พระอาจารย์ผู้สอนนักธรรมแก่ผมท่านกล่าวว่า วิชาธรรมะ พุทธประวัติ ถ้าพระภิกษุสามเณรผู้อยู่ในวัด เป็นทั้งผู้ปฏิบัติและเผยแผ่พระพุทธศาสนาไม่เรียน แล้วใครเล่าจะเรียน ด้วยเหตุนั้น ผมจึงเพียรพยายามเรียนนักธรรมจนสอบได้นักธรรมชั้นเอก
เนื่องจากผมไม่ต้องการให้เนื้อหาทั้งหมดซ้ำกับเนื้อหาอื่น ๆ ใน google ผมจึงขออนุญาตแทรกคำอธิบายไว้ในวงเล็บ ในส่วนของคำอธิบายนั้นไม่ใช่คำตอบจากแม่กองธรรมสนามหลวง นักสอบไม่จำเป็นต้องนำไปตอบในสนามหลวง
ปัญหาและเฉลยวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี ปี2562
สอบในสนามหลวง วันอังคาร ที่ ๘ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒
๑. โลกเดือดร้อนวุ่นวายในปัจจุบันนี้ เพราะขาดธรรมอะไร ?
ตอบ เพราะขาดธรรมคุ้มครองโลก ๒ อย่าง คือ
๑. หิริ ความละอายบาป
๒. โอตตัปปะ ความกลัวบาป ฯ
๒. คนที่ทำอะไรมักพลั้งพลาด เพราะขาดธรรมอะไร ?
ตอบ เพราะขาดสติ ความระลึกได้ก่อนแต่จะทำ และขาดสัมปชัญญะ ความรู้ตัวในขณะทำ ฯ
๓. บุพพการีและกตัญญูกตเวทีได้แก่บุคคลเช่นไร ?
ตอบ บุพพการี ได้แก่ บุคคลผู้ทำอุปการะก่อน
กตัญญูกตเวที ได้แก่ บุคคลผู้รู้อุปการะที่ผู้อื่นทำแก่ตนแล้วทำตอบแทน ฯ
(บุพพการี ศัพท์ ในพจนานุกรมตัด พ ออกตัวหนึ่ง เป็น บุพการี ในทางพระอาจจะยังต้องเขียน บุพพการี อยู่ เหมือนคำว่า สัจจธรรม ในพจนานุกรมเขียนแต่เพียง สัจธรรม)
๔. สิ่งเป็นที่ตั้งแห่งการบำเพ็ญบุญเรียกว่าอะไร ? โดยย่อมีอะไรบ้าง ?
ตอบ เรียกว่า บุญกิริยาวัตถุ ฯ โดยย่อมี ๓ คือ
๑. ทานมัย บุญสำเร็จด้วยการบริจาคทาน
๒. สีลมัย บุญสำเร็จด้วยการรักษาศีล
๓. ภาวนามัย บุญสำเร็จด้วยการเจริญภาวนา ฯ
๕. รัตนะ ๓ มีอะไรบ้าง ? รัตนะ ๓ นั้น มีคุณอย่างไร ?
ตอบ มี พระพุทธ ๑ พระธรรม ๑ พระสงฆ์ ๑ ฯ มีคุณอย่างนี้ คือ
๑. พระพุทธเจ้ารู้ดีรู้ชอบด้วยพระองค์เองก่อนแล้ว สอนผู้อื่นให้รู้ตาม
๒. พระธรรมย่อมรักษาผู้ปฏิบัติไม่ให้ตกไปในที่ชั่ว
๓. พระสงฆ์ปฏิบัติชอบตามคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว สอนผู้อื่นให้กระทำตาม ฯ
(คุณแห่งพระรัตนตรัยนั้นมีมากเป็นอนันต์ ดังคำที่ท่านกล่าว อัปปมาโณ คือไม่มีประมาณ แต่นี่กล่าวโดยย่อเท่านั้น)
๖. ผู้ที่ทำงานไม่สำเร็จผลตามที่มุ่งหมายเพราะขาดคุณธรรมอะไรบ้าง ?
ตอบ เพราะขาดอิทธิบาท คือ คุณเครื่องให้สำเร็จความประสงค์ ๔ อย่าง คือ
๑. ฉันทะ พอใจรักใคร่ในสิ่งนั้น
๒. วิริยะ เพียรประกอบสิ่งนั้น
๓. จิตตะ เอาใจฝักใฝ่ในสิ่งนั้นไม่วางธุระ
๔. วิมังสา หมั่นตริตรองพิจารณาเหตุผลในสิ่งนั้น ฯ
(ใครที่ปฏิบัติตามหลักอิทธิบาท เหมือนเป็นผู้มีอิทธิ หรือ ฤทธิ์ คือสามารถทำให้สำเร็จได้ตามประสงค์)
๗. กรรมที่เป็นบาปหนักที่สุด มีชื่อเรียกว่าอะไร ? คืออะไรบ้าง ?
ตอบ มีชื่อเรียกว่า อนันตริยกรรม ฯ คือ
๑. มาตุฆาต ฆ่ามารดา
๒. ปิตุฆาต ฆ่าบิดา
๓. อรหันตฆาต ฆ่าพระอรหันต์
๔. โลหิตุปบาท ทำร้ายพระพุทธเจ้าจนถึงยังพระโลหิต ให้ห้อขึ้นไป
๕. สังฆเภท ยังสงฆ์ให้แตกจากกัน ฯ
(การทำบาปกรรมอย่างอื่น ก็เป็นบาปกรรมเช่นกัน แต่หากมีความดีอย่างอื่นที่แรงกว่า ความดีนั้นอาจจะให้ผลก่อนได้ แต่อนันตริยกรรม ๕ ประการนี้ ไม่มีกรรมอย่างอื่นขั้น อนันตริยกรรมจะให้ผลหลังจากละอัตภาพนี้ไปอย่างแน่นอน
ฉะนั้น คนที่ทำกรรมอย่างอื่น เช่น ฆ่าสัตว์ (ยกเว้น ฆ่าพระอรหันต์และมารดาบิดา) ผิดลูกเมียคนอื่น เราไม่สามารถฟันธงได้ว่าเขาต้องเข้าสู่อบายทันทีหลังจากตายไป ถ้าเขาทำดีอย่างอื่น และกรรมดีนั้นแรงกว่า หรือเขาทำจิตให้ผ่องใสได้ในขณะที่กำลังจะตาย เขาอาจจะไปสู่สุคติได้ แต่เมื่อกรรมดีนั้นส่งผลเสร็จแล้ว ค่อยว่ากรรมอื่นต่อไป)
คิหิปฏิบัติ
(คิหิปฏิบัติ คือขอปฏิบัติสำหรับผู้อยู่ครองเรือน ได้แก่ อุบาสก อุบาสิกา นั่นเอง ฉะนั้น จะเห็นว่า พระพุทธเจ้าไม่ได้เกณฑ์ทุกคนว่าต้องบวช พระพุทธเจ้าแม้ทรงตรัสรู้ธรรมอย่างยิ่ง คือทางพ้นทุกข์สู่พระนิพพาน แต่พระองค์ก็ทรงสอนในเรื่องการอยู่ครองเรือนเช่นกัน เช่น หน้าที่ของพ่อแม่ที่ต้องปฏิบัติต่อลูก สามีภรรยาพึงปฏิบัติต่อกันอย่างไร เป็นต้น)
๘. ผู้หวังประโยชน์ปัจจุบันจะต้องปฏิบัติอย่างไรจึงจะได้สมหวัง ?
ตอบ ต้องปฏิบัติตามหลักทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ ๔ ประการ คือ
๑. อุฏฐานสัมปทา ถึงพร้อมด้วยความหมั่น ในการประกอบกิจการงาน ในการศึกษาเล่าเรียนในการทำธุระหน้าที่ของตน
๒. อารักขสัมปทา ถึงพร้อมด้วยการรักษาทั้งทรัพย์และการงาน ไม่ให้เสื่อมไป
๓. กัลยาณมิตตตา ความมีเพื่อนเป็นคนดี ไม่คบคนชั่ว
๔. สมชีวิตา ความเลี้ยงชีวิตตามสมควรแก่กำลังทรัพย์ที่หาได้ ฯ
(ผู้หวังประโยชน์ในปัจจุบัน ไม่ต้องไปบนบานอะไร ที่ไหน ให้ปฏิบัติตามทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ ๔ ประการนี้ มีอักษรย่อว่า อุ อา กะ สะ บางท่านเรียกว่า นี่แหล่ะ คือหัวใจเศรษฐ๊ เมื่อปฏิบัติตามแล้ว แม้ไม่รวยก็ไม่จนไม่ขัดสนแน่นอน)
๙. อบายมุข คืออะไร ? ดื่มน้ำเมามีโทษอย่างไรบ้าง ?
ตอบ คือ เหตุเครื่องฉิบหาย ฯ มีโทษ ๖ อย่าง คือ
๑. เสียทรัพย์
๒. ก่อการทะเลาะวิวาท
๓. เกิดโรค
๔. ถูกติเตียน
๕. ไม่รู้จักอาย
๖. ทอนกำลังปัญญา ฯ
(คือเหตุแห่งความฉิบหาย เหตุแห่งความเสื่อม ไม่นำไปสู่ความเจริญทั้งโลกนี้และโลกหน้า โดยเฉพาะการดื่มสุรา โทษของการดื่มสุราสามารถพิจารณาเห็นตามได้ อันดับแรกคือเสียเงิน เมาแล้วอาจก่อการวิวาทดังที่เป็นข่าวทุกวัน เมื่อเป็นข่าวก็ถูกตำหนิติเตียนทั้งในโซเซียลและในชีวิตจริง ดื่มแล้วทำให้ไม่รู้จักบาปบุญคุณโทษ ในที่สุดสะสมเข้านาน ๆ กลายเป็นโรคพิษสุราเรื้อรังได้)
๑๐. ความสุขของผู้ครองเรือนตามหลักพระพุทธศาสนา เกิดมาจากเหตุอะไรบ้าง ?
ตอบ เกิดจากเหตุ ๔ อย่าง คือ
๑. สุขเกิดแต่ความมีทรัพย์
๒. สุขเกิดแต่การจ่ายทรัพย์บริโภค
๓. สุขเกิดแต่ความไม่ต้องเป็นหนี้
๔. สุขเกิดแต่ประกอบการงานที่ปราศจากโทษ ฯ
(ใครที่บอกว่า พระพุทธเจ้าสอนให้ละอย่างเดียว ไม่ใช่แล้ว พระพุทธศาสนาก็ยอมรับว่า ในฐานผู้อยู่ครองเรือนแล้ว การมีเงิน การใช้เงินก็เป็นความสุขอย่างหนึ่ง ความสำคัญคือต้องหามาอย่างถูกต้องและใช้จ่ายให้ถูกวิธี การไม่เป็นหนี้ก็เป็นสุขในโลกของการอยู่ครองเรือน ไม่ต้องระแวงว่าเขาจะมาทวงเมื่อไหร่ การทำงานปราศจากโทษคือไม่ผิดทั้งกฎหมายไม่ผิดทั้งศีลธรรม เช่น ไม่คดโกงใคร ไม่แย่งชิงของใคร เป็นต้น)
ที่มา : www.gongtham.net
ผมเชื่อว่า การศึกษาพระพุทธศาสนานั้นมีประโยชน์เป็นอย่างมาก จากที่อ่าน จะเห็นว่า หลายข้อ สามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้จริง แต่คุณจะนำมาใช้หรือไม่นั่นเอง ขอบคุณแม่กองธรรมสนามหลวงสำหรับคำเฉลยข้อสอบวิชาธรรม นักธรรมชั้นตรี ปี 2562