พระไตรปิฎกและเรื่องน่ารู้จากพระไตรปิฎก

      ปิดความเห็น บน พระไตรปิฎกและเรื่องน่ารู้จากพระไตรปิฎก

ความเป็นมาของพระไตรปิฎก

พระไตรปิฏก คือคัมภีร์หรือตำราหลักของพระพุทธศาสนา หมายถึงคัมภีร์หรือตำราทางพระพุทธศาสนาที่บรรจุและรวบรวมหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนาทั้งหมดที่มีบันทึกไว้ โดยได้จัดเป็นหมวดหมู่  ฉบับภาษาบาลีอักษรไทยมี  45 เล่ม เท่ากับพระพรรษาของพระพุทธเจ้า  ฉบับแปลเป็นภาษาไทย มี 80 เล่ม เท่าพระชนมายุของพระพุทธเจ้า  แบ่งออกเป็น 3 ปิฎกหรือหมวด   ได้แก่.-         

หมวดที่  1   เรียกว่า  วินัยปิฎก (พระวินัย)  ว่าด้วยวินัยหรือศีล คือระเบียบวินัยของภิกษุและภิกษุณี  มีทั้งหมด   8   เล่ม   ตั้งแต่เล่มที่  1  ถึง เล่มที่  8   มีหลักคำสอนทั้งหมด  21000 พระธรรมขันธ์ (หัวข้อธรรม)

หมวดที่  2  เรียกว่า  สุตตันตปิฎก (พระสูตร)  ว่าด้วยพระธรรมเทศนาโดยทั่วไปของพระพุทธเจ้าและพระสาวก  มีประวัติและท้องเรื่องประกอบ  มีทั้งหมด  25  เล่ม  ตั้งแต่เล่มที่  9  ถึง  เล่มเล่มที่   33  มีหลักคำสอนทั้งหมด  21000  พระธรรมขันธ์

หมวดที่  3   เรียกว่า   อภิธรรมปิฎก  (พระอภิธรรม)  ว่าด้วยหัวข้อธรรมะล้วนๆ  ไม่มีประวัติ และท้องเรื่องประกอบ  มีทั้งหมด 12  เล่ม   ตั้งแต่เล่มที่  34  ถึง  เล่มที่  45  มีหลักธรรมทั้งหมด 42000  พระธรรมขันธ์

ในพระไตรปิฎก 45 เล่มนั้น  แต่ละหมวด จะประกอบด้วยหมวดย่อยไปอีกแตกต่างกันออกไปตามเนื้อหาและเรื่องราวที่เกิดขึ้น

พระไตรปิฎก เดิมเรียกว่า พรหมจรรย์ ในสมัยพระพุทธเจ้าจดจำกันมาโดยวิธีมุขปาฐะ (ปากเปล่า) ซึ่งมีพระสงฆ์ที่ช่ำชองในแต่ละหมวด  ในด้านพระวินัย  ถือว่าพระอุบาลีเป็นผู้ทรงจำได้มากและนำมาถ่ายทอด   ในด้านพระสูตร   พระอานนท์ถือว่าเป็นผู้จำได้มากนำมาถ่ายทอด  ส่วนพระอภิธรรมปิฎก  ถือว่าพระสารีบุตรเถระ เป็นผู้สืบทอดมา  หลังจากพระพุทธองค์ปรินิพพานแล้วก็ยังไม่มีพระไตรปิฎก มีเพียงพระธรรมวินัยเท่านั้น พระสงฆ์จึงจัดให้มีการสังคายนารวบรวมหลักคำสอนเป็นหมวดหมู่และจารึกเป็นลายลักษณ์อักษรภาษาบาลีลงในใบลาน โดยพระรักขิตมหาเถระเป็นประธานในคราวทำสังคายนาที่ประเทศศรีลังกาในพุทธศตวรรษที่ 5  (พ.ศ.450)  แต่นั้นจึงเรียกว่า พระไตรปิฎก ซึ่งมาจากคำว่า พระ+ไตร+ปิฎก  ซึ่งแปลว่า คัมภีร์ หรือ ตะกร้า 3 ใบอันประเสริฐประเทศไทยได้พิมพ์พระไตรปิฎกเป็นภาษาบาลีอักษรไทยเป็นครั้งแรก เมื่อสมัยรัชกาลที่ 5 และในสมัยรัชกาลที่  8  ได้เริ่มแปลจากภาษาบาลีเป็นภาษาไทยและแปลสำเร็จในสมัยรัชกาลที่ 9  ได้พิมพ์เป็นครั้งแรกในงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ เมื่อ พ.ศ. 2500

พระไตรปิฎก มีความสำคัญเพราะเป็นคัมภีร์ที่จารึกหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า ประกอบไปด้วยพระธรรมและวินัย  ซึ่งพระธรรมวินัยนี้มีความสำคัญในฐานะเป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้า  เป็นจุดยืนของพระพุทธศาสนาที่ช่วยให้พุทธบริษัทได้มีแนวทางในการปฏิบัติตามหลักศาสนาในทิศทางเดียวกัน  ช่วยให้พระพุทธศาสนาดำรงอยู่ไว้มาจนถึงปัจจุบันนี้

การแบ่งหมวดหมู่พระไตรปิฎก

            พระไตรปิฎก  แบ่งออกเป็น  3  หมวด  ได้แก่   พระวินัยปิฎก  พระสุตตันตปิฎก  และพระอภิธัมมปิฎก  ตามลำดับ

1.  วินัยปิฎก

            พระวินัยปิฎก ว่าด้วยศีลระเรียบการปฏิบัติของภิกษุและนางภิกษุณี บรรจุอยู่ในพระไตรปิฎกเล่มที่     1 –  8  จัดเป็นหมวดโดยย่อได้ดังนี้.-

            1.  มหาวิภังค์ หรือ ภิกขุวิภังค์ ว่าด้วยสิกขาบทหรือศีลของพระภิกษุ จำนวน  227  สิกขาบท

            2.  ภิกขุนีวิภังค์  ว่าด้วยสิกขาบทหรือศีลของนางภิกษุณี  จำนวน  311  สิกขาบท

            3.  มหาวรรค  ว่าด้วยเรื่องเล่าเกี่ยวกับพระพุทธเจ้าตั้งแต่ตรัสรู้ ประกาศพระศาสนา ประทานอุปสมบทแก่ภิกษุ และเรื่องราวต่าง ๆ  เกี่ยวกับข้อปฏิบัติของพระสงฆ์ เช่น การจำพรรษา การใช้จีวร เครื่องหนัง เภสัช (ยา) อาบัติ (โทษที่เกิดจากการล่วงละเมิดศีลแต่ละข้อ)

            4.  จุลวรรค  ว่าด้วยการบัญญัติวินัยข้อปลีกย่อย เช่น การที่อยู่อาศัย ข้อวัตรปฏิบัติต่าง ๆ และประวัติการทำสังคายนา ฯลฯ

            5.  ปริวาร   ว่าด้วยเรื่องเบ็ดเตล็ด เกี่ยวกับสิกขาบทของภิกษุและภิกษุณี

2.   สุตตันตปิฎก 

สุตตันตปิฎก เรียกสั้นๆ ว่าพระสูตร  เป็นประมวลเทศนาของพระพุทธเจ้าที่ทรงแสดงแก่บุคคล

ต่างๆ  ในโอกาสต่างๆ แบ่งเป็น 5 นิกาย (หมู่หรือหมวด)  ดังนี้.-

            1.  ทีฆนิกาย   แปลว่า หมวดยาว  หมายถึง  หมวดที่รวบรวมพระสูตรขนาดยาวไว้ โดยไม่ปนกับพระสูตรประเภทอื่น  มีทั้งสิ้น  34  สูตร

            2.  มัชฌิมนิกาย  แปลว่า  หมวดปานกลาง  หมายถึงหมวดที่รวบรวมพระสูตรขนาดกลางไม่สั้นเกินไป ไม่ยาวเกินไปไว้  มีทั้งสิ้น   152  สูตร

            3.  สังยุตตนิกาย  แปลว่า  หมวดประมวล  หมายถึง  หมวดประมวลพระสูตรที่มีเนื้อหาเดียวกันเข้าด้วยกันเป็นหมวดหมู่  มีทั้งสิ้น 7,762 สูตร

            4.  อังคุตตรนิกาย  แปลว่า  หมวดยิ่งด้วยองค์  หมายถึง  หมวดที่จัดพระสูตรที่มีข้อธรรมะแล้วจัดลำดับไว้เป็นหมวด ๆ  ตามลำดับจากหมวดน้อยไปหามาก มีทั้งสิ้น  9,557 สูตร

            5.  ขุททกนิกาย  แปลว่า  หมวดเล็กน้อย  หมายถึงพระสูตรที่รวบรวมข้อธรรมที่ไม่จัดเข้าใน 4 หมวดข้างต้นมารวมไว้ในหมวดนี้ทั้งหมด   แบ่งโดยหัวข้อใหญ่มี  15  เรื่อง 

3.   อภิธรรมปิฎก

            อภิธรรมปิฎก  แปลว่า คัมภีร์ที่รวบรวมธรรมอันยิ่ง เป็นปิฎกที่รวบรวมเฉพาะเนื้อธรรมล้วนๆ แท้ๆ ไม่เกี่ยวกับข้องกับบุคคล เหตุการณ์ สถานที่ใดๆ ทั้งสิ้น  แบ่งออกเป็น 7 คัมภีร์  ดังนี้

            1.  สังคณี   คัมภีร์ว่าด้วยรวบรวมหมู่ธรรมะ

            2.  วิภังค์   คัมภีร์ว่าด้วยการแยกอธิบายหลักธรรมออกเป็นข้อๆ โดยแยกแยะรายละเอียดอย่างชัดเจน

            3.  ธาตุกถา   คัมภีร์ว่าด้วยการสงเคราะห์ โดยการนำเอาข้อธรรมต่างๆ มาจัดเข้าในหัวข้อธรรมใหญ่ตามลักษณะ

            4.  ปุคคลบัญญัติ   คัมภีร์ว่าด้วยการบัญญัติความหมายของชื่อที่ใช้เรียกบุคคลประเภทต่างๆ ตามคุณธรรมที่มีอยู่ในบุคคล

            5.  กถาวัตถุ   คัมภีร์ว่าด้วยการสนทนาโดยการถกพูดจาเกี่ยวกับหลักธรรมทรงพระพุทธศาสนา

            6.  ยมก    คัมภีร์ว่าด้วยการอธิบายธรรมะด้วยวิธีการถามตอบ โดยการตั้งคำถามขึ้นมาทีละคู่

            7.  ปัฎฐาน   คัมภีร์ว่าด้วยการแสดงถึงความสัมพันธ์กันของธรรมะหรือสิ่งทั้งปวงทั้งหลาย

สาระสังเขปจากพระสุตตันตปิฎก

ในพระสุตตันตปิฎก มีเรื่องราวมากมายที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนแก่พุทธบริษัทไว้  มีเรื่องเหล่านี้

1. คุณสมบัติของมิตรที่ดี     ซึ่งมีปรากฎในพระสูตร อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต, เล่มที่ 20     และสัตตกนิบาต  เล่มที่ 23

           มิตรที่ควรคบนั้น  พระพุทธเจ้าตรัสว่า  ต้องประกอบด้วยคุณสมบัติ  7  ประการ  คือ

1.  ให้สิ่งที่ให้ได้ยาก  (ของที่ตนรัก)

2.  ทำสิ่งที่ทำได้ยาก  ( ช่วยเพื่อนเวลามีความทุกข์)

3.  อดทนสิ่งที่ทนได้ยาก  (ต่อคำหยาบคายหรือความพลั้งเผลอของเพื่อน)

4.  บอกความลับของตนแก่เพื่อน

5.  ปิดบังความลับของเพื่อนมิให้แพร่งพราย

6.  เมื่อเพื่อนประสบความวิบัติหรืออันตรายไม่ละทิ้ง

7.  เมื่อเพื่อนสิ้นโภคทรัพย์ไม่ดูหมิ่น

            2.    ผู้ปฏิบัติผิดในบุคคล  4  จำพวก  จัดเป็นคนพาล   ซึ่งมีปรากฏในพระสูตร  อังคุตตรนิกาย  จตุกกนิบาต เล่มที่  21  ได้แก่

                             1.   ปฏิบัติผิดในมารดา  เช่น  มิตตวินทุกะกุมาร

2.  ปฏิบัติผิดในบิดา  เช่น  พระเจ้าอชาตศัตรู

3.  ปฏิบัติผิดในพระพุทธเจ้า เช่น  พระเทวทัต พระเจ้าสุปปพุทธะ นางจิญจมาณวิกา

4.  ปฏิบัติผิดในพระสาวกสาวิกาของพระพุทธเจ้า  เช่น พระโกกาลิกะ  นันทมาณพ

เรื่องน่ารู้จากพระไตรปิฎก

จูฬกัมมวิภังคสูตร  ว่าด้วยกรรมของสรรพสัตว์จากอดีตชาติที่ส่งผลมาถึงปัจจุบัน เรื่องน่ารู้นี้ปรากฏอยู่ในวิภังคสูตรข้อที่ 35   พระสุตตันตปิฎก  มัชฌิมนิกาย พระไตรปิฎกเล่มที่ 14  อุปริปัณณาสก์ มีใจความสรุปว่า

พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เชตวนาราม.  ทรงตอบคำถามของ  สุภมาณพ บุตรแห่งโตเทยยพราหมณ์เกี่ยวกับผลร้ายผลดี ต่าง ๆ 7 คู่ ว่าเนื่องมาจากกรรมคือการกระทำของสัตว์ คือ

1.     มีอายุน้อยเพราะฆ่าสัตว์  มีอายุยืนเพราะไม่ฆ่าสัตว์

2.     มีโรคมาก  เพราะเบียดเบียนสัตว์  มีโรคน้อย  เพราะไม่เบียดเบียนสัตว์

3.     มีผิวพรรณทราม  เพราะขี้โกรธ   มีผิวพรรณดี  เพราะไม่ขี้โกรธ

4.     มีศักดาน้อย  เพราะมักริษยา  มีศักดามาก  เพราะไม่มักริษยา

5.     มีโภคทรัพย์น้อย  เพราะไม่ให้ทาน  มีโภคทรัพย์มาก  เพราะให้ทาน

6.     เกิดในตระกูลต่ำ  เพราะกระด้างถือตัวไม่อ่อนน้อม  เกิดในตระกูลสูงเพราะไม่กระด้างถือตัว  แต่รู้จักอ่อนน้อม

7.     มีปัญญาทราม  เพราะไม่เข้าไปหาสมณพราหมณ์ ไต่ถามเรื่อง กุศล อกุศล เป็นต้น มีปัญญาดี  เพราะเข้าไปหาสมณพราหมณ์  ไต่ถามเรื่องกุศล อกุศล เป็นต้น.

ดูกรมาณพ  สัตว์ทั้งหลาย  มีกรรมเป็นของตน  เป็นทายาทแห่งกรรม  มีกรรมเป็นกำเนิด  มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์  มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย  กรรมย่อมจำแนกสัตว์ให้เลวและประณีต  ฯ

สุภมาณพ  บุตรโตเทยยพราหมณ์  กราบทูลสรรเสริญพระธรรมเทศนา  แสดงตนเป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต.

เห็นว่าบทความนี้มีประโยชน์ โปรดแชร์....