พระพุทธศาสนากับเวลา ๑๐ นาที โดย สมเด็จพระญาณวโรดม
—————-
1. พระพุทธศาสนา คือคำสั่งสอนของท่านผู้รู้ (เข้าในพระปัญญาคุณ) ของท่านผู้ตื่น ผู้เบิกบาน จากกิเลส (พระบริสุทธิคุณ) และของท่านผู้สอนให้ผู้อื่นรู้ ปลุกให้เขาตื่น (พระกรุณาคุณ)
2. ที่ว่ารู้นั้น คือรู้ว่า นี่เป็นทุกข์ นี่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ นี่สุขที่แท้จริง นี่เป็นเหตุให้ได้สุข
3. พระพุทธศาสนา มีพระรัตนตรัยเป็นหลักสำคัญกล่าวโดยย่อๆ ดังนี้:
พระพุทธ คือพระพุทธเจ้าผู้ตั้งพระพุทธศาสนา ท่านเป็นโอรสของพระเจ้าแผ่นดิน คือพระเจ้าสุทโธทนะ แห่งแคว้นสักกะ ท่านทรงพระนามเดิมว่า เจ้าชายสิทธัตถะ ทรงเป็นรัชทายาท ทรงสมบูรณ์ด้วยวิชาความรู้ ด้วยสมบัติมหาศาล ด้วยพระรูปโฉม ด้วยพระกำลังสามารถ ทรงมีพระชายา มีพระโอรสแล้วท่านทรงสละหมด ทรงออกบวช เพื่อค้นหาธรรมเป็นเครื่องทำให้พ้นทุกข์แล้วนำมาสอนประชาชนให้เขาพ้นทุกข์ ทรงใช้เวลา 6 ปีจึงสำเร็จ ทรงตรัสรู้โดยไม่ได้มีใครสอน สิ่งที่ทรงตรัสรู้นั้น คืออริยสัจของจริงอย่างประเสริฐ แล้วทรงสั่งสอนประชาชน 45 ปี จนปรินิพพาน (ดับ) โดยมิได้หวังสิ่งตอบแทน สิ่งที่ทรงสั่งสอนนั้นเรียกว่า พระธรรม
พระธรรม คือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า อันเป็นความจริงที่มีอยู่แล้วในโลก อันมีทั้งฝ่ายดี ฝ่ายชั่ว (ฝ่ายกลาง) ฝ่ายดี คนปฏิบัติแล้วย่อมได้ความสุข ฝ่ายชั่ว คนทำแล้วย่อมได้ความทุกข์ ท่านทรงให้ละความชั่ว ทำแต่ความดี พระธรรมแบ่งเป็นศีลกับธรรม ศีล คือเป็นข้อบังคับที่ต้องปฏิบัติ เช่น ศีล 5 เป็นต้น มีผลคือทำให้เป็นสุจริตชน เพราะไม่ฆ่าเขา ไม่ลัก ไม่โกง ไม่ฉ้อเขา ไม่ประพฤติผิดทางเพศ ไม่ปดหลอกลวงเขา ไม่ดื่มเหล้า เสพสิ่งเสพติด มีกัญชา ฝิ่น เป็นต้น (เพียงศีล 5 เท่านั้น ถ้าทุกคนพากันรักษาศีลแล้ว ทุกคนจะมีความสุข อย่าว่าแต่ 5 ข้อเลย เพียงข้อเดียวเช่น ข้อ 5 เท่านั้นก็เป็นสุขมากแล้ว ) ส่วนธรรมนั้นเป็นข้อที่ควรปฏิบัติจะนำไปกล่าวในข้อ 4 เป็นต้น
พระสงฆ์ คือสาวกหรือศิษย์ของพระพุทธเจ้า เป็นผู้ปฏิบัติดี ตรง ถูกต้องตามธรรมวินัยของพระพุทธเจ้าเป็นพยานในการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า เป็นผู้เผยแผ่พระพุทธศาสนา เป็นผู้ค้ำจุน รักษา สร้างความเจริญก้าวหน้าแพร่หลายแก่พระพุทธศาสนา เป็นที่พึ่งทางใจของประชาชนด้วยพุทธธรรม ให้ไม่ทำสิ่งที่ชั่ว ให้ทำแต่สิ่งที่ดี เป็นผู้นำพัฒนาบุคคล พัฒนาท้องถิ่น บำเพ็ญสาธารณประโยชน์ โดยไม่ต้องรบกวนรัฐบาล และท่านเป็นเครื่องหมายแห่งความมีพระพุทธศาสนา พระรัตนตรัย กล่าวโดยย่อเพียงเท่านี้ ถ้ากล่าวโดยพิสดารแล้ว ปีหนึ่งก็ยังไม่หมด
4. คำสอนของพระพุทธเจ้า (พระธรรมวินัย) เมื่อกล่าวโดยโดยพิสดารแล้ว มี 84,000 พระธรรมขันธ์ (ใช้เวลาบรรยาย ขันธ์ละวัน 200 ปีก็ยังไม่จบ) แต่เมื่อกล่าวโดยสรุป หรือที่เรียกว่า หัวใจพระพุทธศาสนาแล้ว มี 3 คือ
1.ไม่ทำความชั่ว.
2. ทำความดีให้สมบูรณ์
3. ทำใจของตนให้บริสุทธิ์
(ทีฆ.มหา.)
ข้อ นี้เป็นหลักการ ทั้งฝ่ายดีและฝ่ายชั่ว เช่น ทรงแสดงประเภทของความชั่ว คือวิธีทำความชั่วทางกาย มีฆ่า มีลัก มีประพฤติผิดทางเพศ ทางคำพูด เช่น พูดปด พูดคำหยาบ พูดส่อเสียด นินทา เป็นต้น ทางใจ เช่น คิดอยากได้ของเขามาเป็นของตัว คิดโกรธ มีความคิดเห็นผิดความจริง ส่วนประเภทของความดี ทรงแสดงวิธีการทำความดีทางกาย มีไม่ฆ่า ไม่ลัก ไม่โกง ไม่ประพฤติผิดทางเพศ ทางคำพูด เช่น พูดจริง พูดดี พูดมีสาระ เป็นต้น ทางใจ เช่น ไม่ต้องการของใครมาเป็นของตัว ไม่โกรธอาฆาตใคร มีความเห็นถูกตามความจริง เหล่านี้ เป็นต้น
(ทีฆ.มหา. และ ทส.อัง.)
5. พระพุทธเจ้า ตรัสถึงความต้องการของคนทั่วไปว่ามีความต้องการความสุข (จตุก.อัง) ความสุขมี 3 ระดับ คือ ทิฏฐธัมมิกสุข สุขในชีวิตนี้ สัมปรายิกสุข สุขในโลกหน้าหรือในปรโลก กับนิพพานสุข สุขในพระนิพาน พระพุทธองค์ทรงแสดงเหตุให้ได้ความสุขแต่ละระดับดังนี้
สุขใน ชีวิตนี้ มีสุขเกิดจากความมีทรัพย์ สุขเกิดจากการจ่ายทรัพย์ สุขเกิดจากความไม่เป็นหนี้ สุขเกิดจากการทำงานที่สุจริต เหตุให้ได้สุขดังกล่าวนี้
ก. ต้องเว้นทางของความล่มจม คืออบายมุข 4-6 มี
1. เป็นนักเลงหญิง
2. เป็นนักเลงสุราและสิ่งเสพติด
3. เล่นการพนัน
4. คบคนชั่วเป็นเพื่อน
และ
1. ชอบดื่มน้ำเมา
2. ชอบเที่ยวกลางคืน
3. ชอบดูการเล่น
4. เล่นการพนัน
5. คบคนชั่วเป็นเพื่อน
6. เกียจคร้าน
(ใน จำนวนนี้มีเรื่องคบคนชั่วเป็นเพื่อนซ้ำกัน เพราะเรื่องการคบเพื่อนนั้นเป็นสิ่งแวดล้อมที่สำคัญที่สุด พระพุทธเจ้าตรัสย้ำเรื่องคบเพื่อนไว้หลายแห่ง แสดงให้เห็นว่ามีความสำคัญต่อชีวิตมาก)
ข. ต้องปฏิบัติเหตุให้ได้ทรัพย์ คือ
1. พร้อมด้วยความขยันเรียน ขยันทำงาน
2. พร้อมด้วยการรักษาทรัพย์ที่หาได้เอาไว้ (ไม่ใช่ตักน้ำใส่ตะกร้า)
3. คบคนดีเป็นเพื่อน (เรื่องเพื่อนมาอีกแล้ว ถ้าคบเพื่อนเลวพาไป)
4. เลี้ยงชีพพอควรแก่รายได้ (ได้น้อย ใช้น้อยไม่เป็นคนรสนิยมสูง แต่ไม่มีเงิน ไม่ทำงาน)
(อัฏฐ.อัง.)
เมื่อทำได้อย่างนี้เป็นรวยแน่ มีทรัพย์แน่ เมื่อมีทรัพย์แล้ว พระพุทธเจ้าก็ยังทรงสอนถึงวิธีใช้ทรัพย์อีกว่า
1. เลี้ยงตัวเอง กับคนภายใน เช่น พ่อ แม่ ลูก เมีย เป็นต้น
2. เลี้ยงคนภายนอก เช่น เพื่อน
3. ใช้ขจัดอันตราย
4. ใช้ทำพลี เช่น สงเคราะห์ญาติ เสียภาษี เป็นต้น
5. ใช้ทำบุญ
(ปัญ.อัง)
6. ตระกูลเคยมั่งคั่ง มาตอนหลังกลับยากจน
ข้อนี้พระพุทธเจ้าตรัสว่า
1. เป็นเพราะไม่หาของหายปล่อยให้หายชื้อหาใหม่
2. ของใช้เสียแล้วทิ้ง หาใหม่ ไม่ซ่อมแซมแก้ไขใช้ทั้ง ๆ ที่ซ่อมได้แก้ไขได้
3. ใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย ไม่รู้จักประมาณในการใช้จ่ายใช้เงินใช้ของไม่เป็น
4. ตั้งหญิงหรือชายเลวเป็นแม่บ้านพ่อบ้าน ตัวก็โง่กว่าเขา เมื่อเป็นอย่างนี้ มีเท่าไรก็หมด
(จตุก.อัง)
7. อยู่ร่วมหมู่บ้านเดียวกัน
พระพุทธองค์ทรงแสดงวิธีที่จะปฏิบัติต่อกันไว้ดังนี้
1. ให้ข้าว ให้น้ำ ให้สิ่งของแก่เพื่อนบ้าน
2. พูดต่อกันดี ๆ ไม่ด่า ไม่ว่า ไม่นินทากัน ไม่ใช้คำหยาบคายต่อกัน
3. ช่วยเหลือกันและกันในธุรกิจต่าง ๆ
4. ทำตัวให้เข้ากันและกันได้
(จตุก.อัง)
เมื่อเป็นอย่างนี้ หมู่บ้านจะมีแต่ความสามัคคีเจริญก้าวหน้า คนในบ้านนั้นจะเป็นที่รักของคนทั่วไป
8. วิธีสร้างความยากจน หรือวิธีทำลายอนาคต
เรื่องนี้ พระพุทธองค์ทรงแสดงว่า
ก. ความจนเป็นทุกข์ในโลก ความเป็นหนี้เป็นทุกข์ การเสียดอกเบี้ย การถูกทวงหนี้ก็เป็นทุกข์ในโลก (ฉัก.อัง)
ข. วิธีสร้างความยากจน ความเสื่อมในชีวิต ทำลายอนาคตไม่ยาก มีดังนี้
1. เป็นนักเลงหญิง
2. นักเลงเหล้า ติดสิ่งเสพติด
3. นักเลงหัวไม้
4. เป็นนักเที่ยวกลางคืน
5. เป็นนักเที่ยวดูการเล่นสนุกสนานจนเกินประมาณ
6. เกียจคร้านในการเรียนในการทำงาน
(ปกฏิ.ทีฆ.จตุก.อัง)
(อย่าว่าแต่ 6 ข้อเลย เพียง ข้อ 5 ก็พอแล้ว ที่จะเป็นอย่างนั้น)
เพื่อน ในพระพุทธศาสนาถือว่าเป็นสิ่งแวดล้อมที่สำคัญที่สุดในชีวิต พระพุทธเจ้าตรัสสอนให้ดูคนว่า คนไหนควรคบคนไหนไม่ควรคบไว้มากแห่ง โดยเฉพาะคนที่ไม่ควรคบ เช่น
1. คนหลอกลวง คิดเอาจากเพื่อนข้างเดียว
2. ดีแต่พูด พึ่งพาไม่ได้
3. ประจบเอาใจ คล้อยตามทุกอย่าง ต่อหน้ายกย่อง ลับหลังนินทา
4. ชักชวนในทางเสียหาย เช่น ชวนให้ดื่ม ให้เล่นการพนัน เที่ยวผู้หญิง
หรือ
1. ชอบพูดปด
2. เย่อหยิ่ง
3. พูดมาก
4. ขี้อวด
5. ยกตนเอง
6. เป็นคนโลเล
(ฉัก.อัง.)
เมื่อคบคนที่มีลักษณะอย่างนี้ คนคบก็จะเป็นไปตามด้วย (ปาฏิ.ที) ส่วนคนที่ควรคบนั้น นอกจากมีลักษณะตรงกันข้ามกับคนที่ไม่ควรคบแล้ว พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ดังนี้
1. คนให้ความช่วยเหลือ
2. คนร่วมทุกข์ร่วมสุข
3. คนแนะนำแต่สิ่งที่ดีมีประโยชน์
4. คนมีความรัก
9. ลักษณะคนดี คนเลว
พระพุทธเจ้าตรัสลักษณะของคนดีไว้ 7 ประการ คือ
1. รู้เหตุ
2. รู้ผล
3. รู้จักตน รู้จักหน้าที่
4. รู้จักประมาณในการต่าง ๆ เช่น ในการพูด ในการกิน ในการใช้จ่าย ในการเงิน ในการนอน เป็นต้น
5. รู้จักใช้เวลาให้ถูกกับภาวะนั้น ๆ
6. รู้จักสังคม แล้วทำตนให้เข้ากับเขาได้ เว้นแต่สังคมคนเลว
7. รู้จักบุคคลว่า คนนี้เป็นอย่างนี้ ควรคบ คนนั้นมีนิสัยอย่างนั้น ไม่ควรคบเป็นต้น
(สัต.อัง.)
ส่วนลักษณะของคนชั่วนั้น นอกจากจะมีลักษณะดังกล่าวแล้วในเรื่องเพื่อน ยังมีอีก คือ คิดชั่ว พูดชั่ว ทำชั่ว (ติก.อัง) และยังมีที่ร้ายแรงอีก คือ
1. ฆ่าผู้หญิงได้
2. ชอบเป็นชู้เขา
3. ประทุษร้ายเพื่อน
4. ฆ่าพระได้
5. เห็นแก่ตัวจัด
(ชา.ขุ.)
10. พระพุทธเจ้า ทรงแสดงลักษณะของการอยู่ร่วมของฆราวาส
นอกจากที่กล่าวไว้ในข้อ 7 ยังทรงแสดงหลักการอื่นอีก คือ
1.มีสัจจะต่อกัน
2.มีความข่มใจ ข่มอารมณ์
3.อดทน
4.เสียสละ
(ส.สัง.) และ
1.เป็นคนเรียบร้อย
2.มีหลักใจ
3.ไม่ประมาทในชีวิต ในวัย เป็นต้น
4.ฉลาด
5.ถ่อมตน
6.ไม่ตระหนี่
7.สงบ
8.สุภาพ พูดดี
(ชา.ขุ.)
ยังมีอีก ข้อนี้เรียกว่า ฆราวาสธรรม ส่วนบรรพชิตธรรมนั้น ทรงแสดงว่า ภิกษุต้องปฏิบัติพระวินัย คือ ศีล 4 มี
1.ปาฏิโมกขสังวร
2. อินทรียสังวร
3.อาชีวปาริสุทธิ
4.จตุปัจจเวกขณะ
และ
1.สำรวมกาย วาจา
2.พอใจในธรรม
3.มีใจมั่นคง อดทน
4.ไม่เอิกเกริกเฮฮา
5.รู้จักพอ (สันโดษ)
(ชา.ขุ.)
11. เรื่องความสำเร็จในชีวิตนั้นใครก็ต้องการ
พระพุทธเจ้าตรัสวิธีการที่จะให้ประสบความสำเร็จ ซึ่งเรียกว่า อิทธิบาท คือ วิธีให้ถึงความสำเร็จดังนี้
1.มีฉันทะ คือความชอบใจในสิ่งนั้นๆ
2.วิริยะ มีความขยันหมั่นเพียรในการทำสิ่งนั้นๆ
3.จิตตะ สนใจ ไม่ทอดทิ้งในการทำสิ่งนั้นๆ
4.วิมังสา มีการวิจารณ์ แล้วรวบรวมเป็นหลักฐานไว้ เพื่อการส่งเสริมและแก้ไข
(ปาฏิ.ที.)
เมื่อปฏิบัติได้ครบทั้ง 4 อย่างนี้ ย่อมประสบความสำเร็จแน่นอนในสิ่งที่ตนพอใจ
12. หน้าที่ของพ่อแม่ ที่ต้องปฏิบัติต่อลูก
เรื่องนี้พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้มีหลายอย่าง เช่น
1.ไม่ให้ทำชั่ว
2.ให้ทำความดี
3.ให้การศึกษา
4.หาภรรยาที่ดีให้
5.มอบมรดกให้
(ปาฏิ.ที.)
และให้ความรัก ความหวัง ความปรารถนาดี
13. หน้าที่ของลูก ที่ต้องปฏิบัติต่อพ่อแม่
พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ว่า
1.มีความกตัญญูกตเวทีต่อพ่อแม่ เลี้ยงพ่อแม่
2.ช่วยทำธุระกิจของพ่อแม่ 3.สร้างและรักษาชื่อเสียงแก่วงศ์สกุล
4.ทำตัวดี ควรแก่การรับมรดก 5.บำเพ็ญกุศลอุทิศให้พ่อแม่ผู้ล่วงลับ
(ปาฏิ.ที.)
14. หน้าที่สามี ปฏิบัติต่อภรรยา
เรื่องนี้พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ว่า
1.ยกย่องว่าเป็นภรรยา
2.ไม่ดูหมิ่นเหยียดหยาม
3.มีความซื่อสัตย์
4.มอบความเป็นใหญ่ในบ้านให้
5.ให้เครื่องแต่งตัว
(ปาฏิ.ที.)
15. หน้าที่ภรรยา ปฏิบัติต่อสามี
เรื่องนี้พระพุทธเจ้าทรงแสดงว่า
1.จัดงานในบ้านดี
2.สงเคราะห์คนของสามีดี (โดยมากภรรยามักรังเกียจญาติของสามี พอใจต้อนรับแต่ญาติของตน)
3.มีความซื่อสัตย์
4.รักษาทรัพย์สินที่สามีหาได้และมอบให้ดูแล
5.ขยัน
(ปาฏิ.ที.)
16. หน้าที่ของนายจ้าง ควรปฏิบัติกับลูกจ้าง
เรื่องนี้พระพุทธเจ้าทรงแสดงว่า
1.ให้ลูกจ้างทำงานควรแก่กำลังและความรู้ความสามารถ
2.ให้อาหารและรางวัลตามควรแก่งาน (สมัยโน้นไม่มีการให้ค่าจ้างรายวันรายเดือนเหมือนเดี๋ยวนี้)
3.รักษาพยาบาลเมื่อลูกจ้างเจ็บไข้
4.ให้รางวัลพิเศษ
5.ให้ลูกจ้างพักตามเวลาอันควร
(ปาฏิ.ที.)
17.หน้าที่ลูกจ้าง ควรปฏิบัติกับนายจ้าง
เรื่องนี้พระพุทธเจ้าทรงแสดงดังนี้
1.ขยัน ทำงานก่อนหน้าจ้าง
2.เลิกทำงานหลังนายจ้าง
3.ซื่อสัตย์ต่อนายจ้าง
4.ทำงานดี
5.สรรเสริญนายจ้าง
(ปาฏิ.ที.) (โดยมากลูกจ้างมักนินทานายจ้าง)
18. หน้าที่ของครูอาจารย์ ที่ควรกระทำกับศิษย์
เรื่องนี้พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ดังนี้
1.แนะนำดี ด้วยเมตตา
2.สอนดี ด้วยความตั้งใจดี
3.สอนวิทยาการโดยสิ้นเชิง ไม่ปิดบัง
4.ยกย่องศิษย์
5.เล่าเรียนด้วยความตั้งใจ
(ปาฏิ.ที.)
19.หน้าที่ศิษย์ พึงปฏิบัติต่อครูอาจารย์
เรื่องนี้พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ดังนี้
1.มีความเคารพนับถือครูอาจารย์
2. ช่วยทำธุรกิจของท่าน
3.เชื่อฟังท่าน
4.มีความกตัญญูกตเวทีในท่าน
5.เล่าเรียนด้วยความตั้งใจ
(ปาฏิ.ที.)
นอก จากนี้ยังทรงแสดงหน้าที่อันจะพึงปฏิบัติต่อกันในระหว่างเพื่อนกับเพื่อน ผู้ใหญ่กับผู้น้อย พลเมืองกับบ้านเมือง เป็นต้นอีกมาก ( จะดูได้ในหนังสือ 1 ใน 84,000)
20. คุณสมบัติของหัวหน้า
เรื่องนี้พระพุทธเจ้าทรงแสดงทรงแสดงไว้มาก เช่น
1. มีความอดทนต่อความลำบากกาย ใจ ต่อการถูกวิพากษ์วิจารณ์ เป็นต้น
2. ตื่นตัวกับเหตุการณ์ เตรียมตัว ไม่ประมาท
3. ขยันทำงาน
4. จำแนกเหตุการณ์ได้ถูกต้อง รู้จักแบ่งงานแบ่งบุคคลให้ทำงานได้เหมาะสม
5. มีความเมตตา
6.สอดส่องตรวจตรา ติดตามงาน ( ฉัก.อังฉ.)
และ
1. สามารถในการหาข้อมูลของปัญหานั้นๆ
2.สามารถแก้ปัญหาต่างๆ ได้(จตุก.อัง.)
และ
1. สงเคราะห์ประชาชน
2. สร้างมิตรภาพ กับผู้อื่น
3.รู้จักพูด
4. ใจกว้าง โอบอ้อมอารี
5. เป็นผู้นำเขา (ปาฏิ.ที.)
และ
1. องอาจ ฉลาด
2. คงแก่เรียน
3. เอาธุระหน้าที่ดี
4.มีหลักธรรมประจำใจและมีหลักในการทำงาน
5. เป็นผู้มีใจประเสริฐ
6.เป็นสัตบุรุษ
7. เป็นผู้มีปัญญามีความคิด ความริเริ่มดี ( ธ.ขุ.)
เหล่านี้ เป็นต้น
21. คุณสมบัติของข้าราชการ
เรื่องนี้พระพุทธเจ้า ทรงแสดงไว้มากเช่นเดียวกัน เช่น
1.ขยันทำงาน
2.ไม่ประมาทในสถานการณ์
3.รอบรู้ในเรื่องต่างๆ
4.ปฏิบัติหน้าที่ได้เรียบร้อย
( ชา.ขุ.) และ
1. เป็นผู้นำที่ดีของประชาชน
2. มีหลักการในการทำงาน
3.มีการศึกษาดี
4. บำเพ็ญประโยชน์ตนและผู้อื่น
5.มีใจมั่นคง
6. เป็นคนสุภาพเรียบร้อย
7.เตรียมตัวเสมอ เพื่อรับเหตุการณ์นั้นๆ
8.มีพฤติกรรมสะอาด ไม่ ทำทุจริต
9. ขยัน
( ชา.ขุ) และ
1.ฟังเป็น พูดให้เขาฟังเป็น
2.รู้จักข่มอารมณ์ร้าย
3. ทนทุกข์กาย ใจ ทนถูกว่า ทนต่อสิ่งเย้ายวนได้
4. ปฏิบัติหน้าที่ได้รวดเร็ว คล่องตัว
( ชา.ขุ.) และ
1.มีความประพฤติดี
2.ไม่โลภ
3.ทำตามคำสั่ง ไม่อวดดีกับผู้บังคับบัญชา
4.บำเพ็ญประโยชน์ทั้งต่อหน้า ทั้งลับหลัง ผู้บังคับบัญชา
(ชา.ขุ.) และ
1.นับถือผู้ที่เหนือกว่าในด้านวัยวุฒิและคุณวุฒิ
2.เคารพผู้ใหญ่ในราชการ
3.รู้จักประมาณตัว
4.เข้ากับเขาได้
(ชา.ขุ.) และ
1.ฉลาดรอบรู้
2.สมบูรณ์ด้วยความรู้
3.ทำงานเก่ง
4.รู้จักกาลอันควร-ไม่ควรทำอย่างไร
5.รู้จักสมัยว่า สมัยนี้ควรทำ-ไม่ควรทำอย่างไร
(ชา.ขุ.) และ
1.ไม่พูดมากเกินไป
2.ไม่นิ่งมากเกินไป
3.รู้จักประมาณในการพูด
4.ไม่พูดด้วยอารมณ์
5.ไม่พูดกระทบผู้อื่น
6.พูดจริง
7.พูดดี
8.ไม่พูดยุยง
9.ไม่พูดเพ้อเจ้อ
(ชา.ขุ.)
22. คุณสมบัติของพ่อค้า-แม่ค้า
พระพุทธเจ้าตรัสเรื่องนี้ไว้ว่า
1.ตื่นแต่เช้า พิจารณางานของตน
2.กลางวัน สนใจในกิจการของตน ไม่ทอดทิ้ง
3.ตอน เย็น ตรวจตรากิจการของตนในด้านสิ่งของ ในด้านการค้า ในด้านการเงิน ในด้านทำงานของตน เป็นต้น ในแต่ละวัน
(ติง.อัง.) และ
1.มีตาดี คือตาไว รู้ไว รู้ว่าอะไรดีไม่ดี ขายดี ขายไม่ดี รู้จักซื้อ รู้จักขาย
2.เอาใจใส่ในการค้า ไม่ปล่อยปละละเลยให้ความไว้ใจแก่คนอื่นในการค้า (เรื่องนี้ถูกโกงมามากแล้ว)
3.มีนิสัยในการค้า (ติก.อัง.)
นอกจากนี้ยังทรงแสดงคุณสมบัติของสิ่งอื่นๆอีก
23. ผู้เดือดร้อนภายหลัง
เรื่องนี้พระพุทธเจ้าทรงแสดงว่า ผู้มีลักษณะอย่างนี้ย่อมเดือดร้อนในภายหลังแน่ คือ
1.เมื่อ เป็นเด็ก ไม่ทำสิ่งที่ควรทำ เช่น 1.ไม่เล่าเรียน ไม่หาความรู้เพื่อสร้างอนาคต 2.เกียจคร้านทำงาน 3.มีความคิดจม คือไม่คิดถึงอนาคต 4.คิดสบายๆไปวันหนึ่งๆเท่านั้น 5.ไม่หาทางให้เกิดปัญญาความคิด (จึงจมอยู่ในความโง่)
(ธ.ขุ.) และ
1.เมื่อเป็นหนุ่ม (ยังแข็งแรง) ไม่แสวงหาทรัพย์
2. เมื่อเป็นเด็ก ไม่เล่าเรียนหาความรู้เพื่ออนาคต
3.เป็นคนเจ้าเล่ห์ ชอบยุยงให้มีเรื่องวุ่นวาย กินสินบน เหี้ยมโหด (ดูภายนอกเป็นคนดี)
4.ทุศีล ขาดขันติ ขาดเมตตา
5.เจ้าชู้
6.ตระหนี่ มีทรัพย์พอให้ได้ก็ไม่ให้ เห็นแก่ตัว
7.อกตัญญู
8.ดื้อดึงกับพ่อแม่ ดูหมิ่นพ่อแม่
9.ไม่ยอมเข้าใกล้สมณะ
10.ชอบทำทุจริต ไม่ยอมเข้าใกล้สัตบุรุษ
(ทสก.อัง.) และ
1.มีความรู้น้อย ชอบทำชั่วไร้คุณค่าในตัว
2.ชอบคบคนเลว พอใจในสิ่งที่เลวๆ
3.ชอบนอน ชอบคุย เกียจคร้าน เจ้าอารมณ์
4.อกตัญญู
5.ชอบหลอกลวง แม้แต่นักบวชก็ไม่เว้น
6.เห็นแก่ตัวจัดไม่ยอมแบ่งปันอะไรให้ผู้อื่น
7.เย่อหยิ่ง ดูหมิ่นแม้ญาติของตน
8.เป็นนักเลงผู้หญิง นักเลงการพนัน นักเลงเหล้า นักเลงหัวไม้ ล้างผลาญทรัพย์ที่มีอยู่
9.เจ้าชู้ ชอบคบผู้หญิงเสเพล
10.ชายแก่ได้เมียสาว หญิงแก่ได้ผัวหนุ่ม
11.ตั้งหญิงหรือชายที่เลวให้เป็นใหญ่ในการงาน
12.เกิดในตระกูลสูงแต่ยากจนและคิดมักใหญ่ใฝ่สูง
(สุ.ข.) และยังมีอีก
24. ทางเจริญของชีวิต
เรื่องนี้พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้มากเช่นเดียวกัน เช่น
1.จงเดินไปตามทางแห่งความดีที่เดินมาแล้ว อย่าถอยหลังถ้าเดินพลาด จงกลับ อย่าเดินต่อไป
2.จงอย่าทำลายฝ่ามืออันชุ่มด้วยเหงื่อเพราะความขยัน
3.ใคร่ครวญ ไตร่ตรองโดยรอบคอบ
4.แล้วปฏิบัติตามคำแนะนำนั้น
(จตุก.อัง.)
25. ผัวกลัวเมีย
พระพุทธเจ้าทรงแสดงว่าเป็นเพราะเมียมีกำลัง คือ
1.รูปสมบัติ
2.โภคทรัพย์ และวิชาสมบัติ
3.ญาติสมบัติ
4.บุตรสมบัติ
5.ความประพฤติดีกว่าผัวปฏิบัติผัวดี
และผัว
1.ยากจน
2.เจ็บไข้ ทุพพลภาพ
3.แก่
4.ติดสิ่งเสพติด
5.โง่กว่าเมีย
6.เฉื่อยชา เลอะเลือน
7.คล้อยตามเมียทุกอย่าง ไม่กล้าขัดคอ
8.ไม่ทำมาหากิน
(ชา.ขุ.)
ผัวกลัวเมียเพราะเหตุดังกล่าวนี้
26. เมียกลัวผัว
เรื่อง นี้พระพุทธเจ้าทรงแสดงว่า ผู้ชายที่เมียไม่สามารถข่มได้นั้น เพราะมีกำลัง คือ ความเป็นใหญ่ ความเป็นอิสระส่วนตัว (คือเป็นผู้ชายจริงๆไม่ยอม) (สฬา.สัง.)
27.อำนาจเมีย
เรื่องนี้พระพุทธเจ้าทรงแสดงว่า ในชาดกขุททกนิกาย แสดงว่า
1.ชายแม้เป็นนักปราชญ์ มหาชนนับถือ ถ้ากลัวเมียย่อมสิ้นคุณค่าไร้สง่าราศี ดุจพระจันทร์มีจันทรุปราคา
2.ชายกลัวเมียย่อมถูกติเตียนในโลกนี้ ตายไปย่อมไปทุคติ และเมียที่ข่มผัวตายไป ก็ย่อมไปทุคติเช่นเดียวกัน
28. เหตุที่ผัวเมียอยู่กันยืดยาว
เรื่องนี้พระพุทธเจ้าทรงแสดงว่า ทั้ง 2 ฝ่าย
1. มีวัยพอกัน
2.มีความปรองดองกัน
3. มีความประพฤติพอกัน
4. มีความพอใจในสิ่งต่างๆพอกัน ไม่ขัดกัน
5.ไม่เป็นหมัน
6.มีความประพฤติดี มีสกุล
7.ปฏิบัติหน้าที่ในกันและกันดี
(ชา.ขุ.)
29. ผัวเมีย ตายไปจะได้พบกันอีกในชาติหน้า
เรื่องนี้ทรงแสดงว่า
1. ต้องมีศรัทธาในความดีพอกัน
2. มีความประพฤติดีพอกัน
3. มีความเสียสละพอกัน
4.มีสติปัญญาพอกัน
(จตุก.อัง.)
30. มงคลชีวิต
ทุก คนต้องการสิ่งที่เป็นสิริมงคลของชีวิตเพื่อความอยู่ดี กินดี มีความสุข พระพุทธองค์ตรัสเรื่องนี้ไว้ว่ามีอยู่ 38 ประการ คือ
1. ไม่คบคนชั่ว
2. คบคนดี
3. ยกย่องบูชาผู้ที่ควรยกย่องบูชา
4. อยู่ในที่ที่เหมาะสม (เช่น ที่มีความเจริญด้วยการศึกษา หาเลี้ยงชีพสะดวก มีคนดีอยู่อาศัย เป็นต้น)
5. มีบุญเก่ามาก
6. ตั้งตัวไว้ดี
7. เป็นผู้คงแก่เรียน
8. เป็นคนมีศิลป์
9. เป็นคนมีระเบียบวินัยมีศีล
10.เป็นคนพูดดี
11.เลี้ยงพ่อแม่
12.สงเคราะห์เลี้ยงดูลูกเมีย
13.ไม่ปล่อยงานการให้คั่งค้าง
14.ให้สิ่งที่ควรให้แก่ผู้อื่น
15.ประพฤติปฏิบัติธรรม
16.สงเคราะห์ญาติ เป็นต้น
17.ทำกิจกรรมที่เป็นสุจริตกรรม
18. งดการทำชั่ว
19. เว้นการทำทุจริต
20.ไม่ดื่ม ไม่เสพสิ่งเสพติด
21.ไม่ประมาทในการปฏิบัติ
22.เคารพผู้ที่ควรเคารพ
23.ไม่เบ่ง ไม่เย่อหยิ่ง
24. สันโดษพอใจในสิ่งที่ได้มาโดยสุจริต ไม่ละโมบ รู้จักพอ
25.เป็นคนกตัญญูกตเวที
26. ฟังธรรมตามกาลอันควร
27. อดทน
28. ว่าง่ายไม่ดื้อด้าน
29. การได้เห็นสมณะ
30. การสนทนาธรรม หรือเรื่องที่มีคุณประโยชน์ตามกาลอันควร
31. ความเพียร
32. ประพฤติพรหมจรรย์
33. การเห็นแจ้งรู้เรื่องอริยสัจ 4
34. การทำพระนิพพานให้แจ่มแจ้งแก่ตน
35. ไม่หวั่นไหวด้วยโลกธรรม มีนินทา สรรเสริญ เป็นต้น
36. ไม่เศร้าโศกเสียใจ
37. มีใจปราศจากธุลีกิเลส
38. มีใจพ้นจากกิเลส
คุณธรรมแต่ละอย่างใน 38 อย่างนี้ ล้วนเป็นมงคลต่อชีวิตทั้งสิ้น เรื่องนี้อยู่ในมงคลสูตร
31. ความเชื่อ
ทุก คนย่อมมีความเชื่อ ในศาสนาอื่นสอนว่า ให้เชื่อก่อนแล้วจะรู้ในพระพุทธศาสนาสอนว่าให้รู้ก่อนแล้วจึงค่อยเชื่อ ไม่บังคับว่า ถ้าไม่เชื่อจะต้องตกนรก แต่กลับสอนไม่ให้เชื่อก่อนตัดสินใจ เช่น ที่ทรงแสดงไว้ในกาลามสูตร 10 ข้อ มีใจความว่า
1. อย่าเชื่อโดยฟังตามๆกันมา
2. อย่าเชื่อโดยเชื่อสืบๆกันมา
3. อย่าเชื่อโดยเขาบอก เป็นอาทิ
แต่ ทรงสอนให้เชื่อความจริง เชื่อตัวเองก็ไม่ได้ เชื่อคนอื่นก็ไม่ควร แต่ทรงให้เชื่อความจริง และเรื่องความจริงนั้น คือเชื่อกรรม เชื่อผลของกรรม เชื่อว่าทุกคนมีกรรมประจำตัว และเชื่อพระปัญญาเป็นเครื่องตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า
32.กรรม
เรื่อง กรรมนี้เป็นเรื่องจริง คนไม่เชื่อเรื่องกรรมนั้น เพราะไม่รู้จักกรรมทั้งๆที่อยู่กับกรรม เหมือนปลาไม่รู้จักน้ำ นกไม่รู้จักฟ้า ไส้เดือนไม่รู้จักดิน คำว่า กรรม เดิมเป็นภาษาศาสนา ไม่ใช่ภาษาไทย ในภาษาไทยได้แก่ การทำ การเดิน การกิน การนอน เป็นต้น เป็นการกระทำทางกาย เรียกกายกรรม การพูดเป็นการกระทำทางวาจา เรียกวจีกรรม การคิดนึกเป็นการกระทำทางใจ เรียกมโนกรรม การลัก การพูดปด ความโกรธ เป็นต้น จัดเป็น อกุศลกรรม การไม่ลัก พูดแต่คำสัจจริง ไม่อาฆาตพยาบาท เป็นต้น เป็นกุศลกรรม คือ ทำดี
พระพุทธเจ้าตรัส ไว้ว่า "ทำดีย่อมได้ดี ทำชั่วย่อมได้ชั่ว" การให้ผลนั้น มี 2 คือ ระยะแรก หรือระยะพื้นฐาน คือ กรรมเก่าเดิม กับ ระยะหลัง คือ กรรมเก่าตอนหลัง คิดเปรียบเทียบดังนี้ – คนบางคนได้บ้านหลังใหญ่ บางคนได้เป็นกระท่อมทั้งๆ ที่อยากอยู่บ้านใหญ่ บางคนได้รถยนต์ราคาแพง บางคนได้รถเก่า บางคนได้รถชำรุด ทำไมจึงเป็นอย่างนี้ ทั้งนี้เพราะปัจจัยคือทุนทรัพย์มีมากหรือน้อย เช่นเดียวกับคนบางคนเกิดมาได้ร่างกายงดงาม ขาวสะอาด บางคนเกิดมาได้ร่างกายพิการ บางคนเกิดมาวันนั้นตายวันนั้น บางคนเกิดมาแล้วอายุยืน ทำไมจึงเป็นอย่างนี้ ทั้งนี้เพราะกุศลกรรมและอกุศลกรรมเก่านั้น หรือบุญบาปเก่านั่นเองเป็นผู้จัดสรร ข้อนี้เป็นเรื่องผลกรรมระยะแรกหรือพื้นฐาน ข้อความดังกล่าวนี้พอทำความเข้าใจในเรื่องกรรมได้ว่า
1. กรรมคืออะไร
2. กรรมมีจริงหรือไม่
3. กรรมเก่ามีจริงหรือไม่ คราวนี้มีถึงปัญหาว่า
4. กรรมติดตามเราไปได้อย่างไรมองไม่เห็น
5. ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว จริงหรือไม่
ทั้ง 2 ปัญหานี้เป็นเรื่องของกรรมเก่าและกรรมที่ให้ผลในระยะหลัง หรือกรรมเก่าระยะหลังและผลข้อที่ว่ากรรมติดตามเราได้อย่างไรนั้น ขอให้คิดว่ากรรมนั้นเป็นพลังเร้นลับที่มองไม่เห็นเช่นเดียวกับพลังผลักดัน ให้ตะกร้อลอยไปลอยมาเพราะการเตะ ทำให้เกิดพลัง หรือเหมือนความผิดติดตัว คนทำผิดไปทุกหนทุกแห่ง พลังนั้นหรือความผิดนั้นเรามองไม่เห็นแต่รู้ว่ามี หรือคลื่นวิทยุพาเสียงพาคำพูดไปด้วย ทั้ง ๆ ที่มองไม่เห็น พลังกรรมก็เหมือนกันกรรมที่ให้ผลนั้นเป็นอดีตหรือเป็นของล่วงเลย เป็นของเก่าทั้งนั้น เช่น กินข้าวแล้วจึงอิ่ม ความอิ่มเป็นผลเกิดต่อจากการกิน และการกินนั้นเป็นกายกรรม กระทำก่อนความอิ่ม ส่วนที่ว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่วนั้น (ชา.ขุ.) เป็นเรื่องจริง ถ้าไม่จริงพระพุทธเจ้าจะไม่ตรัส แต่บางคนสงสัยไป ในทางตรงกันข้ามคือสงสัยว่า ทำดีได้ดีก็มี ทำชั่วได้ดีก็มี และอ้างบุคคลบางคนเป็นตัวอย่างด้วย เรื่องนี้แม้ในสมัยพุทธกาลก็เคยมีมาแล้วพระพุทธเจ้าตรัสแก้ความสงสัยไว้ใน มหากัมมวิภังคสูตรว่า "อตฺถิ กมฺมํ" เป็นต้น แปลว่า กรรมชั่วครอบงำกรรมชั่วให้ผลก่อนก็มี กรรมชั่วครอบงำกรรมชั่วให้ผลหลังก็มี กรรมดีครอบงำกรรมชั่วให้ผลก่อนก็มี กรรมดีครอบงำกรรมดีให้ผลก่อนก็มี ทั้งนี้แล้วแต่หนักเบา มากน้อย แรงกว่า หนักกว่า หรือจังหวะ กรรมใดแรงกว่า ได้จังหวะกว่า กรรมนั้นให้ผลก่อนดุจพายเรือจ้ำอย่างแรง จนเรือพุ่งไปข้างหน้าอย่างเร็ว แล้วกลับหลัง พายย้อนหลังอย่างแรงอีก เรือย่อมไม่กลับ ต้องพุ่งไปตามเดิมก่อน เพราะพลังหรือแรงพายตอนแรกแรงกว่าตอนพายกลับหลัง
อีกอย่าง หนึ่งที่พูดว่า ทำดีได้ชั่ว ทำชั่วได้ดีนั้น เป็นเหมือนคนอ่านหนังสือไม่จบ อ่านได้ครึ่งเล่มก็นำมาตัดสินว่าตอนจบเป็นอย่างนั้นๆ ดังนั้น จึงให้ดูคนๆ นั้นไปก่อนให้ตลอด ขอให้อ่านให้จบก่อน แล้วจึงจะรู้เองว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่วจริง ดูเกลือกับน้ำเปรียบอีกก็ได้ เกลือน้อย น้ำมากปนกันน้ำก็ไม่เค็ม เกลือมาก น้ำน้อย น้ำก็เค็ม เพราะฉะนั้น เรื่องกรรมและผลของกรรมจึงเป็นเรื่องจริง
33. ปัญหาชีวิตกับวิธีแก้
ปัญหาชีวิตมีมาก เช่น ความยากจนย่อมแก้ด้วยวิธีตามข้อ 5 ความสำเร็จย่อมแก้ได้ ด้วยวิธีตามข้อ 11 ความผิดหวังย่อมแก้ได้ด้วยวิธี คือ
1. ใช้หลักกรรม กล่าวคือเมื่อแก้ด้วยวิธีอื่นไม่สำเร็จแล้ว ก็แก้ด้วยหลักกรรม โดยนึกว่าเป็นกรรมเก่าของเรา และของเขาที่ติดตามมาทัน
2 .อาศัยหลักโลกธรรม อันเป็นความจริงของชีวิต ใครๆ ก็ต้องได้พบทั้งนั้น ไม่เลือกแม้แต่พระพุทธเจ้า แต่คนธรรมดาเดือดร้อนเพราะฝืนความจริง ไม่ยอมรับความจริง แต่พระอรหันต์ทั้งหลาย ท่านรู้เท่าทันตามความจริง ท่านไม่ติด ไม่ยึดไม่ฝืนท่านก็ไม่เดือดร้อนโลกธรรม ธรรมประจำโลก มี 8 คือ ได้ลาภ เสื่อมลาภ ได้ยศ เสื่อมยศ นินทา สรรเสริญ ทุกข์ และสุข
3. อาศัยหลักสามัญลักษณะ คือ ลักษณะที่ทั่วไปแก่ทุกสิ่ง มี 3 คือ ไม่เที่ยง คงอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ และเป็นอนัตตา คือ ไม่อยู่ในบังคับ เป็นต้น ปัญหาคือความกลัวว่า ตายไปแล้วจะไปเกิดในทุคติ ต้องการไปเกิดในสุคติ ข้อนี้เป็นเรื่อง สวรรค์สมบัติ (สัมปรายิกสุข) ด้วย วิธีแก้ทรงแสดงไว้ดังนี้
1. สมบูรณ์ด้วยความเชื่อ เรื่องที่ควรเชื่อ เชื่ออย่างมีเหตุผล เช่น เชื่อเรื่องทำดีทำชั่ว และผลของการกระทำนั้น
2. สมบูรณ์ด้วยศีลมีศีล ๕ เป็นต้น
3. สมบูรณ์ด้วยความเสียสละของของตน เพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น ช่วยให้เขาช่วยตัวเองได้
4. สมบูรณ์ด้วยปัญญา รู้ว่าอะไรดี อะไรชั่ว แล้วละชั่วกระทำดี
(จตุก.อัง.) หรือ
1. เชื่อเรื่องที่ควรเชื่อ เชื่ออย่างมีเหตุผล
2. มีหิริ คือละลายตนเอง
3. มีโอตตัปปะ คือ เกรงตัวเอง
4. ไม่โกธรง่าย โกธรแล้วก็ไม่ผูกโกรธ
5. มีปัญญารอบรู้ว่าอะไรดี อะไรชั่ว อย่างมีเหตุผล
(สฬา.สัง.)
เมื่อ ปฏิบัติตามวิธีนี้ ย่อมไปสุคติแน่เมื่อตายไปแล้ว และย่อมได้สวรรค์สมบัติ หรือสวรรค์สุขแน่ และวิธีที่จะตกนรกหรือไปทุคตินั้น ไม่ยาก เพียงแต่หมั่นกินเหล้าอย่างเดียวก็ไปนรกสะดวก ส่วนปัญหาคือความกลัวว่าจะต้องเกิดอีก ต้องการหยุดเกิด เพราะความเกิดทำให้ทุกข์อื่นตามอีกนับไม่ถ้วนเริ่มตั้งแต่ความแก่ ความเจ็บ ความตายไปทีเดียว ข้อนี้เป็นเรื่อง นิพพานสมบัติ (นิพพานสุข) ด้วย วิธีแก้ก็คือใช้ ไตรสิกขา อันได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา ศีลเป็นการทำให้กายและวาจาเป็นปกติเรียบร้อย สงบไม่ผิดปกติ เช่น ไม่ฆ่าเขา ไม่ลัก เป็นต้น สมาธิ เป็นเรื่องสงบจิต คือทำใจให้รวมอยู่ในเรื่อง ๆ หนึ่ง ปัญญา เป็นเรื่องความเห็นตามจริงในสิ่งต่างๆ ด้วยใจที่เป็นสมาธินั้น คือ เห็นว่าสิ่งต่างๆ ไม่เที่ยง ไม่คงที่ คงอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ บังคับไม่ได้ เป็นต้น รู้เห็นความจริงอย่างดีจนเลิกการยึดถือว่าเรา ของเรา เขา ของเขา ได้ และไม่ตกอยู่ในอำนาจของ ความอยาก ความรัก ความโลภ ความโกรธ ความหลง (ขีณา ชาติ) สิ้นการเกิด (อยมนฺติมา ชาติ) การเกิดในชาตินี้เป็นครั้งสุดท้าย (นาปรํ) ไม่เกิดอีกต่อไป เรียกว่า บรรลุพระนิพพาน
๓๔. ลักษณะ ของพระนิพพาน
ลักษณะ ของพระนิพพานนั้น คือดับกิเลส ดับราคะ โลภะ โทสะ โมหะ ดับความยึดถือ ดับอัตตา ดับความเห็นแก่ตัว ดับความต้องการให้เขาตอบแทนแก่ตัว ดับความชั่วทั้งหมด คือทำชั่ว พูดเลว คิดไม่ดี.