พระพุทธศาสนาในประเทศไทยตั้งแต่สมัยสุโขทัยจนถึงปัจจุบัน

      ปิดความเห็น บน พระพุทธศาสนาในประเทศไทยตั้งแต่สมัยสุโขทัยจนถึงปัจจุบัน

   สำหรับในประเทศไทย พระพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์นี้คือแบบที่นับถือกันมาเป็นศาสนาประจำชาติจนปัจจุบันซึ่งสามารถแยกย่อยเป็นสมัยต่าง ๆดังนี้

   1. สมัยอาณาจักรสุโขทัย
   พระพุทธศาสนานิกายเถรวาทแบบลังกาวงศ์เฟื่องฟูมากในเมืองนครศรีธรรมราช จนเมื่อ พ.ศ.1820 นครศรีธรรมราชมีวัตรปฏิบัติเคร่งครัดในพระธรรมวินัยน่าเคารพเลื่อมใส จึงโปรดเกล้าฯ ให้นิมนต์ สมเด็จพระมหาเถรสังฆราชจากนครศรีธรรมราชขึ้นมาเทศนาสั่งสอนประชาชนในกรุงสุโขทัย ปรากฎว่าพระพุทธศานานิกายเถรวาทแบบลังกาวงศ์นี้เป็นที่เคารพนับถือของชาวไทยสมัยสุโขทัยเป็นอย่างยิ่ง และลัทธิมหายานก็ได้เสื่อมสูญไป มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่แสดงถึงการนับถือมากมาย เช่น อาทิ วัดมหาธาตุ วัดศรีชุม ตลอดจนวรรณคดีพระพุทธศาสนาที่สำคัญมากของไทยเรื่องเตภูมิกถาหรือไตรภูมิพระร่วงก็กำเนิดขึ้นในสมัยนี้โดยเป็นบทพระราชนิพนธ์ของพระเจ้าลิไท กษัตริย์ของสุโขทัยรัชกาลที่ 6

   2. สมัยอาณาจักรล้านนา
      เมื่อ พ.ศ. 1913  พระเจ้ากือนาได้ส่งพระราชฑูตมาอาราธนา พระสังฆราชสุมนเถระจากพระเจ้าลิไทไปยังล้านนา ได้มีการสังคายนาครั้งที่ 8 ขึ้นในสมัยพระเจ้าติโลกราช มีหลักฐานประวัติศาสตร์ เช่น วัดเชียงมั่น ,วัดพระธาตุดอยสุเทพ, และเกิดวรรณคดีทางพระพุทธศาสนา อาทิ มังคลัตถทีปนี เป็นต้น

    3.   สมัยอาณาจักรอยุธยา
    อาณาจักรอยุธยาได้รับอิทธิพลการนับถือพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทแบบลังกาวงศ์มาจากอาณาจักรสุโขทัย  พระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาเป็นอย่างดี เช่น 
   สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ  ทรงสละราชสมบัติออกผนวช เป็นเวลา 8 เดือน  โปรดให้ประชุมกวีแต่งหนังสือมหาชาติคำหลวง  โปรดให้สร้างวัดพระศรีสรรเพชญ์ขึ้นในพระบรมมหาราชวัง ฯลฯ 
   พระเจ้าทรงธรรม  ทรงศึกษาพระปริยัติธรรมมาตั้งแต่ยังทรงผนวช  โปรดให้สร้างมณฑปครอบพระพุทธบาทที่สระบุรี  โปรดให้ราชบัณฑิตแต่งกาพย์มหาชาติ ฯลฯ 
   สมเด็จพระนารายณ์มหาราช  พระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์แก่ผู้บวชเรียนเป็นอย่างดีไม่ต้องรับราชการ เป็นเหตุให้มีคนหลบเลี่ยงราชการไปบวชกันมาก  จนต้องมีการทดสอบความรู้ และผู้ปลอมบวชถูกบังคับให้ลาสิกขาเป็นจำนวนมาก 
   พระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์ ทรงส่งเสริมการอุปสมบท  ผู้ที่จะเป็นขุนนางได้ต้องวเป็นผู้บวชมาแล้ว  เจ้านายในพระราชวังก็ผนวชทุกพระองค์  ในรัชกาลนี้ มีวรรณคดีทางพระพุทธศาสนาหลายเรื่อง เช่น  นันโทปนันทสูตรคำหลวง  พระมาลัยคำหลวง  ปุณโณวาทคำฉันท์ ฯลฯ
    เมื่อ พ.ศ. 2296  พระพุทธศาสนาในประเทศลังกาเสื่อมลงเกือบสิ้นสมณวงศ์  พระเจ้ากีรติสิริราชสิงห์แห่งลังกาได้ส่งคณะทูตมายังกรุงศรีอยุธยา  ขอพระสงฆ์ไทยไปทำการอุปสมบทแก่ชาวลังกา  พระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์จึงได้ทรงส่งพระอุบาลีกับพระอริยมุนี  พร้อมด้วยคณะสงฆ์อีก 15  รูป  เดินทางไปยังลังกา  คณะสงฆ์ไทยได้อุปสมบทกุลบุตรชาวลังกาจำนวนมาก  และช่วยกันวางรากฐานพระพุทธศาสนาในลังกาจนมั่นคงเป็นปึกแผ่น  ต่อมาเกิดเป็นนิกายที่เรียกว่า  อุบาลีวงศ์  หรือ สยามวงศ์  ขึ้นในลังการสืบมาจนทุกวันนี้

   4.  สมัยธนบุรี
   หลังจากสถาปนากรุงธนบุรีแล้ว  สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้ทรงฟื้นฟูพระพุทธศาสนา  ซึ่งเสื่อมโทรมไปเพราะสงครามคราวเสียกรุงครั้งที่ 2  ให้แก่พม่า  โดยทรงรับสั่งให้สืบหาพระสงฆ์ที่ทรงคุณธรรมจากทั่งทุกแห่งให้มาประชุมกัน  ที่วัดบางหว้าใหญ่  เพื่อคัดเลือกพระสงฆ์ที่มีคุณสมบัติขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช  ซึ่งในที่ประชุมได้พร้อมใจกันเลือกพระอาจารย์ศรี  วัดประดู่  แห่งกรุงศรีอยุธยาเป็นสมเด็จพระสังฆราช  รับผิดชอบในการฟื้นฟูบูรณะพระพุทธศาสนา  ตั้งแต่นั้นมาพระพุทธศาสนาก็กลับฟื้นคืนสู่ความรุ่งเรืองดังเดิม

   5. สมัยรัตนโกสินทร์
   สมัยรัตนโกสินทร์  พระพุทธศาสนาที่คนไทยนับถือก็ยังคงเป็นนิกายเถรวาทแบบลังกาวงศ์ เช่นเดียวกับสมัยอยุธยาและธนบุรี  พระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ก็ทรงเป็นพุทธมามกะและทรงเป็นองค์อัครศาสนูปถัมภ็พระพุทธศาสนาด้วยดีมาโดยตลอด ดังเช่น
    รัชกาลที่ 1  พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช  หลังจากทรงใหย้ายราชธานีจากกรุงธนบุรีมาที่กรุงเทพมหานครแล้วก็ทรงเริ่มทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา เช่น  โปรดให้สร้างวัดพระศรีรัตนศาสดารามเป็นวัดในพระบรมมหาราชวัง  ทรงประกาศใช้กฎหมายคณะสงฆ์  ทรงให้ทำสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่  9  แห่งพระพุทธศาสนา  ณ  วัดพระศรีสรรเพชญ์ (วัดพระมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ในปัจจุบัน)  เป็นต้น
    รัชกาลที่ 3  พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  โปรดให้สร้างและปฏิสังขรณ์วัดต่าง ๆ มากที่สุด  รวมทั้งสิ้น  53   วัด  ทรงให้ชำระพระไตรปิฎก  ทรงทรงสมณทูตไปลังกา  2 ครั้ง  และในรัชกาลนี้ได้เกิดคณะสงฆ์ใหม่ขึ้นเรียกว่า  คณะธรรมยุต  ต่อมาเรียกว่า  ธรรมยุติกนิกาย
    รัชกาลที่ 5  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  โปรดให้ชำระพระไตรปิฎก  และพิมพ์พระไตรปิฎกด้วยอักษรไทยเป็นครั้งแรก  ทรงสถาปนาสถาบันการศึกษาของคณะสงฆ์ไทย  2  แห่ง  คือ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และมหามกุฎราชวิทยาลัย  โปรดให้ตราพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ร. ศ.  121  นอกจากนี้ยังทรงให้สร้างวัดราชบพิตรสถิตมหาสีมาราม  เป็นต้น
    รัชกาลที่ 7  พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  โปรดให้จัดพิมพ์พระไตรปิฎกเป็นเล่ม  จำนวน  45  เล่ม  เรียกว่า  พระไตรปิฎกสยามรัฐ  นอกจากนี้ยังโปรดให้มีการแต่งหนังสือสอนพระพุทธศาสนาสำหรับเด็ก  และแจกจ่ายในงานพระราชพิธีวิสาขบูชาเป็นประจำทุกปี
    รัชกาลที่ 9  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช  ทรงปฏิบัติภารกิจเกี่ยวกับศาสนาและทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาในด้านต่าง ๆ เป็นอย่างดียิ่ง  เช่น  ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ  ทรงให้มีการสังคายนาพระไตรปิฎก  ทรงให้ประกาศวันอาสาฬหบูชา  เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา  ทรงให้มีการสร้างพุทธมณฑล  เนื่องในโอกาสฉลอง  25 พุทธศตวรรษ  ที่จังหวัดจนครปฐม เป็นต้น

เห็นว่าบทความนี้มีประโยชน์ โปรดแชร์....