึงมนุษย์และสรรพสิ่งที่มีอยู่ในโลกไม่มีอยู่จริงมีสิ่งที่มีอยู่จริงเพียงสิ่งเดียวเท่านั้นสิ่งนั้นก็คือจิต จิตเป็นอสสารมองไม่เห็น สัมผัสด้วยการภาพไม่ได้แต่เป็นสิ่งมีอยู่จริง สิ่งอื่นๆล้วนเกิดมาจากจิตทั้งนั้น ทุกสิ่งเกิดขึ้นดำรงอยู่ตามเจตจำนงของจิตเท่านั้นดังนั้นพวกจิตนิยมจึงพากันมุ่งแสวงหาความสุขอันเกิดจากจิต

            ๓)        แนวความคิดทางอภิปรัชญาทางสสารนิยมกับธรรมชาตินิยมเหมือนกันหรือต่างกันอย่างไรบ้าง  อธิบาย ?

            ตอบ      สสารนิยมเห็นเหมือนกับธรรมชาตินิยมที่ว่า ในจักรวาลหรือในโลกนี้รวมทั้งสิ่งที่มีอยู่ในโลก มีสิ่งที่เป็นจริง  มีอยู่จริงเพียงสิ่งเดียวเท่านั้นสิ่งนั้นก็คือ สสารและปรากฏการณ์ของสสารเท่านั้น

            ธรรมชาตินิยมก็มีทรรศนะเช่นนั้นเหมือนกัน คือ ชาวธรรมชาตินิยมถือว่าจักรวาลหรือโลกที่ประกอบไปด้วยสิ่งธรรมชาติเท่านั้นที่เป็นจริงหรือมีอยู่จริง

            รวมความว่า ชาวสสารนิยมกับธรรมชาตินิยม มีทรรศนะเหมือนกันอยู่ประการหนึ่ง คือ ทรรศนะที่ว่า จักรวาลหรือโลก “มีสิ่งจริงแท้เพียงสิ่งเดียวเท่านั้น”

            ส่วนที่แตกต่างกันนั้นมีดังนี้ คือ ชาวธรรมชาตินิยมถือว่าโลกหรือจักรวาล เป็นสิ่งที่ดำรงอยู่ในระบบของอวกาศและเวลาเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นและดับลงโดยสาเหตุและสาเหตุนั้นก็เป็นสิ่งธรรมชาติเท่านั้น

            ส่วนชาวสสารนิยมถือว่า ในจักรวาลหรือโลกมีสิ่งจริงเพียงสิ่งเดียวคือสสารหรือวัตถุเท่านั้น

  1. จงเขียนบรรยายให้ได้สาระสำคัญเกี่ยวกับปรัชญาจิตนิยมของเพลโต ?

ตอบ      จะได้บรรยายสาระสำคัญของปรัชญาจิตนิยมของเพลโตดังต่อไปนี้

เพลโตมีแนวคิดอันแน่วแน่ว่า เนื้อแท้ของจักรวาลนั้นมีเพียง  ๒  ประเภท คือ

  1. สิ่งทั้งหลายที่เป็นวัตถุจับต้องได้ มองเห็นได้ เราเรียกว่า สสารหรือมีลักษณะกายภาพ
  2. สิ่งที่เป็นอสสาร คือไม่ใช่วัตถุจังต้องไม่ได้ เขาเรียกสิ่งนี้ว่า “แบบ”  (Form)  เช่น นายแดง นายดำ นายเขียว เป็น “สิ่ง”  เพราะเป็นสสารมองเห็นได้ สามสิ่งมีอยู่ในโลก ร่างกายของเขาทั้งสามเป็นวัตถุหรือสสาร   สามสิ่งที่มีอยู่จริงในโลก  ทั้งสามสิ่งนี้มีลักษณะบางอย่างเหมือนกันกล่าวคือเป็น “คน"”เหมือนกัน แม้เขาจะมีลักษณะต่างกันเช่น นายแดงสูง  นายดำเตี้ย นายเขียวปานกลาง แดงผิวขาว ดำผิวเหลือง นายเขียวผิวคล้ำ ฯลฯ แต่ทั้งสามนี้มีอะไรเหมือนกันอยู่อย่างหนึ่งคือ “ความเป็นคน”

เพลโตเรียก “ความเป็นคน” หรือ “คน”  ว่า “แบบ”   แบบคือลักษณะกลางที่สิ่งหลายสิ่งมีร่วมกัน แดง  ดำ เขียว แม้จะแตกต่างกันในหลายๆ ด้านแต่ก็อยู่ในแบบเดียวหรือจำลองออกจากแบบเดียวกัน คือโลกแห่งแบบ

สรุปว่า ตามทรรศนะของเพลโตแล้วจักรวาลมีสิ่งจริงแท้เพียง  ๒  อย่างคือ

  1. โลกแห่งแบบ
  2. โลกของวัตถุ

๕)        ปรัชญาจิตนิยมของเพลโตกับปรัชญาจิตนิยมของเบิรกเลย์ มีสาระสำคัญแตกต่างกันอย่างไรหรือไม่  อธิบาย ?

ตอบ      ปรัชญาจิตนิยมของเพลโตและของเบิร์กเลย์  มีความแตกต่างกันดังต่อไปนี้ คือ

๑          ปรัชญาจิตนิยมของเพลโตมีทรรศนะว่า ในจักรวาลมีสิ่งจริงแท้เพียง  ๒  อย่าง คือวัตถุอย่าง ๑  โลกแห่งแบบอย่าง๑  โดยอธิบายสิ่งทั้งหลายที่มีและมองเห็นได้นั้นไม่ใช่สิ่งจริงแม้ แต่เป็นสิ่งจำลองมาจากแบบ   “แบบ” เป็นสิ่งจริงแท้เป็นสิ่งนิรันดร์ไม่เปลี่ยนแปลง และโลกแห่งแบบนั้นสมบูรณ์ที่สุด สวยที่สุด ท่านยกตัวอย่างว่า  ม้าที่เราเห็นอยู่ในโลกไม่สวยงามสมสัดส่วนเหมือนม้าที่มีอยู่ในโลกของแบบดังนี้เป็นต้น

ส่วนปรัชญาจิตนิยมของเบิร์กเลย์ นั้น ท่านมีทรรศนะว่า โลกภายนอกกายของเรานี้ คือ ผลรวมของผลานุกรมที่เกิดขึ้น จากจิตใจของเราโดยอาศัยเหตุอย่างหนึ่ง  ซึ่งไม่ใช่วัตถุกายภาพแน่นอน เหตุอันสูงส่งนี้ คือพระเจ้า  (Good)  ซึ่งหมายถึงพระบรมจิต ซึ่งเป็นประธานแห่งจิตน้อยๆ ทั้งหลาย พระเจ้าของเบิร์กเลย์ คือ “ความเมตตา” สิ่งที่เราเรียกว่า ธรรมชาติ ก็คือผลที่เกิดจากพระเจ้ากระตุ้นระบบอินทรีย์สัมผัส หรือมโนคติในใจคนเรา

สรุปว่า เบิร์กเลย์ เชื่อว่า ทุกสิ่งมาจากผู้สร้างคือ บรมจิต คือเชื่อในความมีอยู่ของพระเจ้า  

ส่วน เพลโตไม่เชื่ออย่างนั้น จึงมีความแตกต่างกันดังกล่าวมานี้

ดาวน์โหลดสื่อการสอน

เห็นว่าบทความนี้มีประโยชน์ โปรดแชร์....